ประชุมนานาชาติ ระพีเสวนา ครั้งที่ 10​ ชูธงเป้าหมาย “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” Transformative Learning​

ระพีเสวนา

ภาคีสนับสนุน

สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพื่อรับใช้สังคม ร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ระพีเสวนา ครั้งที่ 10​  ประจำปี​ 2562 ในหัวข้อ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง”  Transformative Learning  หวังให้เป็นการเรียนรู้เพื่อสังคมที่ยั่งยืน  ที่สถาบันอาศรมศิลป์ พระราม 2 กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์  กล่าวถึงความมุ่งหวังของการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกิดชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการ ระหว่าง นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในสังคมไทยและนานาประเทศ จะได้ร่วมกันเสริมสร้างพลังเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายที่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)   จากประสบการณ์ตรงที่เกิดจากความเข้าใจ ฝึกฝน ใคร่ครวญ สะท้อนย้อนดูตน จนตระหนักรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้งจนก่อให้เกิดลักษณะและพฤติกรรม​พึงประสงค์  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นและเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืน 

ภายในงานประกอบด้วย การแสดงทัศนะต่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงโดยผู้เชี่ยวชาญ วงนำเสนอและแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงผลงานวิจัย (RoundTable) กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และเวทีเสวนานักเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงชาวไทยและภูฏาน  โดยสาระสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตรา- จารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช  นายแพทย์ นักการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ แสดงทัศนะในหัวข้อ  A Real Life  Perspective   นายแพทย์นิมรอด เชียนแมน (Nimrod Sheinman, N.D.) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกสติแห่งอิสราเอล  แสดงทัศนะในหัวข้อ The Arts at the Heart of Transformative Learning  และนายโจนาธาน  ซิลเวอร์แมน  (Jonathan Silverman, EdD) นักการศึกษา จากประเทศสหรัฐอเมริกา​ แสดงทัศนะ หัวข้อ The Arts at the heart of transformative Learning

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กล่าวถึง การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของชีวิต ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ของมวลมนุษยชาติ  เป็นเรื่องของชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ใช่เพียงแค่นักการศึกษาเท่านั้น สิ่งนั้น คือ การทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น   เป็นชีวิตที่มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งเกี่ยวข้องรอบตัวอย่างมีกระบวนการสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  อีกทั้งยังขยายความจากประสบการณ์ที่เคยได้ไปเข้าร่วมรับฟังในการประชุมร่วมกับองค์กร OECD ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงเรื่องสมรรถนะการเรียนรู้ในการเปลี่ยนแปลง (Transformative Competencies)  ​ ว่า​เป็นการสร้างคุณค่าใหม่  ซึ่งไม่ได้สร้างคนเดียว แต่ต้องเป็นการสร้างแบบกลุ่มคน ผ่านการนำไปปฏิบัติ  ยกตัวอย่างเช่น ใครที่ทำอะไรแบบแผลงๆ ต่างไปจากความคิดเดิม ๆ ที่ท้าทาย หรือการพบเจอกับความอึดอัดขัดแย้ง แต่ยังสามารถดำรงอยู่ให้ได้ด้วยความรับผิดชอบที่มีเบื้องหลังความคิดในตนเองว่าเป็นการทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นการฝึกทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการสะท้อนย้อนมองตน  จึงตีความออกมาได้ ว่า สมรรถนะการเรียนรู้จึงต้องมี 3 ประการเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน อันประกอบด้วย การลงมือปฏิบัติ (Action) ความอดทน (Tolerance)  และการสะท้อนย้อนมองตน (Reflection)

ด้าน นายแพทย์นิมรอด เชียนแมน (Nimrod Sheinman, N.D.) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกสติแห่งอิสราเอล นำเสนอทัศนะถึงการศึกษาในวันนี้และในอนาคตที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยมองว่าเราทุกคนล้วนต้องเป็นจุดเชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งในแวดวงการศึกษา มีคำหลายคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน เช่น คำว่า การเรียนรู้แบบองค์รวม  (Holistic  Learning)  ซึ่งมีวิธีการเรียนที่เราจะมองคนทั้งคนอย่างรอบด้าน หรือคำว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrative Learning) ซึ่งหมายรวมถึงการบูรณาการทั้งสมอง จิตใจและความรู้สึกนึกคิด และสำหรับคำว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) นั้นหมายถึง สิ่งที่เด็กและครูจะมีประสบการณ์จากกระบวนการบูรณาการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง ทั้งบุคลิกภาพ ทัศนคติ อารมณ์ ซึ่งเป็นการเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเชิงบวก 

การศึกษาจึงไม่ใช่การเติมน้ำให้เต็มถัง แต่ควรจะเหมือนการจุดไฟที่ถูกปลุกให้ลุกโชน เพราะจิตใจของเราไม่ใช่ภาชนะที่จะถูกเติมเต็ม แต่ควรได้รับการปลุกให้ลุกโชน โรงเรียนควรทำบทบาทการเติมเชื้อไฟแห่งการเรียนรู้ให้นักเรียน   การศึกษาต้องช่วยให้คนหนึ่งคนเติบโต มีวุฒิภาวะ มีเสรี เบ่งบานเหมือนดอกไม้ ดอกบัวที่ค่อย ๆ เปิดกลีบออกมาเห็นถึงความสวยงามและความดี” นายแพทย์นิมรอด กล่าว

นายโจนาธาน  ซิลเวอร์แมน  (Jonathan Silverman, EdD) นักการศึกษา ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับ ศิลปะที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง  The Arts at the Heart of Transformative Learning  โดยชี้ให้เห็นว่าอักษรสามตัวหลังของ Heart คือ Art   หมายถึง “ศิลปะ” ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง แต่นักการศึกษาจะต้องเปิดรับวิธีการใหม่ๆ โดยใช้ใจและความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตเป็นบุคคลที่มีความเอื้ออาทร และมีความรับผิดชอบต่อสังคม  

นายโจนาธาน  ซิลเวอร์แมน  (Jonathan Silverman, EdD)  เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตหนึ่งที่ตั้งใจจะเป็นนักกฎหมาย แต่อยู่วันหนึ่งเพื่อนชวนไปที่สตูดิโอดินเผา  จนเกิดความประทับใจ ชอบเล่นกับดินและโคลน เมื่อปั้นดิน การตั้งศูนย์ของดินทำให้เราได้ตั้งศูนย์ในตัวเองไปด้วย  และรู้สึกว่าการเรียนงานศิลปะนี้ทำให้เป็นทุกอย่าง  ได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นทั้งนักค้นคว้า วิศวกร นักเคมี นักประวัติศาสตร์  ช่างทาสี  และค้นพบว่า การเป็นศิลปินทำให้เป็นนักการศึกษาที่นำความสร้างสรรค์มาสู่ชั้นเรียน ทำให้กว่า 35 ปี ที่ทำงานด้านการศึกษานั้นได้เห็นพลังของการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในศิลปะ  ศิลปะจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ สามารถเปลี่ยนการเรียนรู้แบบเส้นตรง  ให้มีจินตนาการ มีความเข้าใจ และมีความเป็นองค์รวม อย่างที่เราเชื่อว่า ทุกคนมีความเป็นศิลปินอยู่ในใจ ดังนั้น การนำศิลปะเข้าไปอยู่ชั้นเรียนและโรงเรียน จึงเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึกและจินตนาการของนักเรียน  ทำให้เกิดความกล้าที่จะเรียนรู้  ส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถามอย่างไม่มีเงื่อนไข  เป็นการบ่มเพาะความปรารถนาที่จะเรียนรู้  ความสนใจ ความสนุกสนานและความรัก ครูอาจารย์ในโรงเรียนจึงต้องได้รับการเติมเต็มด้านศิลปะแบบบูรณาการ ให้เกิดการปลดปล่อยจินตนาการ เผชิญสิ่งที่ไม่รู้ บ่มเพาะความปรารถนาที่จะสื่อสารเชิงวิพากษ์  นำไปสู่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในห้องเรียนและโรงเรียน โดยตั้งคำถามอยู่เสมอว่าเราจะสอนอะไร สอนอย่างไร และมีความปรารถนาเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีผลงานวิจัย  “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” จากนักวิชาการ นักวิจัย และนักการศึกษาอีกมากมาย ทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวกับชุมชน โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรอื่นๆ อาทิ การจัดการเรียนรู้บูรณาการอาชีพ เรื่อง “ฮ่อยจ๊อ หรรษา” ที่ส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตของผู้เรียน การปรากฏตัวของทัศนศิลป์สื่อสารแง่งามในการทำงานกับมนุษย์ในงานสังคมสงเคราะห์  ความเสมอภาคทางเพศในชุมชนทางธรรม : กรณีศึกษาวัดพระธรรมจักร  ศิลปะบำบัดที่ใช้สติเป็นฐานจากมุมมองของนักบำบัด  กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งผลต่อการยอมรับของครูผู้สอน กรณีศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย   การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง  ก้าวสู่การปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ให้เป็นโรงเรียน 4.0 เพิ่มคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  อันเป็นผลของการประกาศเจตนารมณ์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง  จังหวัดศรีสะเกษ แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิบัติการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  เป็นต้น

ผู้สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) สามารถติดตามชมวิดีทัศน์การบรรยายย้อนหลังได้ที่ Arsomsilp Channel สถาบันอาศรมศิลป์ 

Nimrod Sheinman, N.D.

Director, Israel Center for Mindfulness in Education and Founder of the International Soul of Education Initiative
 

Prof. Jonathan Silverman, Ed.D.,

Department of Education, Saint Michael’s College, USA,
2018 Vermont Art Educator of the year.
 

Prof.Vicharn Panich, M.D.,

Medical Doctor, Education Philosopher and​ Chairman, Arsom Silp Institute of the Arts Council