กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์สถาปัตย์ ฯ ณ ถนนวินยานุโยค อู่ทอง สุพรรณบุรี

“วันวานนี้.. ที่วินยานุโยค”

สถาปนิก นักกิจกรรม เพื่อการอนุรักษ์ชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมดำเนินกิจกรรม พัฒนาพื้นที่ อย่างมีส่วนร่วม ใน โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาโบราณสถานโบราณวัตถุเมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับชาวชุมชนในพื้นที่ และ เครือข่ายองค์การมหาชน คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรับผิดชอบของสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณ (อพท.7)

ในงานเน้นกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจและกระตุ้นจิตสำนึกของคนในชุมชน ให้รักษ์และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ส่วนร่วมกลางและตัวอาคารไม้เก่าที่สืบทอดการอยู่อาศัยต่อกันมาร่วม 200 ปี

ภาพเก่าเล่าเรื่อง”

งาน “วันวานนี้.. ที่วินยานุโยค” ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ บนฐานคิดที่มุ่งให้เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ชุมชน ความผูกพันกับสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอายุร่วม200-1000ปี ด้วยกิจกรรม “ภาพเก่าเล่าเรื่อง” ที่ให้ชาวชุมชนนำภาพเก่าที่มี นำมาร่วมจัดแสดงภายในงาน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ เพราะทุกภาพที่ได้รับมา จะนำมาสู่การเปิดวงเสวนา จากเจ้าของภาพเพื่อให้พี่น้องชาวชุมชนและผู้เข้าร่วมงานจากชุมชนอื่นๆ ได้ร่วมรับรู้เรื่องราวอดีตอันมีคุณค่าผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพ และการถ่ายทอดความประทับใจของเจ้าของภาพ 

เยาวชนสนทนา

ทั้งยังมีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ ให้ตระหนักถึงการรักษ์ถิ่น ความร่วมใจกันในชุมชนทำอาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นถิ่น มาแสดงและจำหน่ายให้ได้ชิมกัน บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนานบนสาระความรู้ มีความรื่นเริงด้วยการร่วมแรงร่วมจากพี่น้องชาวชุมชนช่วยกันหวนคำนึงถึงอดีตจากผู้คนหลายเพศหลายวัยในอู่ทอง มีกิจกรรม “เยาวชนสนทนา” จากกลุ่มเยาวชนจิตอาสา ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักเรียนโรงเรียนอู่ทองเล่าความรู้ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ชุมชน สัมภาษณ์ชาวชุมชน พร้อมบันทึกเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ เปิดเวทีเสวนาแแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเด็กและผู้สูงอายุซึ่งเป็นปูชนียบุคคลในชุมชนถึงเรื่องราวต่างๆของชุมชน จนได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก ผู้คนได้รับรู้สาระที่เป็นประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ เป็นผลกระตุ้นการตื่นรู้ ที่ส่งผลดีต่อการนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจ ในการต่อยอดมุมมองการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อการอนุรักษ์เรือนไม้เก่าสิ่งปลูกสร้างอันเป็นบ้านเรือน ที่อาศัยของผู้คนที่มีอยู่ตลอดเส้นทางถนนสายวินยานุโยค กลางเมืองอำเภออู่ทอง ณ บริเวณจุดจัดงาน ด้วยกิจกรรมหลากหลายภายในงานที่ทำให้จุดประกายให้เกิดความหวัง ในการอนุรักษ์ที่เป็นจริงด้วยความร่วมใจของทุกฝ่าย

อาจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า “สถาบันอาศรมศิลป์ ให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรด้านสถาปนิกชุมชน ที่เน้นให้สถาปนิกชุมชนออกแบบบ้านและอาคารที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชีวิตสภาพแวดล้อมและชุมชนนั้น ๆ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เน้นการออกแบบมุ่งเน้นวิธีการเรียนรู้บนการทำงานและโจทย์ปัญหาจริง โดยนักศึกษาปริญญาโทจะได้เรียนรู้การทำโปรเจกต์กับคณาจารย์ที่ร่วมกับชาวชุมชน โดยเป็น “ผู้อำนวยการให้เกิดความรู้” ที่สำคัญ ครูที่แท้จริง ก็คือ ปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้น สถาปนิกชุมชนจะต้องคลุกคลีกับชาวบ้าน เพื่อสร้างความไว้วางใจ เรียนรู้สภาพแวดล้อมและร่วมมือทะลายกำแพงท่าทีของคนในชุมชนให้ร่วมมือกัน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เกิดการพูดคุยกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ”

ดังนั้น การที่สถาบันอาศรมศิลป์ จัดมือกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ในครั้งนี้ จึงต้องการสืบค้นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชุมชนว่าต้องการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิต ประเพณี  วัฒนธรรมให้คงอยู่และนำมาพัฒนาคุณค่าผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อาคารแถวไม้ วินยานุโยค ผลผลิตที่ได้จากกิจกรรม คือ การจัดนิทรรศการคุณค่าของชุมชนในมิติต่าง ๆ ด้วยการนำภาพถ่ายเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวและสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนในอนาคตด้วย

กิจกรรมถัดไปที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ คือ การจัดทำภาพเขียนแบบบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernadoc) ซึ่งนอกจากช่วยให้ชาวชุมชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชนได้เห็นความงามของพื้นที่ของตนเองแล้ว ภาพเขียนแบบดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นแบรนด์สินค้าที่ระลึกที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวินยานุโยค และจะมีการจัดทำหุ่นจำลองทัศนียภาพเพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วม มีการจัดทำเอกสารแนวทางในการออกแบบและอนุรักษ์อาคารแถวไม้วินยานุโยคเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินการอนุรักษ์ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประเด็นใกล้เคียงกันในเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองด้วย