ระพี สาคริก

ผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมยอมรับว่าผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมได้เพาะกล้วยไม้เมล็ดแรกลงบนผืนแผ่นดินผืนนี้ตั้งแต่ยังพอจำความได้ แล้วก็มุ่งมั่นรดน้ำบำรุงรักษาจนกระทั่งเขาเจริญเติบโตขึ้นมามีดอกสวยงามให้คนเขาชื่นชมสมใจ ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติจนกระทั่งทั่วโลก

 แต่ว่าไม่ใช่พันธุ์กล้วยไม้ที่คนมองเห็น พันธุ์เหล่านั้นดอกมันบานแล้วก็โรยไป แต่กล้วยไม้พันธุ์นี้นอกจากจะอยู่เป็นอมตะแล้วยังถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังได้ด้วย ผมตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์นี้ว่า “ความรักในเพื่อนมนุษย์

เรื่องที่สร้างชื่อเสียงสำหรับ ศ.ระพี สาคริก คือการเป็นปรมาจารย์กล้วยไม้ไทย ที่ทั้งได้ศึกษา เผยแพร่ ก่อกำเนิด  และขับเคลื่อนสร้างวงการกล้วยไม้ ในระดับกลุ่มบุคคล ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ จนทำให้กล้วยไม้ไทยมีชื่อเสียงในระดับโลก จนถูกยกย่องว่าเป็น “บิดาวงการกล้วยไม้ไทย”

อย่างไรก็ตาม ศ.ระพี สาคริกมักกล่าวเสมอว่า ตนเองไม่ได้ทำงานกล้วยไม้ ตนทำงานในเรื่องของมนุษย์ และมักขอร้องอย่าให้ใครมายกย่องกล่าวขวัญว่า ตนเป็นนักกล้วยไม้ หรือคนกล้วยไม้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

ในวัยเด็ก ด.ช.ระพี สาคริกวัย ๙ – ๑๖ ปีได้เริ่มรู้จักเล่นและเลี้ยงกล้วยไม้ในบ้านอย่างจดจ่อต่อเนื่อง ควบคู่กับการเรียนชั้นประถมและมัธยม ทั้งชอบแวะเวียนเที่ยวชมกล้วยไม้แขวน จนเมื่อเข้าวัยทำงานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้ปลูกเลี้ยงและศึกษากล้วยไม้อย่างจริงจังและเป็นระบบ จนเริ่มสร้างความรู้กล้วยไม้ที่เป็นตัวของตัวเอง

ในยุคสมัยก่อนหน้าที่ ศ.ระพี สาคริกจะเริ่มต้นเล่นกล้วยไม้ในวัยเยาว์ กล้วยไม้นับเป็นของเล่นที่หวงแหนชนชั้นสูง ข้าราชการผู้ใหญ่ เศรษฐีใหญ่ ที่ช่วงชิงความเป็นเจ้าวงการกล้วยไม้เพื่อเสริมสร้างบารมี แต่กลับพึ่งพากล้วยไม้และเทคโนโลยีนำเข้าจากฮาวาย ทั้งที่ฮาวายต้องสั่งซื้อกล้วยไม้ป่าเขตร้อนรวมทั้งไทยนำมาเพาะเมล็ดและเนื้อเยื่อ

ศ.ระพี สาคริกจึงเริ่มมีความคิดที่จะให้คนไทยเป็นเจ้าของกล้วยไม้ร่วมกัน ทั้งความรู้ การพึ่งพาตนเอง ให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน พอดีกับที่มีลูกศิษย์ขอสมัครเรียนกล้วยไม้จาก ศ.ระพี ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา ศ.ระพี สาคริกจึงได้เริ่มต้นอบรมกล้วยไม้แก่ประชาชนทุกชนชั้น ทั้งในชั้นเรียน สื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ได้เริ่มสอนวิชากล้วยไม้ในมหาวิทนาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างคนกล้วยไม้ระดับปริญญา นอกจากนี้ได้เขียนตำรากล้วยไม้ที่ถูกหลักวิชาการ เหมาะสมแก่การปลูกในประเทศไทย

ในด้านเทคโนโลยี จากที่ไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้าต่างประเทศ ศ.ระพี สาคริกและบรรดาชาวสวนกล้วยไม้ไทย ได้คิดทดลองและประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่อทดแทนการนำเข้าและเพื่อแก้ปัญหาในบริบทชาวสวนไทย โดยใช้สิ่งที่มีในประเทศเป็นต้นทุน เช่น การปลูกกล้วยไม้บนโต๊ะ การผลิตวุ้นอาหารเพาะกล้วยไม้ ตู้เพาะเชื้อกล้วยไม้สุญญากาศ

ทั้งหมดนี้ทำให้ความรู้กล้วยไม้ได้เผยแพร่สู่คนไทยหลากหลายกลุ่มทุกชนชั้น ตลอดจนที่คนไทยได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีกล้วยไม้ในระดับที่พึ่งพาตนเองได้ มีผลต่อเนื่องให้คนไทยทุกภูมิภาคจำนวนมากสามารถปลูกกล้วยไม้เอง สร้างอาชีพใหม่ และเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

ถึงกับชาวสวนกล้วยไม้ไทยสามารถตั้งบริษัทบางกอกฟลาวเออร์เซ็นเตอร์ จำกัดได้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒  ด้วยกำลังความรู้ความสามารถ และด้วยการปรึกษาหารือกับ ศ.ระพี สาคริก เพื่อแก้ปัญหาการให้ราคากล้วยไม้ต่ำจากพ่อค้าคนกลาง โดยได้มีชาวสวนเป็นสมาชิกที่ร่วมตัดสินใจให้บริหารบริษัทในอนาคต

จากการอบรมกล้วยไม้สู่สาธารณะ ทำให้คนกล้วยไม้ไทยได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม สมาคม และชมรมกล้วยไม้ กระจายตัวแทบทุกจังหวัดของประเทศ โดยเฉพาะสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนคนกล้วยไม้ไทยทั้งประเทศ ซึ่งมี ศ.ระพี สาคริกเป็นนายกสมาคม

ด้วยเหตุที่ ศ.ระพี สาคริกได้ศึกษาความรู้กล้วยไม้ จนเกิดองค์ความรู้กล้วยไม้ประเทศไทย อันเป็นความรู้ใหม่ของวงการกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้ไทยอยู่ในสายตานานาชาติ จึงทำให้ ศ.ระพี สาคริกได้มีส่วนร่วมกับงานกล้วยไม้นานาชาติ และได้รับเชิญร่วมงานกล้วยไม้โลกนับแต่ครั้งที่ ๔ เป็นต้นมา ถึงกับให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๙เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑  ด้วยพลังคนกล้วยไม้ไทยและแวดวงที่เกี่ยวข้อง

ภายในประเทศไทย ได้รับการยกย่องทางวิชาการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดในด้านวิชาการ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในปีเดียวกัน โดยมิได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์มาก่อน

จากการที่ ศ.ระพี สาคริกได้ริเริ่มเรื่องกล้วยไม้ ได้ทำให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ไทยมีความลึกซึ้งและกว้างขวาง  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ากล้วยไม้ คือการแพร่หลายความรู้กล้วยไม้ไปสู่ผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ทำให้คนที่อยู่นอกแวดวงชนชั้นสูงได้รู้จักและเป็นเจ้าของกล้วยไม้ อย่างมีอิสรภาพ ทั้งด้านฐานความรู้ที่เป็นของคนกล้วยไม้ทั้งประเทศ จนสร้างฐานอาชีพและฐานเศรษฐกิจส่งออกประเภทใหม่ให้กับประเทศไทย เกิดวงการกล้วยไม้ทั่วประเทศ

สำคัญที่สุดคือการสร้างคนกล้วยไม้ ที่มีทั้งความรู้ ความเป็นตัวของตัวเอง และมีจิตใจอิสระ ที่จะเปิดใจกว้างเรียนรู้จากสิ่งใกล้และไกลตัว

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความรักและความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ศ.ระพี สาคริกได้ใช้กล้วยไม้สร้างคน โดยที่ตนเองแทบไม่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินใด ๆ นอกจากความเคารพรักที่มีอย่างมหาศาลจากทั่วสังคมไทย

อ้างอิงจากบทความ “เพียงข้าวเมล็ดเดียว”
เรียบเรียงโดย วันใหม่ นิยม