“สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ” เป็นคำกล่าวที่ สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อ 40 – 50 ปีที่ผ่านมา อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทย เคยอยู่ที่ต่ำกว่า 50 ปีขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 73 ปี การที่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดปี 2555 ชี้ว่าประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 20.3 ผู้สูงอายุ ทำให้สังคมไทยในวันข้างหน้าอาจต้องประสบกับปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น ปัญหาการขาดผู้ดูแล จำนวนคนวัยแรงงานที่มีความสามารถในการให้การดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุจะลดน้อยลง และสังคมโดยรวมก็คงได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้
แม้ประเทศไทยจะได้กำหนดให้มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมียุทธศาสตร์ในการก่อเกิดสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเทียบกับนานาประเทศแล้ว ประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก ในการเตรียมการรับมือกับปัญหาผู้สูงอายุ ที่กำลังจะมาถึง การเตรียมความพร้อมและความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะทางของหน่วยบริการด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการให้อำนาจท้องถิ่นจะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุของคนในครอบครัว
การดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุแบบครบวงจรนั้นเริ่มตั้งแต่ก้าวสู่ช่วงวัยของการเป็นผู้สูงอายุที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) เป็นสถานบริบาลผู้ที่ป่วยหนักจากโรคที่ ไม่สามารถรักษาได้ โดยเน้นคุณค่า และคุณภาพชีวิตช่วงท้ายของผู้ป่วยเพื่อปูทางสู่การสิ้นชีวิตอย่างสงบ เป็นการบริบาลแบบประคับประคองเพื่อลดอาการปวดและอาการทุกข์ทรมานทางกาย และยังผสานการดูแลทั้งทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดที่กำลังจะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายในรูปแบบปัจจุบัน เริ่มจากการก่อตั้งเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพีซ ผลักดัน ให้ระบบการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ขยายตัวสู่ ประเทศอื่นๆ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสืบมา
สำหรับประเทศไทยสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงยังขาดพัฒนาการที่เป็นระบบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งใน สังคมที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแลในขณะที่สมาชิก ในครอบครัวที่ต่างมีภาระงาน ไม่มีความพร้อมในการให้การดูแลผู้ป่วย ขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็มีปัญหาอัตราการครองเตียงสูง ไม่สามารถจะดูแลผู้ป่วยในลักษณะ ของการบริบาลระยะท้ายได้ จึงผลักดันให้ครอบครัวรับผู้ป่วยกลับ รวมถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้าน งานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายจึงรวมไปถึงการเยี่ยมดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านของตนเองด้วย
ภารกิจนี้จึงเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้ประสานความร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่นทั้งภาครัฐภาคเอกชน เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมได้อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเข้มแข็งในทางด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข รวมถึงศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดการทำงานที่เป็นการบูรณาการ ความรู้ และการร่วมมืออย่างเป็นสหสาขาระหว่างคณะ สถาบันต่างๆของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นปัญญาของแผ่นดิน
แนวความคิดในการออกแบบ
“ปัญญาบำบัด”
ด้วยการออกแบบโดยใช้หลักพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานที่จะต้อนรับ และเชื้อเชิญให้ทุกศาสนาเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ อันได้แก่ การออกแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ภาวนา ตลอดจนใช้วัตถุธรรมทางศาสนา เอื้อให้เกิดความสงบภายในจิตใจ น้อมนำไปสู่เป้าหมายของการเสียชีวิตอย่างสงบ
“ธรรมชาติบำบัด”
ด้วยการออกแบบให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติทั้งทางสายตา เสียง กลิ่น และสัมผัสทางกาย โดยนำเอาพลังจากธรรมชาติ อันได้แก่ ภูเขา ผืนน้ำ แผ่นฟ้า และต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยจัดลำดับการเข้าถึง (Hierarchy and Sequence of space) ในพื้นที่ต่างๆ ของโครงการให้อยู่ในอ้อมกอด ของธรรมชาติในระดับ และมิติที่หลากหลาย จัดวางอาคารเป็นกลุ่ม มีลานเชื่อมระหว่างอาคาร อาคารมีขนาดเล็ก นอบน้อมต่อธรรมชาติ (Human scale) หมอบอยู่ใต้ร่มไม้ ช่วยสร้างความสงบ ร่มเย็น มอบพลังชีวิตให้กับทุกคน กล่อมเกลาให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง
“ชุมชนบำบัด”
ด้วยการออกแบบให้มีลักษณะเหมือน “หมู่บ้าน” เพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กันทุกคนในโครงการที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้ โดยสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ ที่มีลักษณะเป็นชนบท ด้วยท้องนา ภูเขา ทิวไม้ ที่ผู้คนทั่วไปในเมืองไทยคุ้นเคย ให้ความรู้สึกใกล้ชิด และเป็นกันเอง ดังเช่นวิถีในหมู่บ้านตามชนบทไทย เพื่อให้เกิดความอบอุ่น เอื้อเฟื้อ และมีปฏิสัมพันธ์ เป็นชุมชนแห่งความเมตตา และเรียนรู้
“มิตรภาพบำบัด”
ด้วยการออกแบบให้มีลักษณะเหมือน “หมู่บ้าน” เพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กันทุกคนในโครงการที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้ โดยสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ ที่มีลักษณะเป็นชนบท ด้วยท้องนา ภูเขา ทิวไม้ ที่ผู้คนทั่วไปในเมืองไทยคุ้นเคย ให้ความรู้สึกใกล้ชิด และเป็นกันเอง ดังเช่นวิถีในหมู่บ้านตามชนบทไทย เพื่อให้เกิดความอบอุ่น เอื้อเฟื้อ และมีปฏิสัมพันธ์ เป็นชุมชนแห่งความเมตตา และเรียนรู้
“ศิลปะบำบัด”
ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ และใช้งานศิลปะแขนงต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม เป็นต้น มาสนับสนุนงานสถาปัตยกรรมเพื่อเพิ่มพลังในการเยียวยาจิตใจ ให้กับกลุ่มคนทุกกลุ่มในโครงการ สร้างการเรียนรู้ และทัศนคติที่ดีต่อชีวิตและความตายช่วยให้เกิดสมาธิ และยังเป็นการระลึกถึงผู้ที่จากไป
“ความเรียบง่าย”
ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา เอื้อให้เกิดความสงบ นิ่ง และประหยัด
“ประหยัดพลังงาน”
ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ Tropical architecture จัดวางอาคารแยกเป็นกลุ่ม เน้นการประหยัดพลังงานตามแนวทาง Passive design strategies นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานทางกายภาพแล้ว การออกแบบที่ว่างและพื้นที่ในโครงการให้ทุกคนได้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ทำให้เกิดสำนึกเชื่อมโยงเป็น “ขวัญ” เดียวกัน เป็นงานสถาปัตยกรรมสีเขียวทั้งกาย และใจ
“ประโยชน์ใช้สอย ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงาน”
ด้วยการออกแบบ และวางผังอาคารให้ตอบสนองประโยชน์ใช้สอย และกิจกรรมต่างๆ ให้สมบูรณ์ เพื่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการดำเนินการทั้งด้านกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณ พร้อมทั้งการบำรุงรักษาที่ง่ายไม่ซับซ้อน
“ความประณีตละเอียดอ่อน”
ด้วยการออกแบบอย่างมีรายละเอียด การใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ไม้ ช่วยให้เกิดสัมผัสที่อ่อนโยน รวมถึงความประณีตในการก่อสร้าง ช่วยให้เกิดผัสสะที่งดงาม สร้างพลังในการเยียวยากาย ใจ และจิตวิญญาณ