การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม

การจัดการเรียนรู้ที่สถาบันอาศรมศิลป์ ใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม  (Holistic Learning)  ประกอบด้วยหลักการ 3H ได้แก่
Heart การพัฒนาคุณค่าภายใน  (core value)
Head การพัฒนาความรู้ที่จำเป็น (core knowledge)  
Hand การพัฒนาทักษะที่สำคัญ (core skill)
เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ที่เข้าถึงวิชาการและวิชาชีวิต 

สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

การพัฒนาคุณค่าภายใน (Core Value) ของความเป็นครู
เพื่อให้ไปถึงความเป็นครูผู้มีหัวใจและมีจิตวิญญาณความเป็นครู คือ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ที่มุ่งพัฒนาศิษย์ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเมตตา กรุณา สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้และสร้างสรรค์ปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง

การพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับครู (Core Knowledge)
เพื่อให้เป็นครูผู้มีความรู้และเชาว์ปัญญา กล่าวคือ มีความรอบรู้ทั้งในศาสตร์พื้นฐาน และความรอบรู้เชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะของตน อย่างเท่าทันกระแสการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

การพัฒนาทักษะความเป็นครู (Core Skill) และทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
เพื่อให้เป็นครูผู้มีทักษะและเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้ศาสตร์แห่งการเรียนสอน (pedagogy) ไปสู่การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน กล่าวคือ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานในหมวด HEAD สู่การปฏิบัติการในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิผล ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีฉันทะต่อการเรียนรู้และบรรลุผลการเรียนทั้ง 3 มิติ คือ ความรู้  ทักษะการเรียนรู้ และคุณค่าแห่งการเรียนรู้นั้นๆ และมีสมรรถนะของพลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างภาคภูมิใจ

สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์

การพัฒนาคุณค่าภายใน (Core Value) ของสถาปนิก ให้สมกับความหมายที่แท้ของสถาปนิก
ซึ่งหมายถึง ผู้สถาปนา หรือผู้สร้าง หมายถึงผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์ ด้วยความเข้าใจในวิถีแห่งการดำรงอยู่ร่วมกันของธรรมชาติและสรรพสิ่ง เป็นผู้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับสถาปนิก (Core Knowledge)
เพื่อให้เป็นสถาปนิกผู้มีศักยภาพพร้อมสำหรับการเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ โดยมีทั้งความรู้ในการออกแบบทางกายภาพและความรู้ในการวิเคราะห์ชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ การมีสายตามองเห็นระบความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันนี้ จะทำให้สถาปนิกมีบทบาทในทางหนุนเสริม หรือวางแผนจัดระบบดังกล่าวให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้

การพัฒนาทักษะความเป็นสถาปนิก (Core Skill)
ในการเป็นนักออกแบบที่มีความสามารถเชิงการจัดการความรู้จากกลุ่มคนต่างวิถี วัฒนธรรม การเผชิญปัญหาและการใช้ความรู้ด้านการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือและประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาทักษะเหล่านี้จะนำไปสู่การเป็นสถาปนิกที่เข้าใจตนเอง และใช้ความรู้ความสามารถของตนรับใช้ผู้คนและสังคมอย่างมีคุณค่าที่แท้จริง

สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ผู้ประกอบการสังคม)

การพัฒนาคุณค่าภายใน (Core Value)
เสริมสร้างศักยภาพให้คนในชุมชน ผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครทางสังคม พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการสังคม ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินชีวิตตามหลักแห่งมงคลธรรม มีคุณธรรม จริยธรรม จิตอาสา รวมทั้งมีสำนึกรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นและสำนึกความเป็นพลเมืองโลก

การพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการสังคม (Core Knowledge)
คือ การประกอบกิจการที่พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญ ต่อการสร้างสรรค์ผลิตผล ผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ พร้อมทั้งมีความรอบรู้ในการวิเคราะห์ชุมชนท้องถิ่น สังคม และระบบโลกาภิวัตน์ ที่นำไปสู่ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสภาวะวิกฤติโลก รวมทั้งเสริมสร้างพลังของชุมชนในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประเทศ

การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการสังคม (Core Skill)
ทักษะจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนทักษะในการพัฒนาองค์กรชุมชน กลุ่ม และภาคีเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยทำให้เกิดทั้งคุณค่าและมูลค่าต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน