เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘โยคะเพื่อตัวเรา, ตัวเราเพื่อทุกสรรพสิ่ง, ทุกสรรพสิ่งคือเรา’ : ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

โยคะเพื่อตัวเรา,
ตัวเราเพื่อทุกสรรพสิ่ง,
ทุกสรรพสิ่งคือเรา

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

สถาปนิกชุมชนและครูโยคะ

โยคะเพื่อตัวเรา, ตัวเราเพื่อทุกสรรพสิ่ง, ทุกสรรพสิ่งคือเรา ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

      ปัจจุบัน ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (Asian Coalition for Housing Rights – ACHR) 

      จากประสบการณ์ทำงานด้านสถาปนิกชุมชนมายาวนาน ทุกวันนี้งานของเขาคือ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลนหรือประสบปัญหาต่างๆ หลายรูปแบบ ที่อาจเป็นทั้งสลัมที่อุดมไปด้วยปัญหาและหลากหลายศักยภาพที่รอการค้นพบและเชื่อมโยงหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ฯลฯ ทั่วทวีปเอเชีย และนอกจากนั้นเขายังเดินทางไปทั่วทวีปเพื่อไปพบเจอกลุ่มสถาปนิกชุมชนในประเทศต่างๆ เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ รวมถึงการจัดคอร์สอบรมเพื่อสร้างสถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

      จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตเกิดขึ้นหลายปีก่อน เมื่อเขามีอาการบาดเจ็บจากความเครียดที่สะสมมาจากการทำงานหนัก ชวณัฏฐ์จึงเริ่มมาทำความรู้จักกับศาสตร์โยคะเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บดังกล่าว เมื่อร่างกายดีขึ้น เขาตัดสินใจเรียนโยคะอย่างเอาจริงเอาจังและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องมือรักษาอาการบาดเจ็บของร่างกาย ต่อมาชวณัฏฐ์พบว่า โยคะทำให้เขาพบกับความหมายใหม่ของชีวิต เป็นความหมายที่เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต มุมมองต่อโลก และเปลี่ยนเส้นทางเดินของเขาไปตลอดกาล

เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง ค้นพบ

      ในมุมมองของพุทธศาสนา ชีวิตมีจุด มุ่งหมายก็เพื่อการพัฒนาตน การเรียนรู้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนเพื่อทำให้เกิด ความเจริญงอกงเส้นทางการทำงานสถาปนิกของชวณัฏฐ์ก็เป็นเช่นเดียวกับเส้นทางของสถาปนิกคนอื่นๆ เมื่อเรียนจบ เขาเข้าทำงานเป็นพนักงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง เขามีความตั้งใจส่วนตัวว่าจะใช้วิชาชีพสถาปนิกทำงานที่มีคุณค่ากับตนเองและผู้อื่นอย่างสุดความสามารถ เมื่อใช้เวลากับการเรียนรู้งานระยะหนึ่ง แม้งานประจำที่ทำจะตอบโจทย์ดังกล่าวได้บางส่วน แต่เขากลับรู้สึกอยากเรียนรู้มากขึ้น อยากทำงานที่มีประโยชน์กับคนอื่นมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เขาจึงเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า แท้จริงแล้วเขาชอบอะไรและสนใจสิ่งไหนอย่างแท้จริง

      “ผมได้ย้อนกลับไปคิดว่า สมัยเรียนเราชอบเดินทางไปเจอคนในหมู่บ้านชนบท เราทึ่งกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ลึกซึ้ง มีความงามในแบบที่ไม่ต้องพยายาม ผมค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจสิ่งเหล่านี้มาก และรู้สึกว่า ทำไมถึงไม่มีคนเข้าไปทำงานเพื่อสร้างรอยต่อระหว่างอดีตกับอนาคตเหล่านี้ ทั้งในแง่ของภูมิปัญญา ความรุ่มรวย การดำรงอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ผมสนใจว่า ผู้คนจะนำเอาสิ่งที่เป็นคุณค่าเหล่านี้ไปสู่อนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร สำหรับผมนี่คือการสร้างพื้นที่ เพราะว่าเราไม่สามารถเก็บทุกอย่างได้ เราต้องละทิ้งบางอย่างไป ต้องเลือกบางอย่าง ทดลองบางอย่าง ลองผิดลองถูก บางอย่างเพื่อไปสู่อนาคตที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร”

โยคะเพื่อตัวเรา, ตัวเราเพื่อทุกสรรพสิ่ง, ทุกสรรพสิ่งคือเรา ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

      เมื่อสอบทานความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างถ่องแท้ เขาเริ่มพาตัวเองเข้าไปหาเส้นทางใหม่ๆ ซึ่งทำให้เขาได้ค้นพบเส้นทางเป็นของตนเอง

      “ผมเริ่มไปฝึกงานกับพี่ๆ สถาปนิกชุมชนกลุ่มหนึ่งในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์โดยที่ยังทำงานประจำไปด้วย ตอนนั้นมีโอกาสไปทำงานในสลัมที่ริมคลองเปรม รู้สึกชอบมาก ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านจริงๆ ได้รู้จักตัวตนของเขา ได้เข้าใจว่า คนสลัมไม่ได้ติดยา ขายตัว ค้ายาบ้า เขาก็เป็นคนปกติ และที่เราประทับใจคือเขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหามากมาย แต่ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ถูกทำลายลงไป ทุกคนยังมีศักดิ์ศรี ทำงานสุจริตเพื่อลูกหลาน เพื่ออนาคตของเขา ทุกคนมีความฝันเล็กๆ เป็นของตัวเอง เรารู้สึกว่านี่คือความสวยงาม ผมพบว่าพวกเขามีความสามารถเยอะมาก เรารู้สึกว่าถ้านำความสามารถเหล่านี้มาเรียบเรียงใหม่ มันจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นของพวกเขาเองได้ ผมหลงใหลงานนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น”

ก่อร่างสร้างคุณค่า

     แม้ว่าการทำงานในเส้นทางใหม่ของ เขาจะยืนอยู่บนพื้นฐานของงานสถาปนิกอยู่เช่นเดิม แต่ชวณัฏฐ์บอกว่า การทำงานสถาปนิกอาสาสมัครมีความแตกต่างจากงานประจำอย่างมาก“งานอาสาสมัคร โจทย์จะไม่ชัดมาก แต่งานออฟฟิศ โจทย์จะชัด เช่น ให้คุณออกแบบร้านอาหารญี่ปุ่น มีพื้นที่อยู่เท่านี้ ต้องมีที่นั่งเท่าไหร่ มีห้องน้ำกี่ห้อง โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้งบประมาณที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เราก็ต้องปรุงออกมาเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งให้ได้ แต่โจทย์ของงานชุมชนคือชาวบ้านเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุกและกำลังจะโดนไล่รื้อ เขามาถามเราว่าเขาจะต้องทำยังไง เราที่เป็นสถาปนิกจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง” เขาอธิบายเนื้องานที่มีความแตกต่างกัน “ในการทำงาน เราจึงต้องไปเริ่มที่พื้นฐานที่สุด คือทำความเข้าใจก่อนว่า เขาสร้างชุมชนมาได้อย่างไร มีต้นทุนอะไรซึ่งเป็นการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่การรู้ตามทฤษฎีที่เราเคยเรียนเรื่องสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม กายภาพ แบบแยกขาดจากกัน ในความเป็นจริงแล้วมันซับซ้อนกว่านั้น ทุกอย่างล้วนเกี่ยวโยงกันไปหมด เราต้องเริ่มจากพยายามทำความเข้าใจว่าเขาสร้างชุมชนขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือคุณค่า อะไรคือความฝัน คนส่วนใหญ่ในชุมชนคิดอย่างไร แล้วเราจึงค่อยๆเริ่มใช้กระบวนการในการออกแบบและแทนที่เราจะทำงานนี้อยู่คนเดียว เราต้องแผ่กระบวนการออกแบบให้เป็นเสมือนพื้นที่ที่ชาวบ้านจะได้เข้ามาแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนนี้เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะเป็นการทำให้ชาวบ้านทุกคนสามารถที่จะคิดฝัน สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ถ้าเราสร้างพื้นที่ สร้างกระบวนการที่เอื้อให้คนทุกคนได้ค่อยๆ พูดด้วยเสียงของตัวเอง มันจะมีพลังมาก เพราะจะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นความสามารถเล็กๆ น้อยๆ ในตัวเอง รวมถึงได้เห็นคุณค่าและความสามารถเล็กๆ น้อยๆ ในตัวผู้อื่น ประกอบสร้างเป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น”นอกจากเนื้องานที่แตกต่างกันแล้ว สถาปนิกหนุ่มบอกว่า เขาได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเป็นอย่างยิ่ง “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานในช่วง 3-4 ปีแรกก็คือ เข้าใจว่าการออกแบบเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ผมได้ทำงานกับคนหลายฝ่ายหลายประเภท ได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องออกมาสมบูรณ์แบบ หรือทุกคนต้องเห็นพ้องกันไปทั้งหมด เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง แต่เราจะสร้างพื้นที่ให้คนพูดความคิดเห็นที่แตกต่าง ค่อยๆ คุย ค่อยๆ ฟัง จนมีจุดร่วม ความต่างบางอย่างค่อยๆ ไปกันได้ คือความต่างนั้นไม่ได้หายไป แต่เคลื่อนไปผ่านการคิดด้วยกัน ฟังด้วยกัน ทำด้วยกัน ไม่มีใครไปบอกว่าคุณต้องทำแบบนี้ ต้องอยู่แบบนี้ ต้องสร้างแบบนี้ และมีวิถีชีวิตที่แฮปปี้เอนดิ้งไปตลอด 30 ปีข้างหน้า ชีวิตไม่ได้เป็นแบบนั้น สิ่งมีชีวิตแปรเปลี่ยนตลอด”

ความเปลี่ยนแปลงมาเยือน

      แม้งานจะสนุกและท้าทาย แต่เมื่อทำงานมากขึ้น เผชิญกับความขัดแย้งในชุมชนมากขึ้น ชวณัฏฐ์ก็พบว่าเขาเกิดความทุกข์ในการทำงานมาก เพราะขณะนั้นเขายึดติดกับความสำเร็จมากเกินไปจนเกิดเป็นความเครียดสะสม จนกระทั่งวันหนึ่งความเครียดก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรงโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

      “วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ขยับแขนขวาไม่ได้ หันคอไม่ได้ ผมตกใจมากรีบไปโรงพยาบาล เมื่อไปถึง หมอเอกซเรย์ดูปรากฏว่า กล้ามเนื้อพังผืดพันกันแน่นและไปกดประสาทคอทำให้ขยับแขนและคอไม่ได้” เขาเล่าถึงวิกฤตที่เคยเผชิญ สิ่งนั้นทำให้เขาเรียนรู้สิ่งใหม่อีกครั้ง

“หลังจากนั้น ผมต้องใช้เวลาทำกายภาพอยู่ 5-6 เดือน เสียเงินไปเกือบแสน ช่วง 5-6 เดือนนั้นผมคิดได้ว่ามันไม่คุ้มกันเลย ได้รู้ว่าการมีชีวิตปกติที่มีสุขภาพดีพอสมควร เดินทางไปไหนก็ไปได้นั่นคือความสุขที่เรามองข้ามไป เราไปให้นิยามว่า ความสุขคือความสำเร็จที่เราได้จากการลงทุนลงแรงไปกับการทำงาน ซึ่งไม่จริงเลย ความสุขคือการที่เรารักษาสมดุลของกายและจิตเราได้ เมื่อป่วยเราจึงได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ จากนั้นผมจึงหาวิธีฝึกตัวเองให้ร่างกายไม่เจ็บป่วย ผมจึงนึกถึงการเล่นโยคะขึ้นมา เพราะตอนทำกายภาพ หมอบอกว่าท่ากายภาพที่เราทำเป็นท่าโยคะ ผมจึงเริ่มฝึกโยคะนับตั้งแต่นั้น”

      และเส้นทางชีวิตของเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่ง

โยคะ จากจุดเริ่มต้นสู่วิถีชีวิต

      การรักษาของชวณัฏฐ์คือการทำกายภาพบำบัด บริหารร่างกายด้วยโยคะ ไปพร้อมกับการประคบร้อน เขาปฏิเสธการกินยาแก้ปวดโดยสิ้นเชิง ถึงช่วงเดือนที่สามของการรักษา ความพยายามของเขาก็เริ่มเห็นผลสำเร็จ

      “จากวันที่ขยับแขนไม่ได้ ผมเริ่มขยับได้ทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่เข้าที่เข้าทางนักในวินาทีนั้นผมรับรู้ว่าร่างกายมีพลังเยียวยาบางอย่าง ผมรู้สึกว่ามีอะไรในร่างกายที่มันพยายามดูแลตัวมันเองอยู่” ชวณัฏฐ์บอก “ผมเรียนรู้ว่า เวลาที่เราฝึกโยคะนั้น เราจะทำงานกับลมหายใจของเรา ตามธรรมชาติแล้วเมื่อร่างกายแข็งแรงลมหายใจตั้งมั่น จิตเราก็เป็นสมาธิ ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นในตัวเองก็คือเวลาที่เราเห็นอะไรที่รู้สึกว่าไม่นำพา ไม่เป็นประโยชน์ เราก็เห็นได้เร็วขึ้นแล้วเราก็ปล่อยมันได้เร็วขึ้น ทำให้เรามีเวลาในชีวิตมากขึ้น แทนที่เราจะเตลิดไปกับเรื่องในอดีตที่ทำให้เราเจ็บปวด เราก็เอาเวลามาทำงาน เรานำพลังงานมาใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ดีกว่า”

โยคะเพื่อตัวเรา, ตัวเราเพื่อทุกสรรพสิ่ง, ทุกสรรพสิ่งคือเรา ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

      เมื่ออาการบาดเจ็บดีขึ้น ชวณัฏฐ์พัฒนาแนวคิดจากการฝึกโยคะเพื่อรักษาร่างกายออกไปไกลกว่าเดิม

      “ในปีที่สองของการเรียนโยคะ ผมรู้สึกว่าผมไม่มีเวลาเดินทางไปเรียนที่สตูดิโอ แล้วคิดว่าผมจับสาระบางอย่างของโยคะได้ ผมจึงเริ่มฝึกเองทุกเช้า พอฝึกทุกเช้าได้สองปี เราเริ่มมีวินัย เริ่มอ่านตำรา เริ่มซื้อหนังสือโยคะมาอ่าน เริ่มถ่ายทอดให้คนอื่นด้วยเพราะรู้สึกว่าอยากให้เพื่อนแข็งแรง อยากให้พ่อแม่แข็งแรง เวลาที่เห็นใครเดินกะเผลกๆ เราก็ชอบไปถามเขา ไปแนะนำ พอหลังจากที่ฝึกเองเป็นประจำสองปี ผมตัดสินใจลางานสี่เดือนไปเรียนโยคะที่อินเดียเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ได้เดินทางไปตามเมืองต่างๆ ไปเรียน ไปฝึก แล้วก็เดินทางท่องไปในอินเดีย เนปาลเพื่อไปเรียนกับโยคีและครูหลายๆ คน ทำให้เราได้สำรวจว่าจริงๆ โยคะในอดีตเขาสอนอะไร โยคะปัจจุบันมีความรู้อะไรใหม่ๆ ช่วงเวลานั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีทำให้เรามีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เมื่อกลับมาจึงเริ่มเป็นครูสอนโยคะ สอนแบบเอามาอยู่ในงาน เช่นก่อนจัดเวิร์กช็อป ออกแบบชุมชนก็ทำโยคะกัน ตอนเย็นก่อนกลับบ้านก็ฝึกโยคะกัน”

จากจุดเริ่มต้นที่ฝึกโยคะจากการเจ็บป่วยของร่างกาย โยคะนำพาเขาไปไกลกว่านั้นมากนัก เราถามเขาว่า ทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาพัฒนาชีวิตของเขาอย่างไรบ้าง

      “ผมมีความสนใจดั้งเดิมคือการทำงาน กับคน การสร้างพื้นที่ให้คนเห็นศักยภาพตัวเอง นี่คือหลักของงานที่ผมทำ” ชวณัฏฐ์ บอก “และหลักของการฝึกโยคะที่ผมค้นพบก็คือ มันเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนรู้จักตัวเอง รู้จักร่างกาย รู้จักจิตใจของตนเอง เป็นกระบวนการที่ทำให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้น รักตัวเองได้มากขึ้น สุดท้ายแล้วผมคิดว่าสิ่งที่ผมสนใจเรื่องนี้ด้วยเครื่องมือทุกรูปแบบ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ให้คนค้นพบตัวเอง รักตัวเองได้มากขึ้น แล้วก็ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คนหนึ่งคนจะทำได้ ในการทำงานร่วมกับชุมชนหรือว่ากับคนที่ฝึกโยคะ กลุ่มคนเหล่านี้จะค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น เกิดการหลอมรวม เกิดความคิดร่วม เกิดพลังสร้างสรรค์ เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เราคนเดียวทำไม่ได้ คิดไม่ได้“ผมรู้สึกว่านี่แหละคือช่องทางในการทำงานของผม ช่องทางที่เราจะนำพาความคิดสร้างสรรค์ที่จะเผยปรากฏขึ้นมาบนโลก เรามาทำงานร่วมกัน ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ใหญ่กว่าแต่ละคนจะคิดได้ มันเผยปรากฏออกมา”

หยินโยคะ

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย