โครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ตำบลเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์

ที่ตำบลเขาทอง อำเภอพะยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ สถานการณ์ที่นี่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว ด้วยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปถึงกว่าร้อยละ 23 โดยผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งมีฐานะยากจน ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้นทุพพลภาพ ด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพแต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนทำให้โครงการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุสำเร็จและเป็นจริงได้ โดยอาศัยความรู้ทางสาธารณสุข บูรณาการกับงานสถาปนิก ผลที่ได้ไม่ใช่เพียงแค่การมีบ้านอยู่สบายสำหรับคนแก่ที่ยากไร้คนหนึ่งเท่านั้น แต่ได้ชุมชนที่น่าอยู่มากขึ้น และมีกระบวนการเรียนรู้ที่นำพาไปสู่ชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

พื้นที่สุขภาวะ

เขาว่ากันว่าที่นี่เคยมีภูเขาที่เป็นทอง จึงตั้งชื่อ “เขาทอง” ตามตำนาน แต่สำหรับชาวบ้านในชนบทที่มีฐานะยากจน สภาพความเป็นอยู่ไม่สุขสมบูรณ์เหมือนชื่อ โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุหลายรายซึ่งอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพดีและปลอดภัย จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตนครสวรรค์ ได้จัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง เพื่อเป็นพื้นที่ในการทดลองและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน

ต่อมาสถาบันอาศรมศิลป์และศูนย์ผู้สูงอายุฯจึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ในเขตพื้นที่ตำบลเขาทอง โดยเน้นการสร้างพื้นที่สุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ โดยสุขภาวะในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่การมีสุขภาพกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังรวมมิติด้านจิตใจ สติปัญญา และทางสังคมด้วย ดังนั้นพื้นที่สุขภาวะจึงต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่เหงาหงอย

เมื่อสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ได้ร่วมกิจกรรม “เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ” ร่วมกับศูนย์ผู้สูงอายุ อันเป็นกิจกรรมบริการเชิงรุกด้วยจิตอาสาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยาบาล อสม. ในการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุเพื่อตรวจสุขภาพถึงบ้าน จึงได้พบว่า นอกจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้ว ยังมีข้อที่น่ากังวลคือสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ และยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุด้วย

เขาทอง นครสวรรค์ ผู้สูงอายุ

ปรับปรุงอย่างมีส่วนร่วม

ในขั้นแรกของการดำเนินโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญอยู่ที่การอธิบายทำความเข้าใจให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ ซึ่งไม่ใช่แค่การนำงบประมาณส่วนรวมไปดูแลใครคนใดคนหนึ่งส่วนตัว แต่เพราะเมื่อประชาชนคนหนึ่ง ๆ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจะส่งผลดีต่อการปรับปรุงชุมชนทั้งหมดให้น่าอยู่ เป็นพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อส่วนรวม

การดำเนินการเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมเยี่ยมบ้านของผู้สูงอายุทั่วทั้งตำบลเขาทอง จากนั้น จึงทำการเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนจำนวน 10 ราย เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุมชนพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปว่าคณะกรรมการคัดเลือกรายใดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์จะทำการเก็บข้อมูล ออกแบบ และทดสอบให้แน่ใจว่าการปรับปรุงที่อยู่อาศัยนั้นตรงกับความจำเป็นของผู้สูงอายุแต่ละรายจริง

ตามใจผู้อยู่

ผู้สูงอายุแต่ละรายมีปัญหาและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ แตกต่างกันในรายละเอียด บางคนสูญเสียการมองเห็น เคลื่อนไหวในบ้านด้วยการใช้มือคลำแผ่นไม้ไปทีละจุดด้วยความเคยชิน บางรายต้องใช้รถเข็น บางรายไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ บางรายที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง หรือไม่ถูกสุขลักษณะ หลายรายมีผู้ดูแลเพียงบางช่วงเวลา ส่วนใหญ่ต้องดูแลตัวเองในระหว่างวัน เพราะลูกหลานไปทำงานนอกบ้าน ฯลฯ ปัจจัยทั้งหมดล้วนมีผลต่อการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุรายนั้น ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งสถาปนิกไม่สามารถใช้เพียงหลักวิชาการความรู้ในตำราความถูกต้องทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยรายนั้นอย่างแท้จริง อาทิ ผู้สูงอายุบางรายสมควรได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย สถาปนิกจึงต้องทำงานร่วมกับนักกายภาพ ออกแบบพื้นที่บางส่วนเป็นจุดบริหารร่างกายให้ผู้สูงอายุสามารถทำการกายภาพบำบัดด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยต้องคำนึงถึงระดับความสูงตํ่าของเครื่องบริหารให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายหรือสภาพพื้นที่ในบ้านหรือการปรับปรุงห้องส้วม จากส้วมหลุมเป็นส้วมชักโครก แต่เนื่องจากปัญหาสภาพร่างกายชักโครกที่ถูกสุขลักษณะอาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชีวิตคุณยายยากขึ้นกว่าเดิม สถาปนิกจึงต้องออกแบบแก้โจทย์ให้ห้องส้วมทั้งเหมาะกับสภาพร่างกายและถูกสุขลักษณะด้วย หรือการเปลี่ยนประตูในบ้านให้เป็นแบบบานเลื่อนนํ้าหนักเบาที่ผู้สูงอายุสามารถเลื่อนเปิดปิดได้สะดวก การขยายช่องประตูและทลายขอบกั้นด้านล่างเพื่อให้ประตูกว้างขึ้นพอที่ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นจะสามารถเคลื่อนไหวในบ้านได้ การปรับระดับหรือตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ อาทิ ราวจับ ฝักบัวอาบนํ้า ก๊อกนํ้า ให้อยู่ในระดับที่ผู้สูงอายุรายนั้น ๆ จะสามารถเอื้อมถึงได้โดยสะดวก เป็นต้น

กลไกการมีส่วนร่วมรองรับสังคมผู้สูงอายุ

หลังจากได้แบบในการปรับปรุงบ้าน จะมีการนำเสนอแบบต่อประชาคมหมู่บ้านเพื่อระดมความเห็นและความช่วยเหลือจากคนในชุมชน ส่งงานต่อให้ช่างชุมชนประเมินราคาและลงมือปรับปรุงซ่อมสร้างตามแบบ ทุกขั้นตอนเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ชาวบ้านหลายคนรู้สึกถึงการได้ร่วมแก้ปัญหา ติดตามความคืบหน้า และร่วมไม้ร่วมมือขจัดปัญหาอุปสรรค กระชับความสัมพันธ์ของคนชุมชนเดียวกันให้แน่นแฟ้นขึ้น โครงการค่อย ๆ ทำไปทีละราย จากรายแรกที่เริ่มต้นด้วยการระดมเงินช่วยเหลือในวงประชุมของคณะกรรมการชุมชน เมื่อเกิดผลสำเร็จก็เกิดกำลังใจที่จะสานต่อสะสมเงินคงเหลือเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือรายที่สองที่สาม ที่สี่…และรายถัด ๆ ไป ถึงปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุถึง 16 ราย ต่อยอดออกดอกออกผลเป็นการให้อันไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดผลพลอยได้สำคัญคือการพัฒนาให้ชุมชนได้เรียนรู้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบอันเป็นพื้นฐานของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นการสร้างกลไกการบริหารจัดการเพื่อรองรับความเป็นสังคมผู้สูงอายุของชุมชนในอนาคตต่อไป