กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ในส่วนภูมิภาค โดยกระจายอำนาจในการตัดสินใจไปยังโรงเรียนเหล่านั้น มุ่งหวังให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการตัดสินใจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับผู้เรียนในทุกระดับ นโยบายนี้จึงเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัด
โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดขึ้นเนื่องจากการประกาศ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในเดือนเมษายน ๒๕๖๒ เป็นโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่จะปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัด โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการนำร่องใน ๖ จังหวัด คือ จังหวัดสตูล จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีการศึกษา ๒๕๖๒
สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการในโรงเรียน ๒๕ แห่ง ในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในพื้นที่การพัฒนาภาคตะวันออก (EEC) โดยได้เริ่มดำเนินการ “การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ก่อนการประกาศ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การเปลี่ยนแปลง ๗ ประการในโรงเรียน
หัวใจสำคัญ “การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ” ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ วิธีการคิด ทัศนะ (มุมมอง) และวัฒนธรรมเชิงวิชาการในการบริหารจัดการโรงเรียน ผ่านการฝึกอบรมในการสะท้อนความคิดในหลายๆ รูปแบบ ได้แก่ โรงเรียนต้นแบบ การสร้างทีมงาน ทีมโค้ช เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ๗ ประการในโรงเรียน ประกอบด้วย
- การกำหนด School Concept เพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของโรงเรียน
- ผู้อำนวยการโรงเรียน เปลี่ยนบทบาทจากผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษาและงานวิชาการของโรงเรียน
- ครู เปลี่ยนจากครูผู้สอน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้
- บริเวณที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้
- หลักสูตร ปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรธรรมดาเป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะและเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบปิดไปสู่การเรียนรู้แบบเปิด
- การสอน เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความรู้และการเรียนแบบใฝ่รู้ (Active learning)
- การวัดผลระหว่างเรียน เปลี่ยนจากการประเมินผลแบบปกติไปสู่การประเมินผลตามสมรรถนะ และการปรับปรุง/การพัฒนาผู้เรียน
ผลการดำเนินงาน (ในระหว่างดำเนินการ)
การดำเนินโครงการ “การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ” กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ข้อค้นพบในเบื้องต้น พบว่า ในระดับชั้นเรียน มีการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของครู รวมทั้งมีการจัดการเรียนรู้แบบใฝ่รู้เพิ่มขึ้น ในระดับโรงเรียน พบว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และสามารถทำงานร่วมกับคณะครูในการออกแบบ/กำหนดทิศทางของโรงเรียน โดยเน้นที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน
ตัวอย่างการสะท้อนความคิด (Reflections) ของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้
“ครู ระบุว่า การเรียนรู้แบบใฝ่รู้ในชั้นเรียนได้ช่วยพัฒนานักเรียนให้กล้าแสดงความคิดเห็น และร่วมอภิปรายกับเพื่อนๆ ครูมีความภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนที่สนองความต้องการของนักเรียน รวมทั้งการพัฒนานักเรียนในการเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ”
“ผู้อำนวยการโรงเรียน ระบุว่า ผู้อำนวยการได้เปลี่ยนแปลงบทบาทเป็น “ครูของครู” ในการทำงานร่วมกับครู ผู้อำนวยการได้มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสนับสนุนการบริหารการจัดการโดยเฉพาะเรื่อง After-Action-Review (AAR) และ Classroom Reflection to change (CRC) ผ่านทาง online และ internet โดยนักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสภาพแวดล้อมนอกชั้นเรียน ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองเต็มตามศักยภาพ มีการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน
การดำเนินการโครงการดังกล่าว จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาระบบการศึกษาในจังหวัดระยอง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพนักเรียนสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21