โครงการ หลักสูตรการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะชุมชน

Community Wellness Development Project

โครงการหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะชุมชน เริ่มต้นในปี ๒๕๕๙ เป็นการดำเนินการของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากประสบการณ์การทำงานของสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรม ที่ใช้กระบวนการออกแบบกายภาพเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ได้พัฒนามาเป็น “หลักสูตรเพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่สุขภาวะในชุมชน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ จากปัญหาและสถานการณ์จริงในชุมชน” ซึ่งหากนำไปปรับใช้กับชุมชนอื่น จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนในด้านอื่น ๆ บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ของชุมชนต่อไป

องค์ประกอบของการทำงาน ประกอบด้วย

องค์ประกอบของหลักสูตรเพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่สุขภาวะในชุมชน
โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ จากปัญหาและสถานการณ์จริงในชุมชน มี ๒ ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ ๑ หลักสูตรการสำรวจชุมชน

เพื่อให้ผู้เข้าอบรมรู้จักถิ่นฐานชุมชนของตนเองในมิติต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีทักษะในการสำรวจชุมชนด้วยการใช้เครื่องมือแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้แผนที่ในการบันทึกข้อมูล การใช้แบบสอบถามการพูดคุย ตั้งคำถาม สนทนาวิสาสะ เป็นต้น รวมถึงเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของผู้เข้าอบรม ให้มองชุมชนในมุมใหม่ เข้าใจชุมชนมากขึ้นด้วยข้อมูลที่มีอยู่ ไปจนถึงสามารถวิเคราะห์เพื่อมองเห็นศักยภาพ ปัญหา และโอกาสในการพัฒนาชุมชนได้ ประกอบไปด้วยเนื้อหาการอบรม ๓ เรื่อง คือ

๑. แผนที่คนดี : เครื่องมือแรกของการสำรวจชุมชน เพื่อสำรวจคุณค่า ศักยภาพของคนในชุมชน

๒. แผนที่กายภาพ : เครื่องมือการทำแผนที่ เพื่อใช้สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมในชุมชน

๓. แผนที่สังคมและสุขภาวะ : เครื่องมือสำหรับการสำรวจวิถีชีวิตและปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะชุมชน

ส่วนที่ ๒ หลักสูตรการวางเป้าหมายและแผนการพัฒนาชุมชน

เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดของชุมชนที่ได้จากการสำรวจ รวมถึงผลการวิเคราะห์ชุมชน มาวางเป้าหมายในการพัฒนาชุมชน และร่วมกันวางแผนพัฒนาชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ผลการดำเนินงานและโอกาสในการขยายผล

ที่ผ่านมาทางโครงการได้จัดการอบรมกับ ๒๓ ชุมชน และ ๒ โรงเรียน จำนวน ๒๕๐ คน ใน ๗ จังหวัด ซึ่งช่วยให้ชุมชนเกิดทีมทำงานพัฒนาชุมชน ได้ฝึกทักษะในการสำรวจ ซึ่งเมื่อได้เริ่มกระบวนการวางแผนและดำเนินการแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจว่าชุมชนมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองและสภาพแวดล้อมให้สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน และสามารถขยายประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนวงกว้างได้

จากกระบวนการสำรวจชุมชนและการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การสำรวจ แสดงความคิดเห็น และร่วมลงมือทำ ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่มาจากความต้องการและตอบโจทย์ของชุมชนในหลายมิติ เช่น เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อม อาชีพ สร้างทีมจิตอาสา และการจัดการขยะ เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการฯ ยังเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น การเคหะแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ท้องที่ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้แผนการพัฒนาชุมชนที่วางแผนไว้ ได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการลุกขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนร่วมกันในระยะยาว