Partnership School เพิ่มพลังวิสัยทัศน์ ผอ. สู่การเป็นครูของครู (Super Coach)

สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จับมือ สถาบันอาศรมศิลป์ พัฒนาโรงเรียน partnership school เพิ่มพลังวิสัยทัศน์ ผอ. สู่ การเป็นครูของครู (Super Coach) ห้องเรียนหัวใจการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียน WHOLE SCHOOL TRANSFORM

นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา กล่าวถึง ระยะเวลากว่า 3  ปี ของการริเริ่มแนวคิดเพื่อปฏิบัติการ จาก Public School  มาเป็น Partnership School ซึ่งโรงเรียนจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา รวมถึงมีอาจารย์จาก สถาบัน มหาวิทยาลัยมาร่วมสอน

มีชัย วีระไวทยะ
“โมเดลนี้เป็นเหมือนการกระจายอำนาจให้กลุ่มบุคคลที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน แนวคิดนี้ได้รับการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งต้องการขยายผลให้ได้ 70 โรงเรียน โดยจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากร และหลักสูตรวิชาการ ขณะเดียวกันมีการกำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ คัดเลือกองค์กรเอกชนร่วมสนับสนุน ซึ่งเขาสามารถ ขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า”
นายมีชัย วีระไวทยะ
นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
และผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา

เมื่อดำเนินการเชิงนโยบายได้สำเร็จ จึงขับเคลื่อนด้านการพัฒนาคน ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู คือ หัวใจของการเปลี่ยนแปลง ผอ. จะต้องได้รับการพัฒนา เป้าหมายสูงสุด เกิด Change Maker ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดในระบบการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเกิดสมรรถนะ ไปสู่การเป็นผู้สร้างให้นักเรียนเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยกระบวนการใหม่ ๆ ที่ติดอาวุธความคิดด้วยปัญญา

โดยสถาบันอาศรมศิลป์และมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมมือกันทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาในฐานนะโค้ช  ร่วมออกแบบและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ นำกระบวนการเสริมสร้างพลัง เครื่องมือ เทคนิค กระบวนการ ที่ได้พิสูจน์มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ของโรงเรียนรุ่งอรุณ นำมาถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการให้ดูห้องเรียนจริง และฝึกอบรบเชิงปฏิบัติการ ผอ.และครูฝึกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ ผอ.ต้องมีจิตใจรักโรงเรียน มีจิตใจผูกพันกับนักเรียนไปตลอด เข้าใจการพัฒนาอย่างเป็นเอนกประสงค์ ทั้งการจัดการการเรียนรู้สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้  หัวใจสำคัญ คือ รู้วิชาการอย่างแท้จริง  สร้างนักเรียนให้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ แบ่งปัน ซื่อสัตย์ และ ทำธุรกิจเป็น        

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ  ผู้นำคณาจารย์และครูผู้มีประสบการณ์การด้านการพัฒนาการเรียนรู้  กล่าวว่า ทำการศึกษาต้องเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ สำหรับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School ที่เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 4 รุ่น  จากทั่วประเทศ  เน้นกระบวนการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อำนวยการและครู  โดยมีห้องเรียนเป็นหัวใจการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ WHOLE  SCHOOL TRANSFORM  ซึ่งมีกระบวนการด้วยกันทั้งหมด 7 กระบวนการ

  1. Learner’s Outcome Oriented 
  2. Super Coach  
  3. Learning Experts  
  4. Flexible, Diversity Learning Spaces  
  5. Competency – Based 
  6. Creative & Active Learning 
  7. 360 องศา + Formative Assessment

ระยะแรกจะปฏิบัติการจริงจากห้องเรียน โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย อาทิ

Classroom  Reflection to Change  (CRC)

เป็นนวัตกรรมการศึกษา ถ่าย “วีดิโอคลิป” เข้าสังเกตการณ์สอนในห้องเรียน 1 คาบเรียน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมการสอนของครู ตั้งแต่ ทบทวนการเรียนก่อนหน้า การนำเข้าสู่บทเรียน กระบวนการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามแทนการสอน การแบ่งงานเป็นกลุ่ม ตลอดจนการสรุปการเรียนรู้ ทั้งนี้ให้สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยละเอียด เพื่อนำมาสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการตั้งคำถาม เรียนรู้จากวีดีโอคลิปที่บันทึกไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญคือ ประเด็นการเรียนรู้และบทบาทของครูในห้องเรียน

Micro Teaching  จำลองการสอนสะท้อนแบบกัลยาณมิตร

เริ่มด้วยการให้ครูฝึกสร้างแผนการสอนใน 1 คาบเรียน แบบใหม่  Active Learning  แบ่งกลุ่มย่อยออกแบบแผนร่วมกัน นำมาสอนจริง โดยแต่ละกลุ่มสลับกันเป็นนักเรียนและครู   ทำให้เกิดการสัมผัสถึงหัวใจของการกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ครูต้องเข้าไปนั่งในใจเด็ก สัมผัสเวลาของการเรียน สะท้อนกลับมาที่ตนเอง เห็นบทบาทของตนเองที่จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรให้การเรียนรู้เป็นไปด้วยความสนุก ได้ความรู้ ทักษะ และถึงคุณค่าของการเรียนรู้ที่แท้จริง

โดยตลอดกระบวนการจะมี ผู้อำนวยการโรงเรียน เข้าร่วมและทำหน้าที่เป็น Facilitator บันทึกสะท้อนประเด็นหลักจากการสอนเสร็จสิ้น ฝึกบทบาทใหม่  ก้าวแรกของการให้ ผอ. เป็น Super Coach ผลของการสะท้อนการเรียนรู้เชิงประเด็น โดยมี Facilitator เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในรูปแบบของวงสนทนาที่ไม่ใช่การประชุมแบบแข็งตัว แต่เป็นวิธีการที่แยบคาบใช้การตั้งคำถามปลายเปิด โดยที่ทุกคนเป็นผู้ตอบ จะทำให้เกิดการเห็นตนเอง คำตอบจากการสะท้อนย้ำมาที่ตนเอง เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดการย่อมรับที่จะเห็นจุดควรปรับปรุงโดยมิต้องมีใครเป็นผู้บอก

ต่อจากนั้นเป็น กระบวนการตกผลึกการเรียนรู้ ด้วยกิจกรรม Fish Bowl สะท้อนการเรียนรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมทั้งหมด  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนรู้ที่ฝังลึกสู่การตระหนักที่ย้ำจิตสำนึกใหม่ ด้วยบรรยากาศของการจัดวงนั่งสนทนาที่สัมผัสได้ถึงความใกล้ชิด เป็นมิตร ที่เอื้อผลดีต่อการสื่อสารกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร โดยให้ครูผู้ได้รับบทบาทเป็นผู้สอนนั่งอยู่ในวงที่ห้อมล้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน และวงกลมซ้อนกันรอบวงสุดท้าย คือ เพื่อนครูผู้เข้าร่วมทั้งหมด

fish bolw

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นสนามทดลองเสมือนจริงในพื้นที่เล็กๆ (Mini Sandbox)  ดำเนินการให้เกิดเส้นทางการทำงานทางวิชาการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างสรรค์แผนการสอนใหม่ ผอ.ได้ลงมือทำโครงสร้างตารางสอนของทั้งโรงเรียน รู้ลึกทางด้านวิชาการทั้งระบบ  ครูและผอ.ร่วมกันออกแบบตารางสอน และติดตั้ง ระบบ CRC (Classroom  Reflection to Change) สะท้อนห้องเรียนเปลี่ยนการสอน  และ PLC  (Professional Learning Community) ชุมชนครูมืออาชีพ ในตารางเวลาประจำสัปดาห์ เครื่องมือสำคัญนี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพเชี่ยวชาญการเรียนรู้ (Learning Experts) ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นโค้ชผู้เชี่ยวชาญให้กับครู มีความเป็นเลิศทั้งทางด้านบริหารและวิชาการ (Super Coach) ที่มีสมรรถนะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่

นายเกียรติศักดิ์  สมานมิตร คุณครู รร.บ้านท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ได้รับจากการเข้าฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่อาสาทดลองสอน Micro Teaching ในวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อได้จัดทำแผนการสอนใหม่ ได้ความรู้ใหม่เพิ่มอย่างมาก และได้สอนจริง โดยมีพี่ ๆ เพื่อนครูและผอ.ร่วมเป็นนักเรียนและสะท้อนความคิดแลกเปลี่ยนกัน ฟังแล้วได้พลังมาก ๆ ได้ข้อคิดให้กับตัวเองที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ต้องกลับไปฝึกให้มีความสามารถการเป็นครูพันธุ์ใหม่  3 สิ่งสำคัญ  การออกแบบแผนการสอนที่เข้าถึงคุณค่า ไม่ยึดตำราแผนสำเร็จรูป  การตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กคิด เปลี่ยนการสอนแบบเดิม ทุกความคิดทุกคำตอบของเด็กคือการเรียนรู้ที่แท้จริง และ การแบ่งสัดส่วนเนื้อหา คุณค่า ทักษะ ความรู้ ในแผนการสอนอย่างถูกต้อง

“จะทำแผนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กไปถึงคุณค่า ไม่บล็อกความคิดเด็ก เรื่องการตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ตอบคุณค่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ทั้งผู้สอนและผู้เรียน สิ่งที่เรียนทุกเรื่องต้องตอบให้ได้ว่า เรียนไปเพื่ออะไรไปให้สุดทางเพื่อให้เกิดคุณค่า ถ้าไม่ถึงตัวคุณค่าความรู้นั้นจะไม่ยั่งยืน จะกลับไปลงมือทำก่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เพื่อนครูได้เห็นแล้วค่อย ๆ ร่วมกันเปลี่ยนทั้งโรงเรียน”
นายเกียรติศักดิ์ สมานมิตร คุณครู รร.บ้านท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
นายเกียรติศักดิ์ สมานมิตร
คุณครู รร.บ้านท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลิด  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่  กิจกรรมฝึกอบรมครั้งนี้ขยายความเข้าใจ ที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เรามั่นในความเชื่อ คือ กระบวนการ CRC  เครื่องมือสำหรับผอ.ผู้บริหาร ให้ครูช่วยกันออกแบบการสอน ช่วยกันดู นำกลับมาสะท้อนพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ที่ทำให้เห็นสิ่งที่ต้องพัฒนาบทบาทของครู ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ภาพตัวอย่างที่กล้องบันทึก คือ ประเด็นที่ทำให้เรานำมาพูดคุยเพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น  และจะบรรจุ CRC ลงในตารางการทำงานของครูในเวลาทำการ

“เชื่อมั่นว่า มนุษย์พัฒนาได้ คุณครูทุกคนพัฒนาได้จริง ๆ ไม่มีทางสิ้นสุดการเรียนรู้ สิ่งที่ทำให้ใจไม่ท้อ คือ การเห็นความงอกงามที่ตัวเด็ก ถ้าโรงเรียนหัวใจอยู่ที่ระบบการเรียนรู้ ผอ.คือ เครื่องมือที่จะไปทำให้ระบบนี้มันติด กลับมามองที่ตัวเอง คนที่จะเข้าไปช่วยครูและใกล้ชิดครูมากที่สุดไม่ใช่ใครเลย ไม่ว่าระบบ CRC ก็ดี หรือระบบการสร้างการเรียนรู้ให้กับครู ผ่านการออกแบบแผนการสอน หรือการนำพากระบวนการต่าง ๆ ผู้อำนวยการโรงเรียน มีบทบาทสำคัญมาก มองสิ่งเชื่อมโยง ทั้ง เวลา การจัดโครงสร้างการเรียน ติดตั้งระบบการเรียนรู้ให้พบความสำเร็จ ผู้อำนวยการโรงเรียนคือเบอร์หนึ่ง”
นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลิด อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลิด อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แรงบันดาลใจจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม