เปลี่ยนโรงเรียนให้ทันโลก ด้วยการพัฒนาทั้งระบบ

“โลกเปลี่ยนแล้ว ถ้าเรายังยึดโยงอยู่กับวิธีการเดิม ประเทศไทยเราจะยืนอยู่ตรงไหน เราต้องออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่  ผู้บริหารโรงเรียนต้องเปลี่ยน mindset ตรงนี้  และกล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของตนเอง โดยเฉพาะการออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของเรา เพราะไม่มีใครรู้จักโรงเรียนได้ดีเท่ากับผู้อำนวยการและครูที่อยู่ในโรงเรียนเอง”

เสถียร พันธุ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง จังหวัดศรีสะเกษ  ตัวแทนจากห้องประชุมย่อย การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Transform) นำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการระดมความคิดเพื่อสร้างภาพใหม่การศึกษาไทย ในงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2019

ห้องประชุมย่อย ในหัวข้อ การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ  นำกระบวนการโดย รศ. ประภาภัทร นิยม และคณาจารย์จากสถาบันอาศรมศิลป์ และครูโรงเรียนรุ่งอรุณ  ซึ่งร่วมเป็นองค์กรเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP : Thailand Education Partnership) ที่จัดประชุมวิชาการ TEP Forum ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

รศ. ประภาภัทร นิยม  ได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบหรือ Whole School Transform  ซึ่งมี 7 สิ่งที่โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยน คือ 

1.โรงเรียนมีSchool Concept ใหม่ 
2. ผู้อำนวยการเป็นครูของครู 
3. ครูเป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ 
4. ห้องเรียนที่ยืดหยุ่นหลากหลาย
5. หลักสูตรฐานสมรรถนะ
6. แนวทางการสอนแบบ Active Learning  และ
7. การวัดประเมินผลแบบ 360 องศา

ซึ่งเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนในอนาคต คือต้องเชื่อว่ามนุษย์เป็นเสขบุคคล (เส-ขะ-บุค-คล) เป็นผู้ที่ยังต้องศึกษาสามารถฝีกฝนได้ มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ไม่มีขีดจำกัด ตั้งแต่เกิดจนตาย การศึกษาเป็นบทฝึก พัฒนาตนเองให้เกื้อกูล ทำให้ทุกคนมีคุณค่าและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น

เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน อาชีพแปรเปลี่ยน การศึกษาจึงต้องเปลี่ยน ต้องตั้งรับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลให้เป็น เอาความรู้มาเชื่อมโยงเพื่อสร้างความรู้ใหม่ได้ เด็กต้องคิดวิเคราะห์ให้ทันกับกระแส เลือกข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีวิจารณญาณ การศึกษาต้องให้ผู้เรียนค้นพบตนเองได้จากสถานการณ์จริง ไม่ใช่แค่อยู่แต่ในตำราเรียน ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เมื่อคิดก็ลงมือทำในสิ่งที่ดีได้ทันที

คนรุ่นใหม่อาจคิดว่าคุณธรรมเป็นเรื่องล้าหลัง แต่จริง ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญในการบ่มเพาะชีวิตของเด็กให้มีวินัยแห่งตนเอง ดูแลตนเองได้ ตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ บ่มเพาะเด็กให้มี Growth Mindset ไม่ย่อท้อง่าย รู้จักอดทนและรอคอย ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเรียนรู้อย่างหลากหลาย อยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบได้ด้วยตนเอง กล้าแสดงออกและแสดงความคิดเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ในการลงมือทำและหาคำตอบ รู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ลุ่มหลงค้นพบตนเองว่าชอบอะไร และนำความรู้มาต่อยอดกับการใช้ชีวิตของตนเองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สังคม สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีความสุข  ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นว่าสิ่งที่โรงเรียนจะต้องทำ  และสิ่งที่จะต้องทำทันทีเมื่อแบ่งออกเป็น  7 ประเด็น  มีดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลง School Concept

โรงเรียนต้องมีการจัดการศึกษาแนวใหม่มีการบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ ให้เห็นคุณค่าและเชื่อมโยงทักษะชีวิตประจำวันของผู้เรียนเป็นฐาน

2. การเปลี่ยนผู้อำนวยการเป็น Super Coach หรือครูของครู

ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเปลี่ยน Mindset ของตนให้กล้าคิด กล้าเปลี่ยน กล้าทำ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารจะต้องปรับทัศนคติการทำงานใหม่ เป็นผู้นำอย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้นำทางวิชาการ ตัั้งเป้าหมายการทำงาน ร่วมเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนและร่วมกันทำงานไปพร้อมกับคณะคร สรุปผลที่เกิดขึ้นว่าบรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ถ้าไม่บรรลุจะพัฒนาอย่างไร และผลของการสอนให้มุ่งไปที่การพัฒนาผู้เรียน ซึ่งมาจากการวางแผนก่อนสอน (BAR: Before Action Reflection) จนมาถึงการสรุปผลหลังจากการสอนว่าบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้หรือไม่ (AAR: After Action Reflection)

สิ่งที่ผู้บริหารให้คำมั่นว่าจะทำทันที คือ  ผู้บริหารต้องเรียกบทบาทความเป็นครูคืนมา สร้างความตระหนักแห่งการเปลี่ยนแปลง พาครูไปเห็นตัวอย่างที่ดี ร่วมหาปัญหาจริงกับครู ไม่ใช่การสั่งการ ให้เกิดเป็นพันธะสัญญาใจ เพื่อหาทางแก้ปัญหา หาองค์ความรู้ ที่จะนำมาสร้างนโยบายในการแก้ปัญหาร่วมกัน ชื่นชมผลสำเร็จจากเรื่องเล็ก ๆ ขยายให้ใหญ่ไปเป็นกำลังใจให้ครูปฏิบัติการ   ผู้อำนวยการจะต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้ทำ เป็นผู้ชี้แนะสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบนการคิดและปรับพฤติกรรม ชื่นชมผลสำเร็จจากสิ่งเล็กๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ครู สร้างระบบพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้เพื่อให้เกิด  การเรียนรู้ของครู ในระดับโรงเรียน กลุ่มโรงเรียน ชุมชน และต่างประเทศ ใช้ความจริงใจให้ชุมชนเกิดการยอมรับ

3. การเปลี่ยนครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ Learning expert

ที่ประชุมให้ข้อสรุปว่า ครูจะต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนจากบอกสอนเป็น Active Learning ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและคิดด้วยตนเอง ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกสนับสนุนให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันครูต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา ศึกษานวัตกรรมได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจ concept ของการจัดการเรียนรู้ และนำมาใช้พัฒนาครูและส่งผลกับการเรียนรู้ของนักเรียน หลายครั้งครูนำนวัตกรรมมาใช้โดยไม่เข้าใจเป้าหมาย และผลที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน อธิบายไม่ได้ว่ากระบวนการสอนจะเกิดผลอย่างไรกับผู้เรียน

4. การปรับพื้นที่การเรียนรู้

สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในโรงเรียน (Learning Space) ใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ทัั้งระบบ (มองเรื่องใกล้ตัวให้เป็น) โดยต้องรู้เป้าหมาย นำมาจัดการเรียนการสอน

5. การปรับหลักสูตรให้เป็นฐานสมรรถนะ

ปรับโครงสร้างหลักสูตร ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและคิดด้วยตนเอง ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกสนับสนุนให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองจัดการศึกษาแนวใหม่ บูรณาการ 8 กลุ่มสาระ ให้เห็นคุณค่าเชื่อมโยงทักษะชีวิตประจำวันเป็นฐาน ด้วยโครงงานในแต่ละช่วงชั้นเพื่อให้เด็กได้ลงมือด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้เห็นสมรรถนะที่หลากหลายของผู้เรียน

6. การจัดการเรียนรู้ให้เป็น active learning

ครูและผู้บริหารต้องเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและคิดด้วยตนเอง ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก สนับสนุนให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน ครูต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา ศึกษานวัตกรรมได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจ concept ของการจัดการเรียนรู้ และนำมาใช้พัฒนาครูและส่งผลกับการเรียนรู้ของนักเรียน

7.การประเมินผลแบบ 360 องศา

ด้านการประเมินผลผู้เรียน ครูต้องมองเด็กเป็นรายบุคคล และมีมุมมองการประเมินที่ส่งเสริมเพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาสุดท้าย รศ. ประภาภัทรได้เชิญชวนให้โรงเรียนที่เข้าร่วมได้มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางและวิธีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 7 ด้านร่วมกัน พร้อมทั้งเป็นกำลังใจให้โรงเรียนกล้าเปลี่ยนทุกโรงเรียน ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการภายในโรงเรียนให้เป็นระบบบริหารการศึกษาที่แท้จริง

เครดิตภาพ : TEP