หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ)

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพที่สืบทอดเจตนารมณ์ในการเผยแผ่หลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ด้วยการเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์รองรับกิจกรรมการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณอย่างสมสมัย

ความเป็นมา

มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มีแนวคิดที่จะสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสขึ้นในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ และ เผยแพร่มรดกธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุมอบไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ด้วยศรัทธาที่มีต่อท่านพุทธทาส สถาปนิกจึงเข้ามาเป็นจิตอาสามีส่วนร่วมในการออกแบบและผลักดัน โครงการให้เกิดผลสำเร็จขึ้นจริง

การวิเคราะห์โครงการ

จากเป้าหมายในการดำเนินโครงการของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สถาปนิกเล็งเห็นว่าการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกธรรมของ ท่านพุทธทาสให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ควรเป็นเพียงการเก็บรักษาเอาไว้เท่านั้น แต่จะต้องเป็นการประยุกต์หลักธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของสาธารณชน จึงได้ร่วมต่อยอดแนวคิดของมูลนิธิฯ จากเดิมที่ต้องการเพียงพื้นที่เก็บเอกสาร ไปสู่เป้าหมายเชิงคุณค่าในการเป็นจุดหมายสำคัญ (MEETING PLACE) สำหรับ การเผยแพร่ฝึกอบรมธรรมะอย่างสมสมัยและเข้าถึงได้ง่ายในยุคสมัยปัจจุบัน

เป้าหมายเชิงคุณค่า

1. สถาปัตยกรรมที่สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านพุทธทาสในการเผยแผ่หลักธรรมไปสู่สังคมในวงกว้างโดยไม่จำกัดศาสนา
2. สถาปัตยกรรมที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์(SACRED PLACE) สัปปายะ สะท้อนหลักคำสอนของท่านพุทธทาส
3. สถาปัตยกรรมที่ ประหยัด เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ง่ายต่อการบำรุงรักษา เป็นหนึ่งเดียวกับ ธรรมชาติ

แนวคิดและการตอบสนองต่อเป้าหมาย

1.ออกแบบหอจดหมายเหตุพุทธทาสให้ไม่เพียงเป็นที่รวมรวมอนุรักษ์มรดกธรรมของท่านพุทธทาส แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรสำหรับประชาชน ทุกชาติศาสนาที่จะเข้ามาพักผ่อน ศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม และจัดกิจกรรมทางจิตวิญญาณได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีพื้นที่ใต้ถุนที่เปิดโล่ง เชื่อมต่อกับธรรมชาติโดยรอบสำหรับรองรับกิจกรรมได้อย่างยืดหยุ่นหลากหลาย เช่น กิจกรรมการภาวนา และการฟังธรรม รวมถึงการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรม ที่กำหนดขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อการเป็นจุดหมายสำหรับการเผยแพร่ธรรมะ เช่น ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ ส่วนบริการอาหาร เป็นต้น

2.ถอดรหัสรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนโมกข์มาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านจิตวิญญาณร่วมสมัยเช่น การนำ ลักษณะเด่นของการใช้บล็อกช่องลมจากสวนโมกข์มาใช้สร้างอัตลักษณ์ให้กับอาคาร ซึ่งนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ของอาคารสวนโมกข์ไชยาแล้ว ยังช่วยให้เกิดแสงเงา ที่น่าสนใจ รวมถึงการออกแบบอาคารด้วยวัสดุธรรมชาติ สมถะ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา

3.จำลองวัตถุธรรมสำคัญที่เป็นเสมือนตัวแทนของสวนโมกข์มาใช้ในโครงการ เช่น ลานหินโค้ง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สระนาฬิเกร์ เสาขันธ์ 5 ตรงประตูทางเข้า เป็นต้น

4.สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบเอื้อต่อการปฏิบัติภาวนา เช่น การนำแสงธรรมชาติมาใช้เป็นแสงฉากหลัง (Backlight) เพื่อส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้กับ วัตถุธรรม และการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ถ่อมตัวเพื่อ ให้ธรรมชาติแสดงพลังและเป็นครูทางจิตวิญญาณให้กับมนุษย์ ดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า “ธรรมะ คือ ธรรมชาติ”

5.นำเอาธรรมชาติรอบข้างมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่สงบร่มรื่น เปิดมุมมองในมิติต่างๆ เพื่อนำเอาผืนน้ำขนาดใหญ่และ กลุ่มต้นไม้ เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับที่ว่าง (space) ภายในอาคารทุกห้อง เพื่อความสงบเย็น เอื้อต่อการฝึกภาวนา รวมทั้งจัดให้มีสวนเซนขึ้นที่ชั้นสอง ซึ่งนอกจากจะให้ ความร่มเย็นแล้ว ยังเป็นการทำให้ผู้ที่อยู่ชั้นสองรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ติดพื้นดินอีกด้วย

6.สร้างสถาปัตยกรรมที่ประหยัด เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ง่ายต่อการบำรุงรักษา เช่นเดียวกับวิถีชีวิตและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของ สวนโมกข์ไชยา โดยใช้การออกแบบที่มีโครงสร้างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ใช้วัสดุท้องถิ่นที่ไม่หลากหลายมาก ราคาถูก ทำให้ค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรต่ำกว่าอาคาร โดยทั่วไป