อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน

ชนะเลิศการประกวดแบบรัฐสภาแห่งใหม่

ปีพ.ศ.2552 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการจัดการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของสังคมไทย นายธีรพล นิยม ในนามบริษัท อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม จำกัด สถาบันอาศรมศิลป์ จึงได้เป็นผู้นำในการรวมตัวกับมิตรสหายทางวิชาชีพอีก 4 บริษัท เข้าร่วมใน“วาระแห่งชาติ” ครั้งสำคัญดังกล่าวในนามทีม “สงบ 1051” ด้วยความมุ่งหวังที่จะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีตอบแทนบุญคุณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเต็มกำลังและได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดแบบ โดยได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าเพื่อสร้างสรรค์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ดังจดหมายชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมประกวดแบบต่อไปนี้

การตระหนักในเป้าหมายที่ทรงคุณค่าจึงจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง

การที่ ทีม สงบ1051 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ก็ด้วยสำนึกในการทำงานเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน และด้วยความตระหนักถึง สถานะอันสำคัญยิ่งของอาคารรัฐสภา ที่จะต้องเป็นงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนอารยธรรมของชาติให้สูงส่งขึ้น พวกเราทุ่มเทและเพียรพยายามเต็มกำลังสติปัญญาเพื่อค้นหา เป้าหมายที่ทรงคุณค่าที่สุด ในการสร้างสรรค์งาน จนเกิดเป็นคำถามที่สำคัญ ดังนี้

1.ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่

ไม่เพียงตอบสนองประโยชน์ใช้สอยและเทคโนโลยีอย่างดียิ่งเท่านั้น หากยังทำหน้าที่ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่สามารถพลิกฟื้นจิตวิญญาณของคนในชาติ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สังคมไทยสามารถข้ามพ้นวิกฤตทางจิตวิญญาณที่รุนแรงที่สุด คือ วิกฤตทางศีลธรรม ได้

2.ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ มีอัตลักษณ์ไทย

ทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องตีความไม่ว่าผู้ที่ได้สัมผัสนั้นจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ชนชั้นนำ ปัญญาชน หรือ ชาวบ้านทั่วไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าของแผ่นดิน และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางที่สำคัญของชาวโลก

3.ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่

สามารถสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชนได้

4.ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่

เป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้ครั้งใหม่ขึ้นในสังคมไทยเกิดเป็นวาทกรรมแห่งชาติอย่างกว้างขวาง เป็นกระบวนการ สร้างคุณค่าและสำนึกของการร่วมกันคิดร่วมกันสร้างจากคนไทยทั้งชาติ  ในการสถาปนารัฐสภาแห่งใหม่นี้

การกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม

กระบวนการในการกำหนด “เป้าหมายเชิงคุณค่า” ของโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มเข้าร่วมการประกวดแบบ  ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าสถาปนิกในคณะออกแบบ ตั้งแต่

1.การร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เป็นการปรับฐานความเข้าใจบริบทด้านสังคมการเมืองของประเทศไทยร่วมกัน เพื่อกำหนดบทบาทของสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ให้ตอบสนองต่อบริบททางสังคมการเมืองดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

2.การร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อระบุเป้าหมายเชิงคุณค่า (Software) ที่ต้องการบรรลุถึงในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม รัฐสภาและรูปธรรม (Hardware) เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว  ได้ผลเป็นเป้าหมายเชิงคุณค่าที่เป็นวิสัยทัศน์ร่วม(Shared Visions) และแนวทางของรูปธรรมที่เป็นจินตนาการร่วม (Collective Imagination) ของทีมงานซึ่งใช้ในการพัฒนาแบบและการออกแบบรายละเอียดในขั้นต่อๆมา

3.การระดมความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านทุกฝ่าย เพื่อความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการอย่างลึกซึ้งรอบด้าน

4.ศึกษาเรื่องไตรภูมิในประเด็นเนื้อหา คุณค่า และบริบทต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจและนำมาใช้ในการออกแบบ

การศึกษาและถอดรหัสสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ในการออกแบบ

ในการออกแบบสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่นี้ มีกระบวนการสำคัญคือการศึกษาและถอดรหัสสถาปัตยกรรมแบบแผน “ไตรภูมิ” จากสถาปัตยกรรมด้านจิตวิญญาณของไทยมาใช้ในการออกแบบวางผัง เพื่อให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred place) เป็นสัปปายะสภาสถานที่เอื้อให้ระลึกถึงความพิสุทธิ์และการใช้สติปัญญาในการประกอบกรรมดี เช่น การนำสัญลักษณ์ “ขวัญ” (ปราณ,จิต) มาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเปรียบเสมือน “ขวัญ” (จิต) ของรัฐสภาและของประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือการน้อมนำงานครูทางสถาปัตยกรรมไทย มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ณ ตำแหน่งศูนย์กลางของอาคาร เป็นแกนกลางที่มีความสำคัญสูงสุดตามคติไตรภูมิ สื่อถึงเสาหลักของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับโลกียภูมิอันได้แก่ ประชาชน (ประชาธิปไตย), พระมหากษัตริย์ (ชาติ) และพระสยามเทวาธิราช (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ไปจนถึงระดับโลกุตรภูมิ คือพระศาสนา ซึ่งในการถอดรหัสงานครูมาออกแบบสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญยิ่งนี้ คณะผู้ออกแบบได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และ อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมไทย

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและประหยัดพลังงานแบบ Passive Approach

ด้วยสภาพที่ตั้งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเสมือนหัวใจของชาติไทย ในการออกแบบจึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสถาปัตยกรรมและแม่น้ำเจ้าพระยาได้ผลลัพธ์เป็นการดึงพลังและศักยภาพของแม่น้ำมาส่งเสริมภาพลักษณ์ที่สง่างามของสถาปัตยกรรมรัฐสภา ให้เป็นจุดหมายตาแห่งใหม่(Landmark) ที่มีความสำคัญของภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้สถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ยังถูกออกแบบอย่างถี่ถ้วนด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกันกับสถาปนิกและวิศวกรทุกสาขาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อาคารนี้เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดอันหนึ่งของอาคารที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอาคารที่ยั่งยืน

การใช้หุ่นจำลองเป็นเครื่องมือในกระบวนการออกแบบ

ด้วยเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในระดับชาติ กระบวนการออกแบบจึงให้ความสำคัญอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกองค์ประกอบ โดยได้มีการทำหุ่นจำลองขึ้นหลายครั้งหลายขนาดมาตราส่วน เพื่อศึกษาและออกแบบในรายละเอียดให้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้สถาปัตยกรรมรัฐสภาที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีความสมบูรณ์และสง่างามที่สุด

สื่อที่เกี่ยวข้อง