เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต| ‘เรียนรู้องค์รวม สู่การเปลี่ยนแปลง’ : ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

เรียนรู้องค์รวม สู่การเปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล
มีความสนใจในประเด็นการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ท่านมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลายเล่ม แต่เล่มที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งก็คือ หนังสือ ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: Transformative Learning’ ที่ตีความจากหนังสือ ‘Transformative Learning in Practice: Insights from Community, Workplace and Higher Education’ โดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor และคณะ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการหาความหมายว่าเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างแท้จริงนั้นคืออะไร

ในมุมมองของนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่มีเป้าหมายในการทำให้นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นด้วยตัวเอง ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันระหว่างการเรียนรู้องค์รวม (Holistic Learning) และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) รวมถึงได้อธิบายวิธีในการทำให้เด็กไทยยุคใหม่สามารถเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง อันหมายถึงการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้างให้ดีขึ้นไว้อย่างชัดเจน

คำนิยามของการเรียนรู้องค์รวม (Holistic Learning) ในแนวทางของระบบการศึกษาในมุมมองของอาจารย์หมายถึงอย่างไร

      ในความเห็นของผมซึ่งไม่ใช่คนที่จบการศึกษาด้านการศึกษาโดยตรง แต่ว่ามีความสนใจในด้านนี้ ผมมองว่าการเรียนรู้องค์รวม หรือ Holistic Learning นั้น ถ้าจะพูดให้จำได้ง่ายๆ ก็คือสิ่งที่ประกอบด้วย 3H 1D และ 1T หมายความว่าการเรียนรู้นั้นทำให้เกิดผลการเรียนรู้ในหลายๆ มิติไปพร้อมๆ กันอย่างครบถ้วน ดังต่อไปนี้

      H ที่สำคัญที่สุดคือ Heart หรือจิตใจ ซึ่งรวมไปถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม การเห็นแก่ผู้อื่น ความมั่นใจในตัวเอง ความเข้าใจในตัวเอง การเข้าใจในข้อจำกัดและเข้าใจในศักยภาพของตนเอง การมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ H ตัวแรกตัวเดียวก็มีความหมายและการเชื่อมโยงที่กว้างขวาง และมีวิธีการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นอยู่กับระดับของพัฒนาการในการเรียนรู้ในตัวเด็กหรือแต่ละบุคคล

      H ที่ 2 คือ Hand หรือ ทักษะ (Skill) ระยะหลังมักใช้คำว่า Competency คือขีดความสามารถ สมรรถนะ การปฏิบัติได้ เช่น ในการเป็นแพทย์ เราต้องมีทักษะทางวิชาชีพเพื่อรักษาคนไข้ แต่ในชีวิตของคนเรานั้นยังต้องมีทักษะอีกหลากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะในฐานะความเป็นมนุษย์ ในฐานะของการเป็นสามี ในฐานะของการเป็นภรรยา ในฐานะของการเป็นแม่ ในฐานะของการเป็นพลเมือง หรือในฐานะของการเป็นครู ที่เราจำเป็นต้องมีพฤติกรรมและมีการปฏิบัติที่ถูกต้องในแต่ละบทบาทของเราที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความซับซ้อนมาก และในแต่ละคนก็ต้องทำได้ในหลายๆ บทบาทหน้าที่

      โดยทั้ง Heart และ Hand นั้นต่างต้องการความรู้พื้นฐานที่มาจาก Head คือ สมอง ซึ่งเป็นความสามารถทางการคิดเหมือนกัน แต่การคิดนั้นก็เป็นความสามารถที่มีระดับขั้นต่ำและขั้นสูง การคิดที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ได้นั้นเป็นความสามารถในการคิดขั้นสูง ซึ่งต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญคือ ตัว D ได้แก่ Deep Learning หรือ Deep Thinking ซึ่งเป็นทักษะที่บอกว่า การเรียนที่ถูกต้องนั้นต้องไม่ใช่การเรียนรู้แบบตื้นๆ เท่านั้น โดยการเรียนแบบตื้นๆ ก็คือการเรียนแค่พอจำได้ เมื่อครูมาบอกก็จดไว้เพื่อท่อง เมื่อใครมาถามตรงกับที่จดไว้ก็สามารถตอบได้ นี่คือการเรียนแบบตื้น แต่การเรียนรู้แบบลึกจะลึกซึ้งกว่านั้น เพราะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ สามารถอธิบายข้อสงสัยได้อย่างแม่นยำ จนในที่สุดการเรียนรู้แบบลึกจะทำให้เราสามารถสร้างความรู้ด้วยตัวเองได้ ซึ่งก็คือ ตัว T ตัวสุดท้าย นั่นก็คือ Transformative Learning

      Transformative Learning คือการเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เปลี่ยนแปลง ความรู้ที่ตนเคยมีเป็นความรู้อีกชุดหนึ่ง เปลี่ยนไปถึงในระดับกระบวนทัศน์ เมื่อเรามีความรู้ในแบบ Transformative Learning สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการมีฉันทะ มีวิริยะ และมีสมรรถนะในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เกิดทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skill) การมีทักษะความเป็นผู้นำนั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปเป็นหัวหน้าใคร แต่หมายความว่าเราสามารถไปร่วมกับผู้อื่นเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เปลี่ยนแปลงหน่วยงาน เปลี่ยนแปลงชุมชน เปลี่ยนแปลงสังคม หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของเราก็ตาม ผมคิดว่านี่คือเป้าหมายของสิ่งที่เรียกว่า Holistic Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ในหลายมิติอย่างแท้จริง และนี่คือคำนิยามของการเรียนรู้แบบองค์รวมจากมุมมองด้านการศึกษาสมัยใหม่ตามความเข้าใจของผม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช 

การเรียนรู้เพื่อมี Transformative Learning อันจะนำไปสู่การมี Leadership Skill ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อย่างไรบ้าง

      กลไกไปสู่ Holistic Learning ต้องการการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างที่สำคัญ คือ เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย, เปลี่ยนแปลงครู เปลี่ยนทักษะของครู เปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับการสอนของครู และเปลี่ยนกระทรวงศึกษาธิการ

      การเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้หรือวิธีการที่ครูสอนนักเรียนนั้น ครูต้องไม่จัดการเรียนการสอนแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป แต่ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้ปฏิบัติได้ลงมือทำแล้วเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นเอง ข้อมูลนี้มาจากทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ซึ่งเผยแพร่กันมาราวสิบปีแล้ว เป็นทฤษฎีที่มาจากการวิจัยว่าสมองทำหน้าที่อย่างไรและการวิจัยด้านทฤษฎีการเรียนรู้ที่เรียกว่า Cognitive Psychology ซึ่งสรุปความได้ว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการที่มีใครมาบอก แต่เกิดจากการที่ตนเองได้สัมผัสเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ จนได้ข้อมูลกลับมาไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) จนเกิดเป็นการเรียนรู้ขึ้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากภายใน

      การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ขาเข้า คือการนำความรู้จากการปฏิบัติเข้าไปในสมองเพื่อทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจ แต่การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นั้นต้องผสมผสานกับการเรียนรู้ขาออกด้วย โดยการเรียนรู้ขาออกนั้นคือการสอนผู้อื่น การเขียน Reflective Journal การทำ Reflection ร่วมกันเพื่อฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้เช่นกัน

      ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้หลายร้อยโรงเรียน โดยโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็เป็นโรงเรียนหนึ่งในนั้น ผมได้ไปเห็นที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่นั่นเด็กอนุบาลมีการเขียน Mind Map เพื่ออธิบายสิ่งที่ตัวเองได้ลงมือทำและเรียนรู้ทั้งๆ ที่พวกเขายังเขียนหนังสือไม่คล่องด้วยซ้ำ แต่นี่คือการเรียนรู้ คุณจะเห็นว่าที่หน้าชั้นเรียนของโรงเรียนแบบนี้จะมีผลงานของ เด็กติดเต็มไปหมด เพราะนี่คือกระบวนการ ที่เด็กได้เรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง

      การเรียนรู้แบบนี้ทำให้เกิดองค์ความรู้แบบ Holistic Learning เด็กยังจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน (Collaboration) เพราะความสามารถ (Competency) ที่มนุษย์สมัยนี้ต้องการนั้นไม่ใช่การแข่งขัน(Competition) แต่คือการ Collaboration เด็กจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อทำให้ตนเองเข้าใจเพื่อน และทำให้เพื่อนเข้าใจตนเองได้ด้วย สิ่งเหล่านี้คือการสื่อสาร (Communication)

      จะเห็นได้ว่าในกระบวนการเรียนแบบ Activity Based Learning นั้น เด็กจะได้เรียนสารพัดด้าน จึงเป็น Holistic Learning นั่นเอง

การมีปฏิสัมพันธ์คืออย่างเดียวกับการมีกัลยาณมิตรในการเรียนรู้หรือไม่

      เป็นการอธิบายในอีกรูปแบบหนึ่งในมุมมองของผม นี่คือกระบวนการ Socialization เพราะการเรียนเป็นกระบวนการทางสังคม การเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ที่ต้องร่วมกับคนอื่น ไม่ใช่การเรียนโดยลำพัง ซึ่งเป็นที่มาของการที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน ครูต้องมีวิธีในการชวนเด็กคุยเพื่อสร้างความพิศวง ความฉงน ความสงสัย และกระตุ้นให้นักเรียนออกไปหาความรู้ด้วยตนเอง

     ครูจึงมีหน้าที่สร้างโจทย์ ออกแบบกิจกรรม โดยโจทย์และกิจกรรมนั้นต้องเป็นของเด็ก การเรียนรู้แบบเก่านั้นทั้งโจทย์ และกิจกรรมเป็นของครูทั้งหมด นักเรียนมีหน้าที่ทำตามที่ครูบอกเท่านั้น แต่การเรียนรู้สมัยใหม่ไม่ใช่อย่างนั้น นอกจากนั้นครูยังต้องมีความรู้ในการประเมินว่าเด็กเรียนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ (Formative Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งแตกต่างจากการประเมินให้ได้หรือตก (Summative Evaluation)

      การประเมินแบบ Formative Assessment ครูต้องมีทักษะในการประเมินว่าเด็กคนไหนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้อย่างไร และครูต้องมีวิธีการนำผลการประเมินย้อนกลับไปที่เด็กเพื่อให้เด็กเรียนรู้ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ให้ได้ การมีฟีดแบ็กแบบนี้เรียกว่า Constructive Feedback เป็นฟีดแบ็กเชิงสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่าครูไม่ได้สอนเนื้อหา แต่ทำหน้าที่ดูกระบวนการทั้งหมด

      อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือครูต้องเปลี่ยนทักษะ เปลี่ยนวิธีการเป็นครูจากการมุ่งถ่ายทอดความรู้ มุ่งสร้างความหวาดกลัวเพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน มุ่งคอยดุให้เด็กอยู่เงียบๆ เพื่อให้ตนเองเป็นผู้พูดฝ่ายเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นพฤติกรรมในการชวนเด็กตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือครูต้องมีทักษะในการมองผ่าน (See Through) เข้าไปในสมองของเด็ก ภาษาวิชาการเรียกว่า Visible Learning เป็นการที่ครูทำให้การเรียนรู้ของลูกศิษย์นั้น Visible สำหรับครูและเด็กด้วย เด็กก็ได้รู้ว่าเขาได้เรียนรู้อะไร ครูเองก็รู้ว่าเด็กคนไหนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ระดับไหน ครูต้องรู้ว่าเด็กคนที่มีประสิทธิผลในการเรียนรู้ดีนั้น แตกต่างจากเด็กที่ไม่มีประสิทธิผลตรงไหน ซึ่งในประเทศไทยมีครูอยู่จำนวนหนึ่งจากโรงเรียน 200-300 โรงเรียนที่มีทักษะเหล่านี้

      แต่ที่น่าเสียดายคือทักษะนี้ไม่ได้มาจากคณะครุศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยเลย เราจึงต้องเปลี่ยนกระทรวงศึกษาธิการ เพราะถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังเป็นอย่างนี้อยู่ ทักษะเหล่านี้ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะกระทรวงจะสั่งการอย่างลงรายละเอียดทั้งหมดว่าครูจะต้องสอนอย่างนี้ ต้องประเมินอย่างนี้ ต้องจัดสอบอย่างนี้ ทำให้ครูไม่เกิดอิสระในการเรียนการสอน การเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพนั้นครูต้องมีอิสระ กระทรวงศึกษาธิการควรมีหน้าที่แค่ตั้งเป้าหมายว่าเด็กไทยในแต่ละวัยควรมีผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างไรบ้าง และหาวิธีในการประเมินว่าได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แต่ขณะนี้กระทรวงศึกษาใช้วิธี top-down สิ่งที่ครูและโรงเรียนมักจะทำเพื่อเอาตัวรอดก็คือการหลอกกระทรวง เมื่อเป็นอย่างนั้นเด็กก็ขาดทุน เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้จริง ซึ่งเสียหายมาก เมื่อวงการ ศึกษาไม่ได้ทำให้ครูซื่อสัตย์เสียแล้ว เราจะสร้างพลเมืองที่ซื่อสัตย์ได้อย่างไร

..

Transformative Learning คือการเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้ มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เปลี่ยนแปลงความรู้ที่ตน เคยมี เป็นความรู้อีกชุดหนึ่ง เปลี่ยนไปถึงในระดับกระบวนทัศน์ เมื่อเรามีความรู้ในแบบ Transformative Learning สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการมีฉันทะ มีวิริยะ และมีสมรรถนะในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เกิดทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skill) การมีทักษะความเป็นผู้นำไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปเป็นหัวหน้าใคร แต่หมายความว่าเราสามารถไปร่วมกับผู้อื่นเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง

..

ในกระบวนการการเรียนรู้แบบ Holistic Learning นั้น ครูจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดใช่ไหม

      หากดูอย่างผิวเผินจะเหมือนครูไม่สำคัญ เพราะสมัยนี้เราสามารถหาความรู้ได้จากปลายนิ้ว แต่ที่จริงแล้วความรู้ที่เราหาได้จากปลายนิ้วนั้นบางครั้งเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เป็นความรู้ตื้นๆ ก็เยอะ เป็นความรู้ผิดๆ ก็เยอะ สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าความรู้ที่ได้จากปลายนิ้วนั้นอันไหนเป็นความรู้จริง อันไหนเป็นความเท็จ รู้ว่าอันไหนเป็นความรู้ที่ลึก อันไหนเป็นความรู้ที่ตื้น และรู้ว่าในแต่ละสถานการณ์ควรจะใช้ความรู้ชุดไหน นี่คือความซับซ้อน เพราะฉะนั้นพลเมืองรุ่นใหม่ควรจะมีความสามารถในการประเมินความรู้และประมวลความรู้ คือการนำความรู้หลายส่วนมาต่อกันแล้วนำความรู้เหล่านั้นมาเป็นข้อมูลเพื่อยกระดับความรู้ของตนเองขึ้นไปอีก โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้น ตั้งคำถาม ยั่วยุ ให้เกิดการเรียนรู้

..

หากดูอย่างผิวเผินจะเหมือนครูไม่สำคัญ เพราะสมัยนี้ เราสามารถหาความรู้ได้จากปลายนิ้ว แต่ที่จริงแล้วความรู้ที่เราหาได้จากปลายนิ้วนั้นบางครั้งเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เป็นความรู้ตื้นๆ ก็เยอะ เป็นความรู้ผิดๆ ก็เยอะ สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าความรู้ที่ได้จากปลายนิ้วนั้นอันไหนเป็นความรู้จริง อันไหนเป็นความเท็จ รู้ว่าอันไหนเป็นความรู้ที่ลึก อันไหนเป็นความรู้ที่ตื้น และรู้ว่าในแต่ละสถานการณ์ควรจะใช้ความรู้ชุดไหน นี่คือความซับซ้อน เพราะฉะนั้นพลเมืองรุ่นใหม่ควรจะมีความสามารถในการประเมินความรู้และประมวลความรู้ คือการนำความรู้หลายส่วนมาต่อกันแล้วนำความรู้เหล่านั้นมาเป็นข้อมูลเพื่อยกระดับความรู้ของตนเองขึ้นไปอีก โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้น ตั้งคำถาม ยั่วยุ ให้เกิดการเรียนรู้

..

การเปลี่ยนครูทั่วไปให้เป็นครูที่มีทักษะเหล่านี้ต้องทำอย่างไร

      ง่ายนิดเดียว คือทำให้เขาเห็นครูคนอื่นที่มีทักษะแบบนี้ และทำให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อเด็กยังไง ผมมีความเชื่อว่าคนที่เป็นครูทุกคนมีเป้าหมายในการเป็นครูที่ดี แต่บังเอิญว่าการไปเรียนครูทำให้เขาเป็นครูในศตวรรษที่ 19 หรือศตวรรษที่ 20 เขาจึงไม่มีทักษะในการเป็นครูในศตวรรษที่ 21

เมื่อครูมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เด็กเกิดความรู้ในการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผลกระทบต่อไปที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

      เปลี่ยนแน่นอนครับ สังคมของเราก็จะเป็นสังคมที่สร้างนวัตกรรมได้ เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนที่สร้างนวัตกรรมได้ เพราะเมื่อเขาเห็นอะไร เขาก็จะเกิดการเรียนรู้และหาลู่ทางที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา เขาจะเป็นคนที่มีวิธีคิดที่มีพลัง มีความมั่นใจในตนเอง และเคารพคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย