เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘บทเรียนจากบ้านเรียน’ : คฑา มหากายี

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

บทเรียนจากบ้านเรียน

คฑา มหากายี

คฑา มหากายี

ไม่ผิดนักถ้าจะนิยาม โอ๊ค-คทา มหากายี ว่าเป็น ‘นักเปลี่ยนแปลงการศึกษา’

จากชายที่ชื่นชอบในธรรมชาติชนิดเข้าขั้นที่เขานิยามตัวเองว่า ‘หลงป่า’ กระทั่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จัดค่ายศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ซึ่งการทำงานร่วมกับโรงเรียนนี้เองที่ทำให้เขาค้นพบปัญหาบางอย่างในระบบ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อตัวนักเรียนทั้งในแง่กระบวนการเรียนรู้และหมายรวมไปถึงความสุขของพวกเขา

โอ๊คมองเห็นว่าระบบการศึกษาไทยนั้น ‘ไร้ความรู้สึก’ และตลอดชีวิตหลังจากนั้นของเขาก็ทุ่มเทให้กับการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในฐานะผู้ร่วมร่างหลักสูตรโรงเรียนทางเลือก รวมถึงหนึ่งในผู้ร่วมวงประชุมวิชาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษานับจำนวนครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับเชิงโครงสร้างใหญ่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ปัจจุบัน โอ๊คและภรรยาตัดสินใจพาลูกๆ ออกจากโรงเรียนในระบบ เปลี่ยนสถานะตัวเองเป็น ‘พ่อและครู’ ของลูกๆ ที่ ‘บ้านเรียนช้างเผือก’ โฮมสคูลที่เขาเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและสอนด้วยตัวเอง ณ บ้านมาลาดาราดาษ บ้านใกล้ชิดธรรมชาติของเขากับภรรยาและลูกๆ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถอดเอาบทเรียนที่่เขาได้รับตลอดการทำงานมาปรับร่วมกับลูกๆ และทำให้การศึกษาในบ้านเรียนแห่งนี้ ‘มีความรู้สึก’

แล้วการศึกษาที่มี ‘ความรู้สึก’ ที่โอ๊คเชื่อนั้น ดีกว่าและเป็นเช่นไร ลองตามเข้ามาในห้องเรียนบ้านเรียนช้างเผือก ที่มีธรรมชาติและโลกทั้งใบเป็นบทเรียนดู

ความรู้สึกที่หายไป

      ชีวิตการเป็นนักเรียนและนักศึกษาของโอ๊คก็เหมือนกับใครหลายคน เข้าเรียนในระบบตามปกติและในระบบนี่เองที่เริ่มทำให้เขาสะสมข้อกังขาในระบบที่เขาอยู่ และเป็นคำถามเกี่ยวกับการศึกษาที่ฝังอยู่ในใจเขาและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

      “สมัยที่ผมเรียนอยู่มหา’ลัย คณะที่ผมกำลังศึกษาอยู่ เขาจะเปิดภาควิชาใหม่ แต่มีสองเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะเปิดอะไรดี ก็ให้เด็กและอาจารย์โหวต ซึ่งเด็กส่วนใหญ่โหวตกันที่วิชาหนึ่งที่คิดว่าควรจะมี ด้วยเหตุผลว่ามันกำลังจะมา เป็นเทคนิคใหม่” ผลสุดท้ายคณะของเขาก็เลือกเปิดอีกสาขาด้วยเหตุผลด้านตลาดงานรองรับที่แน่นอนกว่า

      “พอรู้ผล เราก็ช็อกไปนิดหนึ่งว่า โอ้…นี่เราโง่มาตลอดเลยนะ ความพยายามในการเรียน ก็แค่เรียนเพราะมีตลาดรองรับ แสดงว่าเป้าหมายทางการศึกษาทั้งหมดในชีวิตก็เพื่อให้สร้าง puzzle หรือชิ้นส่วนหนึ่ง เข้าไปในระบบธุรกิจ เราพยายามกันแทบตายเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็เพื่อไปเป็นอะไรสักอย่างในระบบที่ถูกกดดันมาจากภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัย สมัยนี้ยิ่งกดดันลงไปถึงระดับอนุบาล

      “พอการศึกษาส่วนใหญ่พูดถึงการฝึกคนให้เข้าไปอยู่ในตลาด แล้วความฝันคุณหายไปไหน เมื่อคุณตัดความรู้สึกเขาออก ตัดความฝันเขาออก วันหนึ่งมันก็ไม่มีความหมาย คนยุคผม เราไปทำงานอย่างรอคอยวันศุกร์ พอถึงวันศุกร์ปุ๊บต้องรีบมีความสุขแล้ว …คำถามหนึ่งที่ถามกันบ่อยมาก คือ ชีวิตมีความหมายตรงไหนกัน”

      โอ๊คเก็บคำถามที่มีค้างไว้อยู่ในใจ เดินหน้าต่อไปในชีวิต กระทั่งเขาเริ่มทำกิจกรรมของมูลนิธกระต่ายในดวงจันทร์ร่วมกับเด็กๆ ปัญหาก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

      “มีเรื่องหนึ่งที่เราเจอบ่อยมากตอนทำค่ายสิ่งแวดล้อม คือมีน้องบางคนไม่ได้รับการสนับสนุนให้มา เพราะมันเป็นค่ายที่มีกระบวนการระยะยาวหนึ่งปี ซึ่งมันยาวนานนะ บางครั้งเด็ก ม.ปลาย ก็ติดเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่เขามีจุดประสงค์ทางการศึกษาบางประการ ทำให้เด็กบางคนถึงขั้นต้องหนีมา เราเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องหนีเพื่อมาหาสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนรู้

      “ในการศึกษากระแสหลัก มันมีกรอบบางอย่างที่เด็กเขาไม่อยากได้แต่ก็ต้องทำ เมื่อบางคนไม่ยอมทำตาม เขาก็ต้องหนี มันไม่ง่ายนะ อาจเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์ของเด็กคนหนึ่ง โอเคว่าการดิ้นรนออกจากกรอบของบางคนเป็นเรื่องง่าย แต่กับบางคนก็ยากมาก… สำหรับคนที่ถึงกับต้องหนีมา เราอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงไม่อยากอยู่ตรงนั้น มันทำให้เขาเกิดปัญหาอะไร? สุดท้ายก็ค้นพบว่า เฮ้ย…ก็เพราะการศึกษาที่ซัดแต่ทฤษฎี ให้แต่การท่องจำ ดึงความรู้สึกของผู้เรียนออกทั้งหมด แบบนี้มันไม่ได้สนใจความรู้สึกของเด็กเลยนี่นา”

บทเรียนของการอยากมี ‘ความรู้สึก’

      ปัญหาที่เขารับรู้ได้จากเด็กๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้กลายเป็นแรงผลักดันมหาศาลที่ทำให้เขาหน้าเดินพยายามเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระดับโครงสร้าง แน่นอนว่ารากของการศึกษาในบ้านเราเป็นอย่างนี้กันมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมีเวทีไหนที่เปิดให้มีการถกเถียงหรือเสนอแนวทางกันในเรื่องนี้ โอ๊คไม่พลาดโอกาสที่จะไปเข้าร่วมและเขาเรียกการไปร่วมของเขาเกือบทุกครั้งว่าคือการ ‘พลีชีพ’ เพราะสิ่งที่เขาคิดเสนอนั้นมันคือการปฏิวัติวงการศึกษาเสียใหม่ และเหมือนเสียงของเขาก็ไม่เคยเป็นผลกับคนทำงานในระดับนโยบาย

      เมื่อไม่สมหวัง เขาก็ย้ายลงมาทำงานเชิงโครงสร้างระดับกลาง เข้าไปลองเป็นครูในมหาวิทยาลัย ไล่เรียงไปจนถึงการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างหลักสูตรโรงเรียนทางเลือก ค่อยๆ เล็กลงมาอีกคือการสร้างโรงเรียนอนุบาล เป็นความพยายามไม่สิ้นสุดเท่าที่เขาจะสามารถพยายามต่อไปได้

      “เราต้องพยายาม พยายามต่อไปถึงแม้มันจะดูโง่ ดูเข้าใจช้า แต่หน้าที่ของเราก็คือหน้าที่ของเรา เราเกิดมามีหน้าที่แบบนั้นเลย” เขาพูดด้วยแววตาจริงจัง “มันก็มีช่วงที่รู้สึกว่าอกหักเหมือนกันนะ แต่ไม่ใช่อกหักกับคน เราอกหักกับโครงสร้างที่ไม่มีหัวใจ มันน่าเจ็บใจ ตอนที่เราทำค่ายสิ่งแวดล้อม เราก็ล้อเล่นกับคำ ‘กระทรวงศึกษา’ ให้เป็น ‘ทรวงศึกษา’ เป็นการศึกษาที่มีหัวใจ แต่นานไปเราก็เริ่มเข้าใจ ว่าแต่ละคนก็มีทางของเขา การไปบอกว่าเขาไม่ดีตรงไหนอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การทำในทางของเรา ชวนคิดว่าถ้าไม่ใช่แบบนั้น มันจะมีทางอื่นบ้างไหม เราทำตรงนั้นไม่ได้ ก็มาทำอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วก็พบว่า เฮ้ย…มันทำได้นี่นา และทุกวันนี้ก็สมจริงขึ้นเรื่อยๆ และจริงกว่าที่เคยฝันเอาไว้”

      สิ่งที่โอ๊คหมายถึงก็คือการถอยกลับมาสู่โครงสร้างการศึกษาที่เล็กที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นแรกของเด็ก นั่นก็คือ ครอบครัว …ครอบครัวของเขาเอง

..

พอการศึกษาส่วนใหญ่พูดถึงการฝึกคนให้เข้าไปอยู่ในตลาด แล้วความฝัน คุณหายไปไหน เมื่อคุณตัดความรู้สึกเขาออก ตัดความฝันเขาออก วันหนึ่ง มันก็ไม่มีความหมาย คนยุคผม เราไปทำงานอย่างรอคอยวันศุกร์ พอถึง วันศุกร์ปุ๊บต้องรีบมีความสุขแล้ว ...คำถามหนึ่งที่ถามกันบ่อยมาก คือ ชีวิต มีความหมายตรงไหนกัน

..

การศึกษาที่มี ‘ความรู้สึก’

      โอ๊คตัดสินใจร่วมกันกับครอบครัว ร่างหลักสูตร ‘บ้านเรียนทางช้างเผือก’ ขึ้นมาจากบทเรียนที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิต จนเมื่อทุกอย่างพร้อม เขาก็พาลูกๆ ของเขาออกจากระบบการศึกษาทั่วไป รับกลับมาที่บ้าน มาเรียนรู้ภายในบ้านเรียนทางช้างเผือก

      “เราตั้งเป้าหมายบ้านเรียนทางช้างเผือกไว้สามข้อ ใฝ่รู้ ใฝ่สำเร็จ และสร้างสรรค์” หลัก 3 ข้อ ที่ยึด ‘ความรู้สึก’ ของผู้เรียนเป็นที่ตั้งสำคัญ ซึ่งลูกๆ ของเขาจะมีส่วนร่วมในการกำหนดวิชาและสิ่งที่อยากเรียนรู้ในแต่ละวัน และการที่ผู้เรียนสามารถตัดสินใจสิ่งที่อยากจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองนี่เอง คือกระบวนการให้ค่าทาง ‘ความรู้สึก’ ที่โอ๊คหมายถึง และอยากให้กระบวนการศึกษาให้ความสำคัญ

      “สิ่งนี้จะทำให้เขารักษาความ ‘ใฝ่รู้’ เอาไว้ได้ มันเป็นธรรมชาติที่ทุกชีวิตเกิดมาแล้วมี แต่มันหายไปไหน เราคิดว่าบ้านเรียนเราน่าจะตั้งข้อนี้ไว้ สอง ‘ใฝ่สำเร็จ’ เมื่ออยากรู้อยากเห็นและลงมือทำ มันก็ต้องมีสิ่งที่เราห่วงคือ ใฝ่สำเร็จ ทำอะไรก็ให้สำเร็จ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ แล้วปล่อยทิ้งไป สุดท้ายเพื่อไม่ให้ความใฝ่รู้และใฝ่สำเร็จนำไปสู่ทางมิจฉา เพราะทั้งสองอย่างนั้นเป็นโจรก็ได้ เลยคิดว่าต้องมีอย่างที่สาม คือความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความหมายของมันเอง ความสร้างสรรค์ คือ ความเป็น Positive”

      ที่สำคัญหลักทั้งหมดของบ้านเรียนแห่งนี้ยังวางหัวใจไว้ที่ธรรมชาติ ไม่ต้องแบ่งห้องเรียน ไม่ต้องแบ่งกลุ่มสาระวิชา เมื่อเท้าของเราติดดินและมีชีวิตติดป่า ธรรมชาติจะกลายเป็นห้องเรียนที่สมบูรณ์ แบบโดยตัวมันเอง และบรรจุทุกวิชาไว้ในนั้นอย่างมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน

      “ตอนที่ผมทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วพาเด็กๆ เข้าป่า มันมีทุกอย่างเยอะไปหมด เรารับรู้รวมๆ ว่านี่คือ ‘ป่า’ แต่รายละเอียดของมันอย่าง ต้นนี้คือต้นอะไร ใบอะไร มีแมลงมั้ย ดินเป็นอย่างไร ดินมีแร่อะไร เราไม่ค่อยรู้ รู้แต่ว่ามันคือ ‘ป่า’ ด้วยความที่ป่าซับซ้อนมาก เราเลยแยกการเรียนรู้เป็น element ทีละเรื่อง เริ่มจากให้เขาดูสีก่อน ดูเส้น ดูทรง สุดท้ายการเรียนเลยออกมาเป็นการบันทึกธรรมชาติหลายๆ แบบ เช่น บันทึกสีหิน บันทึกสีดอกไม้ สีดิน สีท้องฟ้า จากนั้นก็ค่อยไปเรียนเรื่องที่ซับซ้อน เช่น แมลง”

      “คนส่วนใหญ่จะสับสนระหว่าง ด้วงเต่า กับ เต่าทอง ตอนแรกเราก็เข้าใจว่ามันคือเต่าทองนะ แต่พอศึกษาดูจะพบว่า ปีกแววๆ ถึงจะเรียกว่าด้วงเต่า ปีกที่ใสๆ ข้างหนึ่งจะเรียกว่าเต่าทอง ทั้งหมดนี้ เราไม่เคยรู้มาก่อนเล แต่ลูกของเรา ไปศึกษาจนรู้แล้วเอามาเล่าให้เราฟัง เราก็แทบไม่เอะใจเลยว่าในเต่าทองมันมีด้วงเต่าอยู่ในนั้น… มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย… กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เขา ‘อิน’ (เน้นเสียง) เขาอยู่กับมันสามเดือน ง่วนกับมัน ค้นหามัน การจะง่วนกับอะไรได้นานขนาดนี้ เขาต้องเป็นคนเลือกเองนะ” นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาที่โอ๊คเลือกที่จะให้ลูกเป็นคนนำ

      นอกจากหลักการ ใฝ่รู้ ใฝ่สำเร็จ และสร้างสรรค์ ที่โอ๊คตั้งเป้าไว้ สิ่งสำคัญที่สุดของโรงเรียนบ้านทางช้างเผือกที่เขาย้ำว่าสำคัญที่สุดอีกอย่าง ก็คือ ‘การสังเกต’

      “ทักษะเรื่องการสังเกต มันไม่ได้เป็นทักษะที่วิเศษวิโส แปลกประหลาดไปกว่าอย่างอื่นหรอกครับ แต่มันเป็นความใส่ใจ ไม่เพิกเฉย และถึงจุดหนึ่งมันจะพัฒนาไปถึงจุดที่เรียกว่า ‘empathy’ คือ การสังเกตจนรู้สึกรู้สมถึงสิ่งนั้น เวลาที่เรียนรู้เรื่องนก ฟังเสียงนก เขาจะรู้สึกได้ว่า
มันคืออารมณ์นี้นะ รับรู้ว่านกกำลังทุกข์หรือสุข ไม่ใช่แค่รู้ว่าพันธุ์นี้หายาก”

      นี่คือการพัฒนาเรื่องของอารมณ์ที่เริ่มจากผู้เรียนไปสู่การที่ผู้เรียนรับรู้อารมณ์ของสิ่งรอบของกระบวนการเช่นนี้ได้ทำให้ตัวลูกๆ ของเขาสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกที่เขาอยู่ได้อย่างแนบชิด และรู้จักที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า อย่างตระหนักในหน้าที่ด้วยตนเอง

      ที่บ้านเรียนทางช้างเผือกทุกคนในบ้านจะมี ‘หน้าที่’ ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบอยู่ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ตัวผู้ทำเป็นคนเลือกเอง และต้องมีความหมาย ลูกของเขาคนหนึ่งเลือกที่จะเลี้ยง ‘ไก่’ โอ๊คทำความเข้าใจกับลูกว่า เขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลไก่เองทั้งหมด เมื่อลูกเขาตกลง โอ๊คก็ไปหาซื้อลูกเจี๊ยบ 4 ตัว นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน หลังจากนั้นกิจวัตรประจำวันของที่บ้าน ลูกของเขาคนนี้จะตื่นก่อนเป็นคนแรกเสมอ เพื่อที่จะไปให้อาหารไก่ที่เลี้ยงไว้

      กระทั่งผ่านไป 7 เดือน โอ๊คกับครอบครัวจะมีกิจกรรมนั่งล้อมคุยกันสบายๆ เป็นประจำ วันนั้นเขาเริ่มต้นหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องความรัก โดยเริ่มเล่าเรื่องราวสิ่งที่เขารักให้ลูกๆ ได้ฟัง ก่อนถามลูกๆ ของเขาเกี่ยวกับเรื่องความรัก ลูกของเขาตอบกับเขาว่า เขารู้สึกรักไก่ที่เลี้ยง …แต่ลูกของเขายังอธิบายเพิ่มเติมต่อไปด้วยว่าเขารู้แล้วว่าที่พ่อรักเขาหมายถึงอะไร รู้ว่าทำไมพ่อถึงต้องดุ ทำไมถึงคอยทำสิ่งดีๆ ให้เขา

      มากไปกว่าการรับรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่โอ๊คตั้งใจไว้ การที่ลูกของเขาได้กลายเป็นพ่อของไก่ที่เขาเป็นคนเลือกจะเลี้ยงเอง ได้ทำให้ลูกของเขาเรียนรู้เรื่อง ‘ความรัก’

      และคงเป็นบทเรียนจากการเรียนรู้ที่ทำให้บ้านเรียนทางช้างเผือกแห่งนี้ของเขาเต็มไปด้วยความรู้สึกดีและเป็นสุขไม่น้อย

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย