เรียนรู้ความเป็น “ครูองค์รวม” ที่อาศรมศิลป์

เป็นที่น่ายินดีที่ “ครู”  ยังคงเป็นอาชีพในฝัน เป็นเป้าหมายของชีวิตคนรุ่นใหม่อีกหลาย ๆ คน แม้บางคน อาจไม่ได้เรียนสาขาศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์มาโดยตรง ความฝันอาจซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ไกลเกินที่จะไปถึง  สิ่งสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ความฝันนั้นเป็นความจริง ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเช่นทุกวันนี้

ช่วงเวลาแห่งการรับสมัครนักศึกษาของทุกปี  เรามักได้รับคำถามว่า  สาขาศึกษาศาสตร์  สถาบันอาศรมศิลป์สอนอะไร   แท้จริงแล้ว “ความเป็นครูองค์รวม” นั้นคือแบบไหน  เป็นสิ่งเดียวกับที่แม่พิมพ์รุ่นใหม่ของชาติใฝ่ฝันไว้หรือไม่  บทสัมภาษณ์อาจารย์ ดร.จันทนา จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู  สถาบันอาศรมศิลป์   และลูกศิษย์ คุณครูนัท นันทกานต์ อัศวะตั้งตระกูลดี   มหาบัณฑิตหมาดๆ จากหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษาแบบองค์รวม   และบัณฑิตจากหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู น่าจะมีคำตอบที่ทำให้คุณเห็นภาพ “ความเป็นครูองค์รวม” ที่อาศรมศิลป์ ได้ชัดเจนขึ้น

คุณครูนัท เธอเริ่มต้นวิชาชีพครู จากการที่ไม่ได้เรียนจบมาด้านการศึกษา และเพื่อให้การก้าวต่อไปในอาชีพครูของเธอเป็นไปอย่างถูกต้องและมั่นคง ครูนัท เลือกที่จะมาศึกษาต่อในสาขาวิชาทางศึกษาศาสตร์ อาศรมศิลป์

ครูนัท
จริงๆ ก็ไม่ได้จบทางวิชาชีพครูมา แต่เรามีโอกาสได้ไปทำงานอยู่ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เราทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี  ก็มีความรู้สึกว่าความเป็นครู มันไม่ใช่แค่มีความรู้แล้วไปสอนได้  แต่ว่ามันต้องมี
จิตวิญญาณ หรือว่ามีภาวะภายในบางอย่าง ที่จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ ก็เลยลองหาที่เรียน แล้วก็ได้มีโอกาสรู้จักกับสถาบันอาศรมศิลป์จากเพื่อนครูที่โรงเรียน ก็เลยสนใจแล้วก็มาเริ่มต้นเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู หรือ ป. บัณฑิต ที่นี่  ซึ่งมีวิธีการจัดการเรียนรู้
ที่เราสามารถเอาไปปรับใช้กับการเรียนรู้ของที่โรงเรียนเพลินพัฒนาได้อย่างชัดเจน คือ การบูรณาการความรู้
ไม่ว่าจะเป็นการพาให้เรามีสติกับการเรียนรู้ การใคร่ครวญ การไตร่ตรองตนเอง หรือการมองเห็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่เราต้องนำไปใช้ เมื่อทำหน้าที่เป็นครูในชั้นเรียน กระบวนการสอนมันก็ไปเอื้อกับการทำงานจริงของเรา

อาจารย์จันทนา กรุณาให้รายละเอียดถึงแนวความคิดและแนวทางการเรียนการสอนของสาขาวิชาทางศึกษาศาสตร์  รวมทั้งจุดเด่นของสถาบันอาศรมศิลป์

ดร.จันทนา
จุดเด่น ก็คือ เรามุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองได้เรียน แล้วก็จะลงมือปฏิบัติจนกระทั่งได้องค์ความรู้ บนฐานการทำงานจริงของนักศึกษา ไม่ว่านักศึกษาทำงานที่ไหน ก็มาเรียนกับเราได้ในวันเสาร์วันอาทิตย์ แล้วก็เอาไปปฏิบัติในวันจันทร์ถึงศุกร์ การจัดวิชาเรียนของเราจะเป็นลักษณะของการบูรณาการ  เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม  หรือที่เรียกว่า Holistic Education ซึ่งจะมี 3H เป็นหัวใจหลัก คือการพัฒนาคุณค่าภายใน (Core Value) ของความเป็นครู  หรือ Heart  เพื่อให้ไปถึงความเป็นครูผู้มีหัวใจและมีจิตวิญญาณความเป็นครู คือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ที่มุ่งพัฒนาศิษย์ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเมตตากรุณา สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้และสร้างสรรค์ปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง  รวมทั้งมีมิติของ Head  หรือ การพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับครู (Core Knowledge)  และ Hands  การพัฒนาทักษะความเป็นครู (Core Skill) เพื่อให้ครูมีทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ก่อนที่จะไปถ่ายทอดต่อให้นักเรียน โดยทั้งหมดนี้เราจะออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่บรูณาการ ทั้ง 3H  และบูรณาการความรู้กับรายวิชาเข้าด้วยกัน

เมื่อเริ่มต้นการเรียนในแต่ละครั้ง เราจะให้นักศึกษาสวดมนต์ภาวนา ซึ่งเป็นการปฏิบัติการทางจิตใจ คือการขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาปัญญา  และในส่วนที่เราให้นักศึกษาทุกคน นอกเหนือจากวิชาการภาคบังคับต่างๆ ก็คือ เรื่องของการปลูกจิตวิญญาณความเป็นครู คือเรามองว่าในการที่จะเป็นครู  มันต้องมาจากตัวเราที่เราต้องการก่อน ฉะนั้น ในการจัดการเรียนการสอน  เราจะจัดในลักษณะที่ตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เขามีสำนึกรักในความเป็นครู  รักในอาชีพความเป็นครู   ไม่ใช่เป็นครูเพียงแค่ต้องการมีอาชีพ 

 

อาจารย์จันทนา ได้กรุณายกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้  “จัดดอกไม้จัดใจตน” อย่างละเอียดทำให้เราเห็นภาพการบูรณาการ 3H ได้ชัดเจนขึ้น

ดร.จันทนา

ขอยกตัวอย่างกิจกรรมจัดดอกไม้จากใจตนนะคะ การจัดดอกไม้จากใจตน คือ ทุกคนนั่ง
ล้อมวง มีแจกันดอกไม้อยู่ตรงกลาง ก็จะให้เริ่มโดยไม่มีการพูดกัน คนที่ 1 ก็จะไปหยิบดอกไม้ไปปัก เวลาปักไปแล้ว ก็ต้องมองว่าจะสวยไหม และก็ต้องมีความไว้วางใจในคนที่ 2  ที่ปักต่อจากเรา ว่าดอกไม้ก็ยังไม่ลดความสวยงามลงไป  ในขณะที่คนที่ 2 เวลาปัก  นอกจากดูว่าตัวเองจะปักตามความต้องการตัวเองแล้ว ก็จะต้องนึกถึงคนก่อนหน้าเรา และคิดต่อไปถึงเพื่อนคนถัดไปที่จะมาปักหลังจากเราด้วย เรียกว่าต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ว่าจะทำให้ดอกไม้นั้นยังคงความสวยงามอยู่ ต่างคนต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย รู้จักดวงจิตดวงใจตัวเอง รู้จักเรื่องของการให้ จะไม่ห่วงแค่ว่าฉันจะเอาอย่างนี้อย่างนั้น กว่าจะครบ เราก็จะได้ดอกไม้ที่มีความงดงาม  เป็นความงดงามที่ออกมาจากใจของคนทุกคนที่นั่งอยู่ในวงนั้น   ถามว่าเราบูรณาการการเรียนรู้อะไรได้บ้าง ก็เช่น เรื่องการให้เกียรติคนอื่น ให้เกียรติตัวเราเอง เข้าใจตัวเอง และยอมรับในความคิดของคนอื่น

ครูนัท

กิจกรรมลักษณะนี้ทำให้เราเข้าใจความคิดความรู้สึกของเราเองและผู้อื่นด้วย มันไปเสริมคุณค่า “ความเป็นครู” ในตัวเรา เวลาเราไปสังเกตหรือไปประเมินเด็กๆ นักเรียนของเรา  เราก็จะต้องใช้จิตใจของความเป็นครูในการประเมินนักเรียนอย่างใคร่ครวญ โดยไม่ตัดสิน และก็ต้องใส่ความเห็นอกเห็นใจเข้าไปด้วย เพื่อการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเราต้องมีสายตาในการสังเกตเด็กอย่างละเอียด  “ความเป็นครู” นี้ไปพัฒนาข้างในใจเราตลอดเวลา พอเราลงไปสู่ในชั้นเรียน เราก็จะเห็นภาพเด็กๆ ของเราผลิบานราวกับดอกไม้

ส่วนของมิติ Head  และ Hands  เพื่อให้ครูมีทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ก่อนที่จะไปถ่ายทอดต่อให้นักเรียน เป็นไปตามแนวทางคุรุสภา

 

ดร.จันทนา

นอกจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณค่าภายในแล้ว  หลักสูตรที่สถาบันอาศรมศิลป์  ยังเป็นไปตามมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู ตามฐานสมรรถนะ ในแนวทางที่คุรุสภากำหนด  ซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ความรู้ในเนื้อหา การจัดการเรียนรู้  ความเป็นครู และความสัมพันธ์กับชุมชน    หลักสูตรของเรามีทั้งสิ้น 35 หน่วยกิต แบ่งเป็นมาตรฐานวิชาชีพและฝึกประสบการณ์  ในรายวิชาที่เป็นวิชาชีพครูยังครอบคลุม
11 มาตรฐาน คือ ความเป็นครู  ปรัชญาการศึกษา  ภาษาและวัฒนธรรม   จิตวิทยาสำหรับครู  การพัฒนาหลักสูตร   การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้    นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้  การประกันคุณภาพการศึกษา  และคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ   ส่วนการฝึกประสบการณ์จะเกิดขึ้นในเทอมที่ 2 และ 3 ที่จะให้เขาฝึกจริงๆ ทั้งกระบวนการเป็นผู้สอน และการฝึกในหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเป็นครู  ไม่ว่าจะเป็นครูด้านฝ่ายปกครอง  ฝ่ายธุรการ ฝ่ายวิชาการ  หรืออื่นๆ เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ประมาณ 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน

การเข้าถึงความรู้และทักษะทั้งหมดนี้  เราจะเน้นที่การปฏิบัติ  เพราะต้องการให้ความรู้เกิดขึ้นจากการฝึกฝนที่ต่อยอดจากการปฏิบัติ โดยให้มองเห็นที่คุณค่าก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นว่าเขาจะเรียนไปเพื่ออะไร  แล้วจึงให้เขาลงมือปฏิบัติ  และสะท้อนการเรียนรู้มาจากใจตัวเอง นำไปสู่องค์ความรู้ที่เขาได้รับ  นอกจากนี้ เรายังเน้นทักษะการสังเกตเด็กอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล หรือที่เรียกว่า Visible Learning  ที่ฝึกให้ครูมีสายตาในการมองเห็น “การเรียนรู้” ว่าเกิดขึ้นในเด็กแต่ละคนแล้วหรือยัง ซึ่งครูจะทำเช่นนั้นได้ ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้เสียก่อน   โดยเริ่มจากการสังเกตการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

สำหรับครูนัท  นอกจากการได้มาเรียนต่อยอดความรู้แล้ว สิ่งที่เราสัมผัสได้เวลาที่เธอเล่าเรื่องชีวิตการเรียนที่นี่ คือเธอดูมีความสุข มีความผูกพันกับอาศรมศิลป์  เธอบอกเราว่าการมาเรียนที่นี่ไม่ใช่เพียงได้วิชาเท่านั้น แต่การมาเป็นศิษย์อาศรมศิลป์ ยังช่วยหลายๆ อย่างในชีวิตเธอด้วย

ครูนัท
เรื่องของการจัดการเรียนการสอน  เรารู้สึกว่าสถาบันมีความยืดหยุ่นมาก คือมีความเข้าอกเข้าใจในบริบทการทำงานของนักศึกษาทุกคนที่เป็นครูในโรงเรียนที่แตกต่างกัน สถาบันฯ จึงจัดการเรียนการสอน ออกแบบหลักสูตรให้เป็นแบบองค์รวมหรือว่าเป็นการบูรณาการ  ซึ่งครูทุกคนสามารถเอาไปปรับใช้ได้ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูในโรงเรียนทางเลือกเท่านั้น   ที่นี่ทำให้เรารู้สึกเหมือนมาพัก เราทำงานทุกวัน 5 วัน  เหนื่อยกับการลงแรงในการทำงาน พอมาที่นี่กิจกรรมตอนเช้า  ก็คือ  สวดมนต์  ช่วยผ่อนคลายเรา  เหมือนมาก็พัก ได้มาพูดคุยกันกับเพื่อนครูต่างโรงเรียน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งจริงๆ มันก็มีองค์ความรู้อยู่  ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าสถานที่นี้  ก็คือ สถานที่ที่เราได้มาพักผ่อน   แต่พักผ่อนบนการได้เรียนรู้ไปด้วย  เรียนรู้ แล้วก็ลงมือปฏิบัติ แล้วก็สะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยทำให้เราต่อยอดการเรียนการสอนของเราขึ้นไปได้อีก

ที่สำคัญ คือ ได้รับการปลุกจิตวิญญาณที่มีอยู่ในตัวเรานั่นแหละ ให้ความเป็นครูของเราที่อยู่ในตัวเราออกมา แล้วก็เอามาใช้ในการทำงานได้อย่างจริงจัง เราจะไม่ทิ้งเด็กไว้หลังห้องเรียนเหมือนที่อาจารย์ก็ไม่เคยทิ้งเรา  มันเป็นมุมคิดที่ถูกฝังอยู่ในตัวเรา ในความเป็นครู เราจะไม่ทิ้งเด็กๆ เราจะเข้าใจความแตกต่าง และเราจะ เคารพกันและกัน จุดนี้เป็นจุดที่เรารู้สึกว่าสถาบันแห่งนี้ให้อะไรกับเรามากมาย ถ้ามาเรียนรู้ที่นี่คุณก็จะได้คุณค่าเรื่องนี้   ซึ่งมันไม่ใช่เพียงสร้างคุณค่าในอาชีพการงาน แต่ได้สร้างคุณค่าให้ชีวิตเราด้วย จริงๆ เชื่อว่า
ตัวเรามีอุดมคติในการเป็นครูอยู่แล้วละ  แต่ว่าบางทีเราเจองานที่หนัก  งานที่เหนื่อย มันก็จะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ แต่ว่าพอได้มาเรียนรู้ เราจะพบว่ามันมีวิธีการ มีพลังกลับไปสานต่องานที่เราตั้งใจทำทุกๆครั้ง

และที่สำคัญมาก ๆ ที่เราเห็นได้จากทั้งอาจารย์และศิษย์ คือความผูกพันที่มีต่อกันและกัน

ครูนัท

อาจารย์ที่นี่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ แต่เป็นโค้ชที่ดูแล ทั้งยามสุขยามทุกข์ อาจารย์ป่วยเราก็ดูแล เราป่วยอาจารย์ก็ดูแล อาจารย์มีความเป็นกันเอง หรือว่าเรามีปัญหาอะไรในชั้นเรียน มีเรื่องอะไรที่
เราสงสัย อาจารย์ก็จะให้คำแนะนำกับเรา คือไม่เคยรู้สึกว่าจะต้องกลัวอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ตุ๊ก
(ดร.จันทนา) ความเป็นครูในตัวอาจารย์มีเยอะมาก แล้วก็ค่อยเอาใจใส่นักศึกษาทุกคน   ไม่คิดว่านักศึกษาผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าได้มาเป็นศิษย์แล้ว อาจารย์จะคอยเป็นห่วงเป็นใย และคอยสอบถามอยู่เสมอ

เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่แล้ว วันนี้