ปลุกพลังเยาวชนสืบสานคุณค่าแท้ “เมืองเก่าสงขลา” สู่เมืองมรดกเรา มรดกโลก

สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สื่อสร้าง สรรค์เพื่อการพัฒนาเมือง” มุ่งสร้างเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบคุณค่า เพื่อสื่อสารความเป็นพลเมืองรักษ์สงขลาอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเด็ก เยาวชน และครูอาจารย์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา  และกลุ่มภาคีเครือข่ายพลังครูรักษ์สงขลา  โรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) เข้าร่วมโครงการกว่า 80 คน  โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในงานมอบรางวัลแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเลคอินน์ จังหวัดสงขลา

Previous
Next

ผู้ว่าฯ สงขลา หนุนพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเมือง

นายวีรนันทร์  เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวภายหลังการมอบเกียรติบัตรว่า 

“ผมเห็นว่า งานนี้ไม่ใช่เพียงสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเมือง  แต่เป็นสื่อสร้างสรรค์ประเทศ  ผมดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์​ 12​ ประการของเมืองสงขลา​ และเป้าหมายของการส่งเสริมให้สงขลาเป็น​เมืองแห่งความสุข​  เป็นงานเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันแล้ว เป็นไปได้จริง ง่ายกว่าทำเรื่องใหญ่ที่เป็นไปได้ยาก ผมเห็นว่าเราต่างเป็นพระเอกนางเอกที่จะขับเคลื่อน จึงจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันดึงพลังของคนรุ่นใหม่ออกมา นี่คือ พลังของคนหนุ่มสาว ที่ไม่ได้ตั้งบนผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ” 
นายวีรนันทร์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
นายวีรนันทร์  เพ็งจันทร์
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

งานนี้ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเต็มที่  โดยเฉพาะเทศบาลนครสงขลาที่มาร่วมงานตั้งแต่วันแรกของการอบรม โดย นางวิมลรัตน์  ตันติเศรณี  รองนายกเทศมนตรี กล่าวว่า“ สงขลาไม่ได้เป็นของใครแต่เป็นของเราทั้งหมด จะพัฒนาสงขลาให้ก้าวหน้าได้ ต้องรวมกันหลาย ๆ องค์กร หลาย ๆ กลุ่ม โดยเฉพาะน้องๆ เด็กรุ่นใหม่ วันนี้เราได้เห็นว่าเรามีสิ่งที่มีคุณค่ามาก  ในนามเทศบาลนครสงขลา รู้สึกตื่นใจกับกิจกรรมที่ควรทำเหล่านี้  เป็นการกระทำที่ให้ความสำคัญของเมือง ผ่านทั้งเกม ผ่านการผลิตสื่อสมัยใหม่ ขอฝากอนาคตเมืองสงขลาไว้กับน้องๆเยาวชน ฝากองค์ความรู้นี้ไว้กับท่านคณะอาจารย์ให้ช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป”

ปลุกพลัง บำรุงรักษารากแก้วของเมือง

อาจารย์อภิษฎา ทองสอาด ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพื่อรับใช้สังคม ในฐานะหัวหน้าโครงการในครั้งนี้ กล่าวว่า เราเชื่อว่าหากเยาวชนได้รู้จักและเห็นคุณค่าของเมือง จะทำให้การอยู่ในเมืองของเขามีความหมาย เกิดเป็นความรักและนำมาสู่การรักษาคุณค่าของเมือง จึงเป็นที่มาของการทำงานกับเยาวชน ผ่านสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน  เพื่อสานต่อการรักษารากแก้วของเมืองให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบคุณค่า เพื่อสื่อสารความเป็นพลเมืองรักษ์สงขลาอย่างสร้างสรรค์  ซึ่งถือเป็นโครงการด้านการศึกษา ภายใต้ชุดโครงการการเสริมสร้างพลังท้องถิ่น ด้านคุณค่า มูลค่า และการสืบสานมรดกวัฒนธรรม “เมืองเก่าสงขลา” ให้เข้มแข็งสู่การเป็นเมืองมรดกเราและเมืองมรดกโลก เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มีเป้าหมายที่จะขยายผลการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน และการปลูกฝังจิตสำนึกการเห็นคุณค่าและการสืบสานรักษามรดกวัฒนธรรมของเมืองเก่าสงขลาผ่านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ อันจะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้เท่าทันสื่อในยุคปัจจุบันและสามารถใช้สื่อสร้างการเรียนรู้ความรักความเข้าใจกันให้กับคนสงขลาอีกทางหนึ่งด้วย


Previous
Next

3 วันเต็ม กับกระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบคุณค่า

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมือง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2562 ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบคุณค่าแท้เพื่อการเข้าถึงชุมชน จับมือกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ในการผลิตสื่อ   ร่วมด้วยนักสร้างสรรค์สื่อมืออาชีพ และตัวแทนชุมชน ร่วมให้ข้อมูลความรู้และร่วมเป็นกรรมการตัดสินและให้คำแนะนำในการพัฒนาผลงานแก่เยาวชน

กระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบคุณค่า ดังกล่าว ประกอบด้วย การกระตุ้นความสนใจและให้แนวคิด ติดอาวุธทางปัญญา พาสร้างสรรค์สื่อในพื้นที่  และเปิดเวทีนำเสนอผลงาน   เริ่มต้นจาก การกระตุ้นความสนใจและให้แนวคิด โดยชวนให้เยาวชนทบทวนถึงบทบาทตนเองในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อการสร้างสรรค์เมืองสงขลาให้เข้มแข็ง จากนั้นอาจารย์อภิษฎา ทองสอาด  สถาบันอาศรมศิลป์ และ ดร. ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการโครงการการปฏิรูปการเรียนรู้ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม และผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ร่วมกันให้โจทย์กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อจัดทำสื่อสร้างสรรค์สะท้อนถึงคุณค่าแท้ของเมืองสงขลาใน 3 หัวข้อ  ได้แก่ ความดีงามของผู้คนในชุมชนเมืองเก่าสงขลา  อัตลักษณ์ความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมือง  และธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อด้วยการติดอาวุธทางปัญญา กับกิจกรรม “แผนที่คนดีและของดีในชุมชน” หรือ People and Cultural Mapping เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ชุมชน ด้วยการใช้สายตา หัวใจ และการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อค้นหามุมมองใหม่ที่ทุกคนล้วนมีแง่มุมของความเป็นคนดี และของดีที่มีอยู่ในชุมชน แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นภาพถ่ายและเรื่องเล่า 

กิจกรรมแผนที่คนดีและของดีในชุมชน
กิจกรรมแผนที่คนดีและของดีในชุมชน
กิจกรรมแผนที่คนดีและของดีในชุมชน
กิจกรรมแผนที่คนดีและของดีในชุมชน
Previous
Next

ก่อนเข้าสู่การลงมือสร้างสรรค์สื่อ  ซึ่งมีนักสร้างสรรค์สื่อมืออาชีพร่วมถ่ายทอดเทคนิควิธีการตามฐานการเรียนรู้ใน 4 ฐาน ได้แก่  ฐานการทำบอร์ดเกม โดยคุณวรุฒม์ นิมิตยนต์ และน้องแดนไท สุขกำเนิด นักสร้างบอร์ดเกมคนรุ่นใหม่จาก De-schooling Game  ฐานการทำคลิปวิดิโอด้วยโทรศัพท์มือถือ (MOJO : Mobile Journalism)  โดยคุณกุลพัฒน์  จันทร์ไกรลาศ  คุณสืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า  ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ ฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองเก่า โดยอาจารย์ชัยวัฒนพัฒน์ เลาหสัตย์  และฐานการเรียนรู้ให้เข้าถึงชุมชน โดยทีมงานจากสถาบันอาศรมศิลป์  ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา ทั้งชุมชนเมืองเก่า บ้านบน และชุมชนเก้าห้อง ถนนหนองจิก นางงาม และสุดท้ายเป็นการเปิดเวทีนำเสนอผลงาน พร้อมรับฟังจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิ และนำเสนอผลงานสื่อต่อชุมชน  

ฐานการทำบอร์ดเกม
ฐานการทำบอร์ดเกม
ฐานการทำคลิปวิดิโอด้วยโทรศัพท์มือถือ
(MOJO : Mobile Journalism)
ฐานการทำคลิปวิดิโอด้วยโทรศัพท์มือถือ
(MOJO : Mobile Journalism)
ฐานการทำคลิปวิดิโอด้วยโทรศัพท์มือถือ
(MOJO : Mobile Journalism)
ฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองเก่า
ฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองเก่า
Previous
Next

ดร. ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการโครงการการปฏิรูปการเรียนรู้ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมและผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อในฐานะที่เป็นโรงเรียนของสังคม จึงได้สนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ของเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตลอดมา การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ที่เมืองเก่าสงขลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เราเล็งเห็นว่าการสร้างสรรค์สื่อโดยคนรุ่นใหม่ จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเมือง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ต่อไปได้”
ดร. ดนัย หวังบุญชัย
ดร. ดนัย หวังบุญชัย

ผลงานเป็นที่ประทับใจ สะท้อนคุณค่าสงขลาเมืองเก่า

ผลงานสื่อสร้างสรรค์จากกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย วิดีโอคลิป ความยาว 3-5 นาที ผู้ได้รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมได้แก่​ เรื่อง​ 10 อันดับที่น่าสนใจ​ โดยทีม​ ​ MoJo ​ม.ทักฯ ส่วนรางวัลเกียรติยศ​ ​ได้แก่​ เรื่อง​ ​คุณค่าความดีของคนดีชุมชนมัสยิดบ้านบน  โดยทีมภาคีครูรักษ์สงขลา​ นอกจากนั้น ยังมีผลงานที่น่าสนใจ​ คือ​ ​เรื่องภาพเก่าเล่าความทรงจำ​ที่สะท้อนอัตลักษณ์​พหุวัฒนธรรม  โดยทีม​มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา​ และเรื่อง​สามความต่างรวมเป็นหนึ่ง  จากทีมพหุยืนหนึ่ง ​โรงเรียนเทศบาล​5 (วัดหัวป้อมนอก)​   ส่วนบอร์ดเกม​ ทีมที่ได้รับรางวัล​ popular vote ได้แก่ ​เกมเที่ยวไม่หยุดฉุดไม่อยู่​ จากทีม​ไกด์เมืองเก่า​ ​มหาวิทยาลัยทักษิณ  และรางวัลผลงานดีเด่น​ ได้แก่ เกม​ใครไม่ทำ​…พหุวัฒน..ธรรม​ จากทีมโรงเรียนมหาวชิราวุธ​ นอกจากนั้น ยังมีเกมสร้างสรรค์เมนู​ย่อยาง​ โดยทีมภาคีครูรักษ์สงขลา​  ทุกเกมได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไม่แพ้กัน​ และซึ่งทุกเกมสามารถพัฒนาเป็นเกมการเรียนรู้ท่องเที่ยวเมืองสงขลาในระยะต่อไปได้   ในส่วนของผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์​เพื่อเมืองเก่า​  โดดเด่นทั้ง 3 ทีม ไม่ว่าจะเป็น ทีมจาก​มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ออกแบบชุดของที่ระลึก​ เสื้อ ​หมวก ​เข็มกลัด ​กระเป๋า​ โดยนำลวดลายอัตลักษณ์ของสงขลามาใช้   ทีมออกแบบพวกกุญแจและที่ติดตู้เย็น  ด้วยแนวคิดกระเบื้องและลวดลายโบราณของสงขลา​ และทีมออกแบบแพคเกจถุงผ้ากระสอบใส่ขนมที่ระลึกของสงขลา

Previous
Next
อาจารย์อภิษฎา ทองสอาด
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันอาศรมศิลป์
“ติดตามชมผลงานสื่อสร้างสรรค์ของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้ในช่องทางเพจสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม และทีวีชุมชนเร็วๆ นี้ เราหวังว่าการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และเข้าถึงคุณค่าวิถีชีวิตชุมชนสู่การผลิตสื่อในครั้งนี้  จะทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นรากแก้วของเมืองสงขลา ได้รู้จักและเกิดความรักความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเก่าสงขลา จนเกิดพลังร่วมกันสืบสานสมบัติของบรรพบุรุษต่อไปในอนาคต  อันจะรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเมืองและชีวิตของคนสงขลาอย่างสร้างสรรค์ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”