การอนุรักษ์ และฟื้นฟูวัดคูเต่า

รางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2544 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

รางวัลเเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทางภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ปี 2544 องค์การการศึกษา วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

รางวัลชนะเลิศวัดพัฒนาดีเด่น ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับจังหวัด ปี 2552

รางวัลพัฒนาดีเด่น ด้านเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ศาลาเรียน วัดคูเต่า

“ศาลาเรียน วัดคูเต่า” เป็นโครงการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เจ้าอาวาสและชุมชนต้องการอนุรักษ์โบราณสถานใน พื้นที่วัดคูเต่า เพื่อให้อาคารยังคงใช้ประโยชน์ได้ และให้ลูกหลานได้ศึกษาถึงอดีตของท้องถิ่นตนเอง ขณะเดียวกันสถาบันฯมีความสนใจให้นักศึกษาได้เรียนรู้ งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอย่างมีส่วนร่วม จึงได้ร่วมทำงานกับชุมชนโดยดำเนินการซ่อมแซมศาลาหลังแรกก่อน เพราะศาลาหลังนี้มีคุณค่าทางด้านจิตใจ ต่อคนท้องถิ่น มีอายุกว่าร้อยปีแต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม กว่า 2 ปีที่วัด ชุมชนและสถาบันฯ ได้ร่วมกระบวนการฟื้นฟูวัดและชุมชน ส่งผลให้ศาลาได้รับการบูรณะด้วยมือของคนในชุมชน ทั้งการหาทุนและการลงมือปรับปรุงซ่อมแซม

แรงบันดาลใจ

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่สถาบันอาศรมศิลป์ได้ไปทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ได้พบกับศาลาเก่าริม คลองขุดที่หมอบตัวราบอยู่บนลานทรายใต้ต้นฉำฉาใหญ่ เป็นความงดงามบริสุทธิ์ที่ได้พบในวัดคูเต่า หลังจากที่ได้สอบถามความคิดเห็นพบว่าชุมชนต้องการ ดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมเพื่อให้ศาลาได้ใช้ประโยชน์และเพื่อให้ลูกหลานได้ดูได้ศึกษาถึงอดีตของ ท้องถิ่นตนเอง แต่เนื่องจากทางวัดขาดงบประมาณ และ ไม่มีความรู้ความชำนาญในการอนุรักษ์อย่างถูกต้องจึงยังไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งทางสถาบันฯ และแกนนำชุมชนเห็นว่าควรดำเนินการซ่อมแซมศาลาหลังนี้ เป็นอันดับแรกก่อน เนื่องจากมีอายุกว่าร้อยปี และอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ซึ่งศาลาหลังนี้มีคุณค่าทางด้านจิตใจต่อคนท้องถิ่น เพราะเป็นอาคารเรียน หลังแรกในท้องถิ่นและเป็นศูนย์รวมเพื่อรองรับงาน ประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิต

เป้าหมายโครงการ

ด้วยเงื่อนไขและบริบทดังกล่าว จึงได้กำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าในการดำเนินโครงการไว้ 3 ประการได้แก่

  1. ให้การอนุรักษ์และปรับปรุงสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้วัดคูเต่าเป็น  “ขวัญ”  ของชุมชนเช่นในอดีตที่ผ่านมา 
  2. สร้างโอกาสให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ด้วยกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างมีส่วนร่วม
  3. สร้างแบบอย่างในการอนุรักษ์และปรุบปรุงโบราณสถานร่วมกับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถรักษาและสืบสานมรดกสถาปัตยกรรมอื่นๆ ต่อไปได้ด้วยตนเอง

วัด ชุมชน และสถาปนิก (ภาคที่หนึ่ง)

ในศาลาเรียน ท่านเจ้าอาวาส ชาวบ้าน( กรรมการวัด ) และสถาปนิกกำลังนั่งปรึกษาหารือร่วมกันในการซ่อมศาลาเรียนอายุเกือบ 100 ปี ……..  แต่สักพักฝนก็ตก น้ำฝนรั่วลงหัวเปียกกันหมด

 

ท่านเจ้าอาวาส :  หลา( ศาลา ) นี้นั่งเย็นสบายนะ (มือปาดหน้าผากที่เปียกน้ำ ) เสียแต่แฉะไปหน่อย ถ้าจะซ่อมเราจะทำพรือกันดีนิ

ครูวัน :  หลาโทรมมากแล้ว เราน่าจะช่วยกันหาทางซ่อมหลา  รักษาไว้ให้กลับมาใช้ได้อีก … หมัยก่อนอาคารเก่า ๆ ช่างชาวบ้าน ปู่ ย่า ตา ทวดของเราก็ซ่อมแซม ดูแลรักษากันมา…ฉันเป็นลูกเป็นหลานก็อยากจะเก็บรักษาหลานี้ไว้เป็นสมบัติให้ลูกให้หลานมัน…

ครูเปลื้อง :  เก่าแก่หนาดนี้ไม่รู้จะซ่อมพันพรือ… งานอนุรักษ์ชาวบ้านอย่างเรา ๆ จะทำได้หม่ายนิ

ป้าปิ้ม :  วันก่อนเห็นสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์เขามาบอกว่าจะมาร่วมกับชุมชนบูรณะหลานี้ นั้นไงมากันโน้นแล้ว

สถาปนิก :  สวัสดีครับ ลุง ๆ ป้า ๆ พวกเราไปช่วยกันซ่อมศาลาเรียนที่วัดกันไหมครับ


การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย

การอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่

 

ระยะที่หนึ่ง : ทำความเข้าใจภาพรวมของชุมชน  และประเมินความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม เริ่มต้นจากทีมงานได้กระจายตัวอยู่ อาศัยกับชาวชุมชนเหมือนลูกหลาน หลังจากนั้นจึงเริ่มสำรวจข้อมูล และเปิดเวทีเสวนากับชาวชุมชน ทำให้ทราบว่าวัดนี้เคยรุ่งเรืองมากในอดีต แต่ปัจจุบัน ศรัทธาดังกล่าวกลับเสื่อมถอยลง เกิดการย้ายถิ่นของคนวัยหนุ่มสาว อันเนื่องมาจากผลของพัฒนา แบบทุนนิยม และปัญหาจากการบริหารงานในท้องถิ่น

ช่วงที่สอง : กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม และสำนึกความเป็นเจ้าของ เมื่อพบกับปัญหาดังกล่าว ทางสถาบันฯ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ ชาวชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นเกิดสำนึกรักษ์มากขึ้น เพื่อไม่ให้ศาลาที่ต้องการบูรณะเป็นเพียงซากโบราณสถานที่ไม่มีการใช้งาน และไม่ได้รับการดูแล รักษา กิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วย แผนที่สิ่งดี  (People Mapping) นิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องที่จัดขึ้นใน ตลาดนัด กิจกรรมศิลปะเด็ก และรวมถึงการ ทำแผนที่สัมพันธ์เครือญาติ (Family Tree) เป็นต้น

ช่วงที่สี่ : สรุปรูปแบบการบูรณะและการหางบประมาณเพื่อซ่อมแซม  ทีมงานได้ทำการศึกษาศาลาพื้นถิ่นภาคใต้ และนำเสนอทางเลือกในการ อนุรักษ์สี่รูปแบบเพื่อให้ชุมชนเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด  ซึ่งผลการลงความเห็นได้มติเอกฉันท์ในรูปแบบที่เป็นการเสริมความแข็งแรง (Consolidation) และยกศาลาให้สูงขึ้นเท่ากับระดับความสูงในอดีต หลังจากนั้นทางแกนนำวัดได้จัดงานทอดผ้าป่าขึ้น ชาวบ้านมีจิตศรัทธาเป็นอย่างมาก รวมได้งบประมาณ ถึงหกแสนกว่าบาท เกินกว่าที่ประเมินเอาไว้มาก การบูรณะศาลาจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ช่วงที่สาม : สื่อสารคุณค่าความงามทางสถาปัตยกรรม  ทีมงานได้จัดกิจกรรมค่าย Kutao Vernadoc Camp ร่วมกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น สองแห่งเพื่อปลูกจิตสำนึกในคุณค่าศิลปะ สถาปัตยกรรม นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมทุกคนประทับใจและเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม และบางคนแสดง ความต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์ศาลาหลังนี้ด้วย

ตัวอย่างผลงาน Vernadoc (งานวาดเส้นเชิงสถาปัตยกรรมเสมือนจริง) ของนักศึกษา

ช่วงที่ห้า : การบูรณะซ่อมแซม การบูรณะได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการฟื้นฟูพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอขมาในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลา  โดยมีหลักการในการซ่อมแซมไว้ว่า “จะไม่จัดจ้าง ผู้รับเหมามาดำเนินการซ่อมแซม แต่จะให้ช่างท้องถิ่นเป็นทีมหลัก ส่วนใดที่ทำเองไม่ได้ก็ให้เชิญผู้เชี่ยวมาดำเนินการเฉพาะส่วน ”  นอกจากนี้ทางวัดได้มี แผนงานประจำสัปดาห์ที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซ่อมแซมศาลาของพวกเขา เริ่มตั้งแต่การรื้อถอนศาลา  ตลอดจนถึงการร่วมขัดล้างกระเบื้อง หลังคาทีละแผ่น เป็นต้น

วัด ชุมชน และสถาปนิก (ภาคที่สอง)

ครูวัน : ดีใจที่เห็นคนมาช่วยกัน   ไม่คิดว่าจะทำได้หนาดนี้  … ช่วงแรกก็หนักใจเพราะไม่หอน (เคย)ทำ   แต่ก็ภูมิใจที่ได้ลงมือทำเอง …  ถ้ามีงานซ่อมคราวหน้าอีก น้องไม่มา พี่ก็จะมา

พี่ยาน : ภูมิใจที่หลากลับมาสวยงามเหมือนเดิม งานซ่อมใช้เบี้ยไม่มาก ได้อาคารที่สวยกลับมาใช้ได้อีก

น้าลอน : ประทับใจที่ได้มาช่วยกันทำ หลาน ๆ ยังบอกว่า “ หลานี้ น้าเป็นคนทำ ”

เจ้าอาวาส : ยังเหลือหลาอีกหลัง ….ช่วยกันทำต่อดีม่าย ??? 

ชาวบ้าน : ทั้งหมดไม่ได้ตอบอะไร ได้แต่มองหน้ากันแล้วก็อมยิ้ม

 

เมื่องานเสร็จสิ้น

โครงการนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น  ปี  2554  จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ  และ  Honorable Mention : 2011 UNESCO Asia- Pacific Heritage Award  แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือ หลังจากจบโครงการชาวชุมชนสามารถบูรณะและปรับปรุงโบราณสถานอื่นๆ  ภายในวัดได้ด้วยตนเอง  โดยไม่ ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก การรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

 

การรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิม  (Authenticity) หรือการรักษาในเชิงคุณค่า เป็นหัวใจสำคัญในการอนุรักษ์ ซึ่งการรักษาความดั้งเดิมนี้จำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องรักษาทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม หรือความหมายเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Meaning)  ในการอนุรักษ์ศาลาเรียนวัดคูเต่าได้ใช้กระบวน การมีส่วนร่วมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรักษาความดั้งเดิมและคุณค่าดังกล่าว กล่าวคือ การรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมในเชิงนามธรรม หรือความหมายเชิง สัญลักษณ์นั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่การฟื้นฟูพิธีกรรมทางด้านจิตวิญญาณก่อนที่จะทำการบูรณะศาลา  เนื่องจากเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมเพื่อเป็นการบอกกล่าว  และขอ ขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่วัดเคยทำมาแล้วในอดีต นอกจากนี้ในอดีตที่อาคารต่างๆ   ภายในวัดก็ถูกร่วมกันสร้างโดยพระและชาวชุมชน ดังนั้นการที่ชุมชนมี ส่วนร่วนกันรื้อศาลาตลอดจนร่วมกันบูรณะศาลาในทุกขั้นตอน  จึงเป็นกระบวนการที่สร้างความทรงจำร่วม (Collective Memory) ให้แก่ชาวชุมชนเป็นการ ส่งต่อคุณค่าและปลูกฝังความทรงจำสู่คนรุ่นใหม่บนรากฐานวัฒนธรรมเดิม 

ในส่วนของการรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมในเชิงรูปธรรมเกิดขึ้นจากการที่ชาวชุมชน ร่วมกันขัดล้างกระเบื้องหลังคาเก่าที่ละแผ่นเพื่อนำกลับไป ใช้ใหม่  โดยใช้กระเบื้องใหม่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลอนลูกสักที่ใช้เพื่อรับแปหลังคาก็ยังคงเทคนิคการก่อสร้างแบบเดิมไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึง ภูมิปัญญาเชิงช่างท้องถิ่น นอกจากในส่วนโครงสร้างหลักก็ยังคงรักษาชิ้นส่วนชิ้นเสริมเพียง บางจุดเพื่อความแข็งแรง  มีเพียงตอม่อเท่านั้นที่เป็นของใหม่เพื่อ ยกระดับอาคารให้เท่ากับความสูงในอดีต จึงทำให้ศาลาหลังนี้เมื่อได้รับการบูรณะแล้วยังคงเห็นถึงความคล่ำของอาคารที่ผ่านกาลเวลา (Patina of Age) เนื่องจากใช้ชิ้นส่วนและองค์ประกอบเดิมเกือบทั้งหมดแต่เสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับ ประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันและอนาคต

บันทึกประสบการณ์การทำงานทั้งจากคณะทำงานและชาวบ้านในท้องถิ่นเพื่อเผยอพร่กระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมและนำเสนอคุณค่าในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมโดยคนท้องถิ่น