สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด เป็นอาคารที่มุ่งหวังสถาปนา “ความเป็นไทย” ขึ้นในรัฐอิสลามอย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานและอยู่อาศัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ ให้กับบุคลากรของสถานเอกอัครราชทูต ที่จำเป็นต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนอันห่างไกลและมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
ความเป็นมา
สถาปนิกได้รับการติดต่อจากกระทรวงต่างประเทศให้ดำเนินการออกแบบทำเนียบและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ในพื้นที่ซึ่งประเทศปากีสถานได้จัดสรรให้สถานทูตแต่ละประเทศได้มาอยู่ร่วมกัน เพื่อความสะดวกในการควบคุมรักษาความปลอดภัย โดยมีความต้องการในการใช้งานประกอบด้วย อาคารที่ทำการของสถานทูต ห้องประชุมต่างๆ สำหรับกิจกรรมของสถานทูตแล้ว รวมถึงส่วนที่พักอาศัย ได้แก่ ทำเนียบเอกอัครราชทูต บ้านพักอัครราชทูตผู้ช่วย บ้านพักเจ้าหน้าที่ทูตและครอบครัว สโมสรสำหรับส่วนพักอาศัย เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในระยะยาว และเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติงานในประเทศที่มีสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
การตั้งเป้าหมายเชิงคุณค่า
1. สถาปัตยกรรมที่นำเสนอ “พุทธธรรม” ภูมิปัญญาอันเป็นคุณค่าที่ภาคภูมิใจสูงสุดของชาติไทยอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและแยบคาย ด้วยบทบาทของสถานเอกอัครราชทูต ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาติในการปฏิสัมพันธ์กับมิตรประเทศ อีกทั้งประเทศปากีสถานเป็นที่ตั้งของเมืองตักศิลา เมืองมหาวิทยาลัยที่สำคัญในอดีตของพุทธศาสนา สถาปนิกจึงกำหนดเป้าหมายในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ ให้เป็นสถาปัตยกรรมที่นำเสนออัตลักษณ์ ภูมิปัญญา อันเป็นคุณค่าที่ภาคภูมิใจสูงสุดของชาติไทย คือพระพุทธศาสนา ท่ามกลางบริบทของรัฐอิสลามที่มีข้อห้ามในการแสดงออกทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและแยบคาย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สะท้อนถึงการมีความสัมพันธ์อันสูงสุดระหว่างเพื่อนมนุษย์ต่างวัฒนธรรม
2. สถาปัตยกรรมที่สืบสานภูมิปัญญาในการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย มาใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทของสถานที่ตั้ง สถาปนิกตั้งเป้าหมายให้สถาปัตยกรรมสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับบริบทภูมิประเทศ ภูมิอากาศของสถานที่ตั้ง เพื่อสื่อถึงโลกทัศน์ของความเป็นหนึ่งเดียว อ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติแวดล้อม อันเป็นหัวใจสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย
3. สถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือน “วัด” เป็นที่พักพิงอันปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศปากีสถาน ย่อมต้องส่งผลต่อสภาพจิตใจของบุคลากรภายในองค์กรที่ไม่สามารถเดินทางออกไปภายนอกได้สะดวกเนื่องจากความไม่ปลอดภัย สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้จึงต้องทำหน้าที่เป็นที่พักพิงที่ปลอดภัย นำมาซึ่งความมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณแก่บุคลากรทุกคน
แนวคิดและการตอบสนองต่อเป้าหมาย
1. ถอดรหัสรูปแบบการวางผังของตักศิลา กลุ่มอาคารทางพุทธศาสนาดั้งเดิมอายุกว่า 1500 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศปากีสถาน ที่มีลักษณะของการเน้นแนวแกนความสัมพันธ์ และการวางผังของพื้นที่ใช้งานปิดล้อมคอร์ทที่เป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่แต่ละส่วนอย่างชัดเจน มาใช้ในการออกแบบวางผัง เป็นเสมือนการสืบทอดและสถาปนาเมืองตักศิลาขึ้นใหม่ ในยุคสมัยปัจจุบัน
2. ถอดรหัสสัดส่วนและรูปทรงของหอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่มีความงดงามและสะท้อนถึงภูมิปัญญาของชาติไทยมาใช้ในรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของส่วน PAVILION บริเวณที่เป็นเสมือนหัวใจของสถานเอกอัครราชทูตระหว่างส่วนพักอาศัยและส่วนสำนักงาน ทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยนิทรรศการที่นำเสนอคุณค่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาแก่ผู้มาเยือน รวมถึงสร้างโอกาสในการศึกษาธรรมะแก่บุคลากรของสถานทูตที่จะต้องเดินผ่านในวิถีชีวิตประจำวัน
3. นำวิธีคิดในการอยู่ร่วมอย่างสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยมาใช้ โดยการถอดรหัสรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของปากีสถาน ที่มีลักษณะหนัก ทึบมีช่องเปิดน้อยปิดล้อมคอร์ทภายในอาคาร สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ และสร้างจากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของกรอบภายนอกอาคาร เพื่อป้องกันความร้อนและเอื้อให้เกิดการระบายอากาศแก่พื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร รวมถึงสร้างความกลมกลืนไม่แปลกแยกกับสภาพบริบทโดยรอบ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกรอบภาพที่สร้างมุมมองในการเข้าถึง PAVILION ไม่ให้เด่นชัดเพื่อลดทอนความสำคัญด้านสายตาสำหรับผู้ที่ผ่านไปมาจากถนนภายนอก ด้วยรูปแบบช่องเปิดที่มีความน่าสนใจเช่นเดียวกับซุ้มประตูของพระวิหารวัดศรีชุมอีกด้วย
4. ออกแบบวางผังให้มีคอร์ท คอร์ทน้ำ และพื้นที่สวนที่ร่มรื่นอยู่ภายใน เป็นเสมือน OASIS ที่สร้างสภาวะน่าสบายและความสดชื่นให้กับพื้นที่ใช้สอยทั้งในส่วนที่พักอาศัยและส่วนสำนักงานที่เรียงรายอยู่โดยรอบ
5. ถอดรหัสสัดส่วนและองค์ประกอบระเบียงคตของวัดไทยมาใช้เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมให้กับระเบียงทางเดินโดยรอบคอร์ทและพื้นที่สวน รวมถึงการติดตั้งผลงานทางศิลปะที่สื่อถึงพุทธประวัติและหลักธรรมในพุทธศาสนา เพื่อสร้างโอกาสและแรงจูงใจในการศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนาและส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ เสมือนการอยู่วัดให้กับบุคลากรในวิถีชีวิตประจำวันรวมถึงแขกผู้มาเยือน
6. ออกแบบให้ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ทั้งพื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อน และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ อย่างเพียงพอครบครัน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกายและใจ
7. ออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงลักษณะแดดจัดของประเทศปากีสถาน ให้เกิดแสงเงาที่สร้างมิติความน่าสนใจให้กับอาคารและส่งผลต่อความรู้สึกต่างๆของผู้ใช้อาคาร อาทิเช่น มุมมองในการเข้าถึง การเน้นแสง BACKLIGHT บริเวณคอร์ท เป็นต้น