สกอ.จับมือ U-School Mentoring เตรียม “ครูรุ่นใหม่” พัฒนาท้องถิ่น

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ในฐานะ U School Mentoring เตรียมอบรมครูรุ่นใหม่ 112 คน ในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นระยะเข้าสู่วิชาชีพ ประจำปี 2561 เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ “ครูเพื่อศิษย์”

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในวันมอบนโยบายเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) ว่า “การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น โดยเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพของพลเมืองไทยมีความเข้มแข็ง ดังนั้น บทบาทของครู อาจารย์ต้องเปลี่ยนไป จะต้องไม่สอนแบบเดิม ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กเรียนรู้ได้ง่าย และสะดวกขึ้น ที่สำคัญคือเน้นว่าการเรียนต้องเรียนจากประสบการณ์จริง จากการทำงานจริงๆ ต้องดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่ครูอาจารย์จะต้องปลูกฝังเด็กไม่ใช่มีเพียงแค่ความรู้เท่านั้นเพราะความรู้ล้าสมัยได้ แต่สิ่งที่สามารถที่จะติดตัวนำไปใช้ได้หากโลกมีการเปลี่ยนแปลงคือ ทักษะและสมรรถนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์จะต้องปลูกฝังให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ในการทำงานต่อไปได้ ดังนั้น การผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ต้องตอบโจทย์คุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้ ตลอดจนทักษะและสมรรถนะสูง สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริง”

ดร.สุจินดา ขจรรุ่งศิลป์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตร์ และรองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ในฐานะ U-School Mentoring ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงครู เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยวิธีการเชื่อมโยงและถ่ายทอดนวัตกรรมองค์ความรู้ ตลอดจนความเชี่ยวชาญต่างๆ จากสถาบันอุดมศึกษาไปสู่โรงเรียน โดยในปี 2561 นี้ เราได้เตรียมการฝึกอบรมครูรุ่นใหม่ จำนวน 2 รุ่น จาก 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 112 คน เพื่อเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นระยะเข้าสู่วิชาชีพ (Induction Period) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ทั้งรูปแบบการฝึกอบรม และห้องเรียนออนไลน์ การฝึกฝนความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อให้ “ครู” รุ่นใหม่ ได้รับเทคนิคใหม่ๆ  ในการสอนเนื้อหาทางวิชาการ และการเรียนรู้จากชุมชนท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ ครูต้องยกระดับจิตวิญญาณของความเป็นครูเพื่อศิษย์ ต้องมองศักยภาพของเด็กให้ออก และพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ถึงฝั่งให้ได้ โดยครูยุคใหม่ไม่ควรแค่สอนให้เด็กเพียงอ่านออก เขียนได้ เท่านั้น แต่จะต้องสอนให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ตระหนักรู้ และมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมโดยรวม”

ด้าน คุณครูเบญญาภา บุญล้ำ ครูผู้สอนวิชาการจัดการทรัพยากรครอบครัวและชุมชน วิทยาลัยอาชีวศึกษา
เสาวภา หนึ่งในครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้กล่าวถึงความตั้งใจที่จะฝึกฝนพัฒนาวิชาชีพครั้งนี้ว่า “การร่วมอบรมครั้งนี้จะเป็นการฝึกให้เราเรียนรู้กระบวนการคิดลึกซึ้งถึงคุณค่า ฝึกความคิดเชิงบวกที่มีต่อเด็กอาชีวะที่เราต้องสอน ค้นหาให้พบกับความสามารถที่เด็กมีจริงๆ ซึ่งทำให้รู้ว่า เด็กสร้างสรรค์ได้ จึงจะเกิดประโยชน์ทั้งตัวเราและตัวเด็ก”

ขณะที่ คุณครูณิชาบูล ลำพูน จากโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย กล่าวถึงความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดโดยทันทีว่า “กิจกรรมนี้ทำให้หัวใจได้รู้สำนึกในคุณค่าของสิ่งต่างๆ เรียนรู้ที่มาอย่างแท้จริง ลึกซึ้งมากๆ จะนำเทคนิควิธีที่ได้รับไปถ่ายทอดการเรียนรู้สู่เด็ก ที่สำคัญ คือ เริ่มที่ตัวเราก่อน ครูเริ่มก่อน เพราะการบอกหรือบังคับเด็กแต่ครูไม่ได้ลงมือทำ จะไม่เกิดประสิทธิภาพที่แท้จริง การเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้มุมมองเราเปลี่ยนไปเลย มองเห็นกระบวนการที่นำไปสู่คุณค่าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่จะนำไปปรับใช้ในห้องเรียนทันที คือ การพาเด็กร่วมกันฝึกวินัยในกิจวัตร ให้ช่วยเหลือตัวเอง เก็บจานกินข้าวเอง ดูแลพื้นที่ส่วนรวมร่วมกันให้สำเร็จ”

  • การคิดอย่างลึกซึ้งและสะท้อนปัญญาอย่างชาญฉลาด (Wise Reflection)
  • การฝึกทำจริยศิลป์ ตุงใยแมงมุม เพื่อรู้จักสภาวะความรู้สึกนึกคิดของตนเอง
  • การจัดทำแผนการสอน ด้วยระบบคุณค่า (VOC : Value Oriented Curriculum) 
  • การเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning)
  • บทบาทของครูผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) เข้าถึงความรู้จากการปฏิบัติจริง
  • การเรียนแบบใฝ่รู้ (Active Learning)
  • การสังเกตชั้นเรียน การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC : Professional Learning Community)
  • ครูนักออกแบบการสอน การทดลองสอนแบบจุลภาค (Micro teaching)
  • การรู้จักดูแลสมดุลกายใจกีฬาภูมิปัญญาไทย
  • การทำ Core Reflection
  • การบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Development) ด้วยการสานต่อพลังเครือข่ายครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น