หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม

Play Video

ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตนเอง
เปลี่ยนแปลงชุมชน บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม มีเจตจำนงที่จะเสริมสร้างศักยภาพบุคคลเพื่อให้เป็นผู้ประกอบการสังคม
ที่มีความสามารถในการประกอบสัมมาชีพที่เกื้อกูลสังคม  มีความเข้าใจ ร่วมรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ
คือ คำนึงถึงทั้งด้านกายภาพ การพึ่งพาตนเอง มีจิตสำนึกตามวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันทางสังคม

ข้อมูลทั่วไป

รหัสหลักสูตร  25552291102323

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม 
Bachelor of Arts Program in Social Entrepreneur

ชื่อปริญญา
ภาษาไทย ศิลปศาสตรบัณฑิต (ผู้ประกอบการสังคม) 
ภาษาอังกฤษ Bachelor of Arts (Social Entrepreneur)
ชื่อย่อภาษาไทย ศศ.บ. (ผู้ประกอบการสังคม)
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ B.A. (Social Entrepreneur)

วิชาเอก
ไม่มี 

จำนวนหน่วยกิตที่เรียน
ตลอดหลักสูตร  129  หน่วยกิต

รูปแบบของหลักสูตร  
หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 และเรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552

ภาษาที่ใช้
การจัดการเรียนการสอนใช้ภาษาไทย เอกสารและตำราเรียนในรายวิชาต่างๆ ของหลักสูตรมีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การรับเข้าศึกษา
รับผู้เข้าศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบันที่จัดการเรียนการสอนโดยตรง

การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

ความพร้อมในการเผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
หลักสูตรมีความพร้อมในการเผยแพร่ว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ในปีการศึกษา 2562

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์นับถึงวันเปิดภาคการศึกษาแรก
  • สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หรือเทียบเท่า ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
  • เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ในการประกอบธุรกิจเพื่อชุมชนหรือสังคม เป็นประธาน ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ เป็นกรรมการ หรือตำแหน่งบริหารที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น โดยดำเนินการกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
  • ผ่านกระบวนการคัดกรองเพื่อเข้ารับการศึกษาตามที่สถาบันอาศรมศิลป์กำหนด
  • มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการปฏิบัติวิชาชีพ
รายวิชาที่เรียน

(1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
จำนวน  30  หน่วยกิต

(1.1) กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์  จำนวน    6  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

ASI 10101 บริบทชุมชนไทยกับการพัฒนา 3 (1-4-4) (Thai Social Context and Development)
ศึกษาสภาพบริบทของชุมชนไทยในอดีต การเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทย ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงชุมชนไทยในด้านต่างๆ สภาพปัจจุบันและปัญหาของชุมชนไทยในชนบท แนวโน้มเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทย แนวทางแก้ไขปัญหาสังคมไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน การศึกษาชุมชนผ่านการฝึกปฏิบัติจริงด้วยชุดเครื่องมือแผนที่คนดี (People Mapping) การจัดแสดงภาพเล่าเรื่องชุมชน (Photo Essay) การฝึกสุนทรียในการสนทนา (Community Dialogue) และการทำแผนที่ชุมชน (Community Mapping)  เพื่อทำความรู้จักชุมชน การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และการประสานความร่วมมือกับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และเกิดการพัฒนาร่วมกันตามบริบท

ASI 20102  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย 3 (3-0-6) Introduction to General Law)
ศึกษาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักกฎหมายเบื้องต้น ที่มา ประเภท ความสำคัญ การจัดทำ การใช้ การยกเลิก การตีความ และกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ศึกษากฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอาญา กฎหมายการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ รวมทั้งจรรยาบรรณของผู้ใช้กฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ ตีความ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้งาน

(1.2) กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์  จำนวน 6  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

ASI 10201 มงคลชีวิตและวิถีสุขภาวะแบบองค์รวม  3 (1-4-4)
(Contemplative Practices and Holistic Well-Being Approach)
ศึกษาและฝึกปฏิบัติการเพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาชีวิตจากภายในจิตใจ ด้วยการฝึกฝน บ่มเพาะญาณทัศนะ โดยอาศัยกัลยาณมิตรและชุมชนที่สมานฉันท์ ผ่านกระบวนการแห่งการภาวนา 4 คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา รวมทั้งการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวมผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของสถาบันอาศรมศิลป์ และการฝึกปฏิบัติการในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพโดยการเอาใจใส่ดูแลอิริยาบถพฤติกรรม มีสติในการกินอยู่ที่เอื้อต่อสุขภาพอนามัย มีความรู้ถึงสาเหตุและลักษณะอาการของความเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง หรือแบบปัจจุบันทันด่วน รวมทั้งอุบัติภัยต่างๆ และรู้วิธีที่จะป้องกัน แก้ไข หรือลดความเสี่ยง พร้อมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้เป็นผู้ดูแลตนเองในการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดี

ASI 10202 จริยศิลป์  3 (1-4-4)
(Contemplative Arts)
ศึกษา เรียนรู้ความสัมพันธ์และคุณค่าของภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมไทย สถาปัตยกรรมไทย ภูมิ-สถาปัตย์ไทย ศิลปะไทย พุทธศาสนา และจิตตภาวนา ผ่านกิจกรรมศิลปะไทยสัญจร การฝึกปฏิบัติจริยศิลป์ การพูดและการเขียนสะท้อนสภาวะของตนเอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม เพื่อช่วยให้เกิดการรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล มีสติ มีสมาธิ เรียนรู้กุศลจิตและอกุศลจิต ฝึกจิตให้เกิดกุศลและสามารถรักษากุศลจิตนั้นไว้ได้ รู้เท่าทันและจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง ทำให้มีสติและสมาธิในการทำงานมากขึ้น สามารถอยู่กับตนเองและอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากขึ้น รวมทั้งการทำให้เกิดสุนทรียธรรมภายในตนและการเห็นคุณค่าของศิลปะไทย

(1.3)  กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  จำนวน    6  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

ASI 10301 ธรรมชาติศึกษา การเปลี่ยนแปลงและการธำรงรักษา 3 (1-4-4) (Nature-Study, Movement and Preservation)
ศึกษาสมดุลของธรรมชาติและสรรพสิ่งปัจจุบัน การรู้จักรูปทรง โครงสร้างของธรรมชาติ การคงสภาพสืบเนื่อง การเปลี่ยนแปลง บทบาทหน้าที่ของสรรพสิ่ง (ระบบนิเวศ) ที่เกื้อกูลสมดุลธรรมชาติ โดยศึกษาข้อมูลในอดีตเชิงสถิติและภาพรวม ผ่านการสัมผัสธรรมชาติจริง เรียนรู้โดยเน้นฝึกทักษะการสังเกตสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติทั้งใกล้และไกล ฝึกเปลี่ยนการมองตรงจากความจริงที่ช่วยสะท้อนถึงรูปแบบของความคิด การตรึกตรอง การไต่สวนเพื่อให้พูนเพิ่มความรู้ หรือกรอบปฏิบัติการที่ถูกต้องตรงทาง ฝึกป้อนตัวรู้ การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ และการหาคำตอบที่คมชัดในทุกแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากธรรมชาติ ฝึกการเก็บข้อมูลโดยการวาดรูป บันทึกภาพ เชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับ เพื่อให้เกิดสมมุติฐานในการตรวจสอบและหาคำตอบต่อไป ประมวลความรู้ เพื่อการเข้าถึงกฎระเบียบ ระบบต่างๆ ที่มีในธรรมชาติที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษย์ เกิดการอนุรักษ์และการเข้าถึงวิถีแห่งการธำรงรักษาที่ดีที่สุดคือ การรู้จริงโดยตนเองและมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างในการเรียนรู้แบบองค์รวม

ASI 10302 คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 (2-2-5) (Introduction to Computer, Information and Technology)
ศึกษาหลักการทำงานของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อจัดเตรียมเอกสารและการนำเสนองานต่อบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศออนไลน์ และการจัดทำฐานข้อมูลในระดับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ

(1.4)  กลุ่มวิชาภาษา จำนวน   12  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

ASI 10401  การใช้ภาษาอังกฤษ 1  3 (2-2-5) (English Usage I) 
ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การฟังข้อความสั้นๆ การออกเสียงในระดับคำ วลี และประโยค การอ่านป้ายประกาศ แบบฟอร์ม ใบสมัคร ฉลากสินค้าต่างๆ การเขียนข้อความเกี่ยวกับตนเอง การเขียนบรรยายเหตุการณ์ และการจดบันทึกนำเสนอ

ASI 10402  การใช้ภาษาอังกฤษ 2  3 (2-2-5) (English Usage II)
พื้นความรู้ : สอบผ่านรายวิชา ASI 10401 การใช้ภาษาอังกฤษ 1
ทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษในระดับที่ซับซ้อนขึ้น การฟังและการพูดแสดงความคิดเห็นประกอบ การอ่านจับใจความสำคัญในระดับย่อหน้า การเขียนอธิบายเกี่ยวกับคน สิ่งของ และสถานที่

ASI 10403 การรู้ภาษาไทย 3 (2-2-5) (Thai Literacy)
ศึกษาหลักการใชัภาษาไทยและการฝึกทักษะ การฟัง การพูด การอ่าน การคิด และการเขียน การจับใจความสำคัญ การอ่านออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขระ ทักษะการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารสำหรับงานอาชีพอย่างมีศิลปะ ถูกต้องตามกาลเทศะ บุคคล และโอกาส การนำเสนอในเชิงให้ความรู้ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การเขียนประชาสัมพันธ์และโฆษณา การเขียนโครงการ การเขียนรายงานสำหรับงานอาชีพ และการเขียนจดหมาย

ASI 20404 การอ่านภาษาอังกฤษ 3 (2-2-5) (English Reading)
ศึกษากลวิธีต่างๆ ที่ช่วยให้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องรวดเร็ว โดยศึกษาวิธีการหาความหมายของศัพท์ ความเข้าใจประโยคซับซ้อน การอ่านจับใจความความสำคัญ การหาใจความสนับสนุนฝึกการอ่านเพื่อความเข้าใจและฝึกการอ่านด้วยตนเอง


2)  หมวดวิชาเฉพาะ
จำนวน  87  หน่วยกิต

(2.1) กลุ่มวิชาแกน  จำนวน  30  หน่วยกิต

หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

SEP 10501 กระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน 3 (3-0-6)(Community Development Paradigms)
ศึกษาสถานการณ์ ปัญหา และการพัฒนาของโลกในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของโลกยุคโลภาภิวัตน์ต่อชุมชน ผู้เรียนเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาที่ส่งผลต่อชุมชน สังคมไทย การเปลี่ยนแปลงของความคิด ความเชื่อของคนในสังคมที่แตกต่างกัน จนสามารถเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของโลก ประเทศ และชุมชน

SEP 10502  การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และทักษะวิทยากรกระบวนการ   3 (1-2-6 (Learning Process Design and Facilitator Skills)
ศึกษาแนวคิดและหลักการการเป็นวิทยากรกระบวนการ ฝึกทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ สร้างบรรยากาศการพูดคุยอย่างไว้วางใจ ใช้เครื่องมือต่างๆ จนผู้เรียนสามารถเปิดเวทีสนทนาและจัดวงสนทนาพูดคุยอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ค้นหาประเด็น สรุปประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไขร่วมกันของผู้เข้าร่วม ตลอดจนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนและสังคม

SEP 10503 กระบวนการค้นหาต้นทุนชุมชน 3 (1-2-6) (Community Key Resources Exploration Process)
ศึกษาแนวความคิดการสำรวจชุมชนโดยใช้เครื่องมือสำรวจชุมชนหลากหลายแบบ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และจัดทำร่วมกันของผู้นำและคนในชุมชน นำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนโดยมีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งลักษณะทางกายภาพ ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เศรษฐกิจและทุนทางสังคม สุขภาวะชุมชน ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล จัดทำแผนที่เชิงกายภาพ แผนที่คนดี และแผนที่สุขภาวะฯ และจัดทำแผนแม่บทชุมชน การกำหนดทิศทางของชุมชนในระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว

SEP 10504 ศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  3 (3-0-6) (King Rama IX’s Legacy and Sufficiency Economy Philosophy)
ศึกษาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลักการทรงงานและพระราชกรณียกิจ เพื่อเรียนรู้ถึงความเป็นมาของศาสตร์พระราชา ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาตัวอย่างต้นแบบการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามภูมิสังคม

SEP 10505 ละครกระบวนการเพื่อประสานสังคม  3 (1-4-4) (Process Theater for Social Collaboration)

ศึกษาขั้นตอนการผลิตละครกระบวนการ ตั้งแต่การจัดทำโครงการ วัตถุประสงค์ การสร้างเรื่อง การเลือกกลุ่มเป้าหมาย การประสานหน่วยงานภาคี การดำเนินโครงการ จนถึงการจัดละคร ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง และสามารถประสานสังคมหรือชุมชนต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจอันดีจากประเด็นเนื้อหาได้ โดยเน้นที่เนื้อหาของสังคมที่มีความแตกต่างกันสูงในบริบทชุมชน วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์

SEP 10506  การออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม  3 (1-2-6) (Geo-Social Landscape Design)
เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศระดับลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกส่งผลกระทบถึงภัยพิบัติ ความเชื่อมโยงกันของปัญหาระดับลุ่มน้ำ และแนวทางการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำตามหลักภูมิสังคมในระดับชุมชน โดยศึกษาการแก้ไขปัญหาในภูมิสังคมที่แตกต่างกัน

SEP 10507  การพัฒนาแผนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม  3 (1-2-6) (Participatory Community Master Plan Formulation)
ศึกษาและฝึกปฏิบัติการค้นหาต้นทุนชุมชนด้วยเครื่องมือหลากหลาย อาทิ  การสัมภาษณ์เชิงลึก การพัฒนาแผนชุมชนโดยใช้กระบวนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมโดยผู้เรียนเอง และเข้าใจบทบาทของผู้จัดกระบวนการ และองค์ประกอบต่างๆ ที่มีผลต่อการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยทำงานร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 

SEP 30508 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการสังคม 3 (2-1-6) (Introduction to Social Entrepreneurship)
ศึกษาภาพรวมของการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการประกอบการพื้นฐาน ได้แก่ การค้นหาต้นทุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณธ์ การบริหารการตลาด การบัญชีและการเงิน การบริหารต้นทุน กฎหมายพื้นฐานและการจดทะเบียนธุรกิจ วิสัยทัศน์และทัศนคติของผู้ประกอบการ และการเรียนเชิงปฏิบัติจากผู้ประกอบการสังคมโดยนำปัญหาสังคมที่สนใจเป็นเป้าหมายในการพัฒนาโครงงาน โดยเน้นถึงคุณค่า แท้ของการเป็นผู้ประกอบการสังคมในกิจการนั้นๆ ผู้เรียนจะสามารถถอดบทเรียนสำคัญของภาพผู้ประกอบการสังคมต้นแบบ คุณลักษณะและทักษะของผู้ประกอบการสังคม และสามารถสังเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบท ปัญหาในชุมชนของคน และวิเคราะห์ตนเองได้ว่ามีหรือขาดทักษะใด เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสังคมต่อไป

SEP 30509 การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม  3 (2-1-6) (Social Impact Assessment)
ศึกษาหลักการประเมินผลตอบแทนทางสังคม วิเคราะห์ถึงคุณค่าและผลตอบแทนจากการทำโครงงานในพื้นที่ประกอบการสังคม บนฐานต้นทุนและสภาพการณ์ปัญหาของชุมชน เพื่อกำหนดพันธกิจของกิจการผ่านเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (SIA) โดยให้ความสำคัญต่อการประเมินทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพและพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงของชุมชนที่แตกต่างกันตามภูมิสังคม

SEP 30510 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการตลาดเพื่อสังคม 3 (1-2-6) (Product and Service Development and Marketing For Social Enterprise)
ศึกษารูปแบบการดำเนินการด้านธุรกิจเพื่อสังคม พัฒนาและวิจัย ประยุกต์การดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้แนวทางในการดำเนินการธุรกิจแบบใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเรียนรู้ผ่านกระบวนการ กิจกรรม หรือกรณีศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปใช้ออกแบบการประกอบการสังคมเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับบริบทและสภาพความเป็นจริง  ร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อหารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในบริบทของชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน แล้วนำมาประยุกต์ทดลองใช้ในการทำโครงงาน ผู้เรียนจะต้องสามารถเขียนแผนการตลาดของโครงงานที่มีองค์ประกอบของหลัก 4Ps ได้แก่ ผลิตภัณฑ์/บริการ การกำหนดราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และแผนการตลาดโดยจะต้องมีการลงรายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบเพื่อให้เป็นแผนที่สามารถนำไปใช้ได้จริง


(2.2) กลุ่มวิชาเฉพาะด้าน 
จำนวน  30  หน่วยกิต

หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

SEP 10601  กรณีศึกษาบทเรียนการแก้ปัญหาชุมชน 3 (1-4-4)
(Case Study Solving Community Problems and Issues)
ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนและผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มการพัฒนาในอนาคต ทิศทางของกระแสโลกและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาแนวทางของผู้ประกอบการสังคมที่เสริมเข้ากับกลไกการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุลทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การเป็นเจ้าขององค์ความรู้ของชุมชน 

SEP 20602 การบริหารจัดการฐานทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน 3 (1-2-6) (Sustainable Community Resources Management)
ศึกษา วิเคราะห์ต้นทุนชุมชนที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม เพื่อเป็นต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนเชื่อมโยงสู่การเป็นผู้ประกอบการสังคมด้วยการบริหารจัดการและพัฒนาจุดแข็งที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อกิจการและชุมชนไปพร้อมๆ กัน ผ่านการประกอบการสังคม

SEP 20603 ทางรอดในโลกวิกฤต 3 (1-2-6) (Crisis Management and Solutions)
ศึกษาเรียนรู้สถานการณ์ของโลก ในมิติของสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภัยธรรมชาติและผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต และการเป็นผู้ประกอบการสังคม  แนวโน้มผลกระทบในอนาคตจากการที่ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ภาวะขาดแคลนน้ำ อาหารและพลังงาน เพื่อวางแผนรองรับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีสติ รู้ตน มีการทำงานเป็นมีม และมีความสามารถในการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤตได้อย่างเข้าใจ 

SEP 20604  เศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติสำหรับชุมชน  3 (1-2-6) (Sufficiency Economy Implementation for Community)
ฝึกปฏิบัติสร้างฐานทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาความพอมี พอกิน ขั้นพื้นฐานด้วยการผลิตอาหารปลอดภัย มีความภาคภูมิใจในการพึ่งตนเอง มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติและเคารพต่อคุณค่าของชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองอย่างง่ายในวิถีชีวิตประจำวัน ตระหนักถึงอิสรภาพของการพึ่งตนเอง และคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างเบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

SEP 20605  ละครชุมชน   3 (1-4-4) (Community Drama)
ศึกษาวิธีการผลิตละครชุมชน ใช้รูปแบบละครแบบผสมผสาน เพื่อเลือกรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเล่าเรื่องปัญหาของแต่ละชุมชน ศึกษาวิธีสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมจัดละคร และศึกษาการสร้างบทละครจากบริบทปัญหาของชุมชน โดยลงพื้นที่จริงแล้วสร้างสถานการณ์จำลองให้นักศึกษาเป็นผู้เผชิญปัญหาชุมชนนั้นๆ เพื่อเรียนรู้ปัญหาจากการจำลองเป็นคนในชุมชน วิเคราะห์บริบทปัญหาและสร้างสมมุติฐานความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการและสามารถผลิตละครชุมชนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประสานสังคมหรือสมาชิกในชุมชนให้เกิดความเข้าใจอันดีจากประเด็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยเน้นที่ชุมชนศูนย์กลาง

SEP 30606 กรณีศึกษานวัตกรรมผู้ประกอบการสังคม    3 (1-2-6)  (Case Study on Innovation for Social Entrepreneur)
ศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบการประกอบการสังคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และถอดองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมจากกรณีศึกษาผู้ประกอบการ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการประกอบการสังคมที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

SEP 30607 การตลาดดิจิตัล และการสร้างสรรค์เนื้อหา   3 (1-2-6) (Digital Marketing and Content Creation)       
ศึกษาแนวทางการทำการตลาดในยุคดิจิตอล โดยศึกษาจากกรณีศึกษา และการสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางดิจิตัล โดยทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การเขียนเนื้อหาและจัดหาภาพประกอบ พัฒนาเป็นสื่อเพื่อเผยแพร่ผ่านทางช่องทางออนไลน์ด้วย ศึกษาแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ประกอบการสังคมเพื่อค้นหาเครื่องมือช่วยเหลือในการทำงานผู้ประกอบการสังคมผ่านกลไกการตลาดดิจิตัล

SEP 30608 การสื่อสารทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการสังคม 3 (2-1-6) (Marketing Communication for Social Entrepreneur)
ศึกษาลักษณะเฉพาะของสื่อชนิดต่างๆ ทั้งสื่อทางนิเทศศาสตร์ ทัศนศิลป์ วิจิตรศิลป์ วรรณกรรม บทกวี ดนตรี และภาพยนตร์ เพื่อนำมาจัดวางเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางการตลาดเพื่อสังคม เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกใช้สื่อชนิดต่างๆ ได้ถูกต้องกับรูปแบบและกระบวนการที่สัมพันธ์กับพื้นที่ชุมชนและสังคมนั้นๆ รู้จัก เข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในการประกอบการสังคม สามารถผลิตสื่ออย่างง่ายที่มีต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรและต้นทุนนท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ได้ตรงตามเป้าหมาย ทำให้กิจการดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ศึกษาพลังและอิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อการกำหนดหรือชี้นำการตัดสินใจของผู้รับสารผ่านการนำเสนอรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย ข่าว สารคดี โฆษณา เพื่อให้รู้เท่าทันอำนาจและสิ่งที่แฝงเร้นในสื่อ เรียนรู้และจัดทำสื่อรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม ทั้งที่เป็นสื่อ เสียง ภาพ สิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์

SEP 40609 องค์กรและการบริหารสำหรับผู้ประกอบการสังคม 3 (2-1-6) (Organization and Management for Social Entrepreneur)      
ศึกษาต้นแบบผู้ประกอบการสังคมในชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งบุคคล องค์กร เครือข่าย โดยศึกษาที่มา แนวคิด และแนวทางการประกอบการสังคมต่างๆ นั้น เพื่อถอดความหมายการเป็นผู้ประกอบการสังคม พร้อมสกัดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงนำมาพัฒนาตนพัฒนางานได้ ศึกษากระบวนการรูปแบบเครือข่าย และสร้างทักษะการประสานงานในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม สามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงการบริหารงานรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบันที่มีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนบทบาทของสมาชิกชุมชนได้อย่างเข้าใจและยอมรับการเป็นผู้นำร่วม และสามารถปรับตนเป็นผู้ตามได้อย่างเข้าใจ ลดอัตตาตนเอง และเคารพในการอยู่ร่วมกัน

SEP 40610 การพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสังคมเฉพาะด้าน 1  3 (1-2-6) (Social Entrepreneurship Development I)
ฝึกปฏิบัติการพัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคมผ่านโครงงานผู้ประกอบการสังคม โดยบูรณาการความรู้สู่การปฏิบัติ นำไปทดลองใช้จริงในพื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายโดยมีผู้สอนทำหน้าที่เป็นโค้ชผ่านคลินิกผู้ประกอบการสังคม

(2.3) กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ จำนวน  27  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

SEP 20701 ประวัติศาสตร์ละครตะวันตก  3 (3-0-6) (Western Drama History)
ศึกษาประวัติศาสตร์ละครตะวันตก โดยศึกษาภาพรวมประวัติศาสตร์ตะวันตกตั้งแต่ยุคกรีกโบราณจนถึงปัจจุบัน ทั้งปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ การเมือง เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของปัญหาในแต่ละยุคสมัย วิเคราะห์เชื่อมโยงกับบทละครตะวันตกแต่ละยุคสมัยและบทละครคลาสสิค เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อบทละคร สามารถนำไปประยุกต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตละครเพื่อประสานสังคมร่วมสมัย

SEP 20702 ละครเวทีสัญจรเพื่อการศึกษา  3 (1-4-4)
(Theater in Education on Tour)
ศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการการสร้างละครเวทีสัญจรเพื่อการศึกษาของคณะละครมรดกใหม่ และผลิตละครเวทีสัญจรเพื่อการศึกษา โดยเลือกจากเนื้อหาสาระการเรียนรู้ระดับมัธยมที่น่าสนใจ 1 เรื่อง จัดแสดงจริงในโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการผลิตละครเวทีสัญจรเพื่อการศึกษาเต็มรูปแบบ และสามารถวิเคราะห์บทเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษากับความต้องการที่แท้จริงของนักเรียน เพื่อนำมาผลิตละครอย่างสร้างสรรค์และส่งเสริมความเข้าใจเนื้อหาตามหลักสูตรให้แก่นักเรียนได้

SEP 30703 การจัดการเทศกาลละครนานาชาติ 3 (1-4-4) (International Theater Festival Management)
ศึกษาวิธีการจัดเทศกาลละครนานาชาติ เป้าหมาย วิธีการ อุปสรรค และผลกระทบ รวมทั้งศึกษาการสร้างเครือข่ายละคร ทั้งภาคีที่เป็นศิลปินและภาคีที่เป็นภาคส่วนของท้องถิ่นการปกครอง เชื่อมโยงเครือข่ายให้สอดคล้องสัมพันธ์กับเทศกาลละครนานาชาติ ปฏิบัติการร่วมจัดเทศกาลละครนานาชาติ โดยมีเครือข่ายละครร่วมงานเทศกาลจริง เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกและเรียนรู้การเป็นผู้จัดเทศกาลละครนานาชาติโดยตรง และสามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงได้ เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและภาคีต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

SEP 30704 การจัดการชุมชนละคร 3 (1-4-4) (Theater Community Management)
ศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างทางเลือก โดยเน้นที่ชุมชนศิลปะทั้งในอดีตและปัจจุบัน คัดเลือกกลุ่มชุมชนที่มีความน่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษา เรียนรู้รูปแบบการจัดการองค์กร การก่อตั้ง ปัญหา อุปสรรค และเนื้อหาสาระของชุมชน ทดลองออกแบบชุมชนละคร และทดลองใช้ชีวิตในชุมชนละคร เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจวิธีการและลงมือสร้างชุมชนละครของตนเอง หรือร่วมสร้างกับภาคีที่เกี่ยวข้อง

SEP 30705 ประวัติศาสตร์ละครไทย  3 (1-2-6) (Thai Drama History)
ศึกษาพัฒนาการละครไทย ทั้งพื้นบ้านและราชสำนักตั้งแต่อยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นวรรณกรรมละครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงบทละครที่สะท้อนแนวคิดสังคมและการเมืองในปัจจุบัน วิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดละครและผลกระทบจากละครที่มีต่อสังคม กับเหตุการณ์ในสังคมในช่วงเวลาต่างๆ ทดลองเล่นละครไทยรูปแบบต่างๆ เช่น ละครชาตรี ละครนอก ละครใน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อบทละคร สามารถนำไปประยุกต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตละครเพื่อประสานสังคมร่วมสมัย

SEP 30706 ปฏิบัติการนาฏศิลป์และดนตรีตะวันตก 3 (3-0-6) (Practicum: Performing Arts and Western Music)
ศึกษาแนวคิดนาฏศิลป์และดนตรีตะวันตก ฝึกปฏิบัติการเล่นเครื่องดนตรีสากลหนึ่งชนิด และฝึกปฏิบัติการพื้นฐานเต้นแบบตะวันตก เช่น บัลเลย์ ฮิพฮอพ แจ๊สแดนส์ หรือลีลาศ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐาน และนำทักษะไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตละครประสานสังคมร่วมสมัย ทั้งในฐานะผู้แสดงเองและในฐานะผู้ผลิตละคร

SEP 30707 ประวัติศาสตร์ละครตะวันออก  3 (3-0-6)  (Eastern Drama History)
ศึกษาประวัติศาสตร์ละครตะวันออก โดยศึกษาภาพรวมประวัติศาสตร์ตะวันออก ตั้งแต่สมัยของราชวงศ์จีน อินเดียราชวงศ์โมกุล จนถึงปัจจุบัน ทั้งปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ การเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ ปัญหาในแต่ละยุคสมัย วิเคราะห์เชื่อมโยงกับบทละครตะวันออกแต่ละยุคสมัย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อบทละคร สามารถนำไปประยุกต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตละครเพื่อประสานสังคมร่วมสมัย

SEP 30708  ละครใบ้  3 (1-4-4) (Mime)
ศึกษาและฝึกฝนทักษะละครใบ้ ละครสัตว์ ละครกายกรรมเบื้องต้น เรียนรู้วิธีการแสดงและวิธีการสร้างเรื่องราวแบบอวัจนภาษา ฝึกปฏิบัติโดยร่วมแสดงละครใบ้เบื้องต้น เพื่อให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐาน นำทักษะไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตละครประสานสังคมร่วมสมัย ทั้งในฐานะผู้แสดงเองและในฐานะผู้ผลิตละคร

SEP 30709 การเขียนบทละคร  3 (1-2-6) (Script Writing)
ศึกษาการเขียนบทละครที่เน้นวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยจากระดับปัญหาท้องถิ่นสู่ระดับครอบครัว ถึงระดับบุคคล มุ่งเน้นการสร้างเรื่องราวจากครอบครัวของนักศึกษาเอง โดยผสมผสานวิธีการเขียนบทจากสามสำนักคือ 1) ทฤษฎีเรื่องเล่ายาก : คณะละครมรดกใหม่ 2) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ : ซิกมันต์ฟรอยด์ และ 3) ทฤษฎีสัญศาสตร์ : Roland Bathers ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจพื้นฐานของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระดับปุถุชนและในระดับสังคม จนสามารถนำไปเขียนบทละครได้

SEP 30710 ปฏิบัติการนาฏศิลป์ไทย   3 (1-4-4)
(Practicum : Thai Performing Arts)
ศึกษาแนวคิดและประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของนาฏศิลป์ไทย เชื่อมโยงกับการศึกษา การรำและระบำในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นที่การแสดงโขน ศึกษาบทบาทหน้าที่ของการแสดงนาฏศิลป์ไทยในงานพิธีต่างๆ ฝึกซ้อมและปฏิบัติการแสดงจริงในรูปแบบประเพณีนิยมและโขนประยุกต์ เชื่อมโยงการตีบทของโขนกับการแสดงละครใบ้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้เพิ่มทักษะพื้นฐาน นำทักษะไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตละครประสานสังคมร่วมสมัย ทั้งในฐานะผู้แสดงเองและในฐานะผู้ผลิตละคร

SEP 30711 ละครสำหรับผู้ถูกกดขี่  3 (1-4-4) (Theater for the Oppressed)
ศึกษาตัวอย่างขององค์กรที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างเด่นชัด และคัดเลือกองค์กรตัวอย่างเพื่อสร้างละครแทรกสด หรือละครที่นักแสดงและคนดูมีส่วนร่วมและเปลี่ยนแปลงละครระหว่างเล่นได้ เพื่อหาทางเลือกและความเป็นไปได้ในการลดความเหลื่อมล้ำการกดขี่ทางองค์กร ผสมผสานวิธีการของ Forum Theater, Theater of  the Oppress และละครด้นสด ซึ่งผู้เรียนได้เรียนรู้และร่วมผลิตละครสำหรับผู้ถูกกดขี่ รวมทั้งการเป็นกระบวนกรนำกระบวนการสนทนากลุ่มเพื่อหาทางออกในประเด็นต่างๆ

SEP 20712 ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน 3 (0-9-0) (Practicum I : Basic Levels of Sufficiency Economy)
ฝึกปฏิบัติการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานคือการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน สู่การพึ่งพาตนเองขั้นพื้นฐานคือปัจจัย 4 ของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย “ข้าว-ผ้า-ยา-บ้าน” เพื่อการพึ่งพาตนเองและอยู่ได้อย่างพอเพียงตามวิถีชุมชนของตน โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริงในการอยู่ในชุมชนด้วยตนเอง สามารถนำหลักการและเครื่องมือมาวิเคราะห์บริบทของชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง

SEP 20713 ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า  3 (0-9-0) (Practicum II : Advance Levels of Sufficiency Economy)
ฝึกปฏิบัติการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้าได้แก่ การรวมกลุ่มกันพัฒนาผู้ประกอบการสังคมของตนเองหรือกลุ่มของตนในรูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชน เพื่อให้เกิดงานที่ยังประโยชน์แก่ตน ชุมชน และสังคม โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริงในโครงการประกอบการสังคมของตนเองในชุมชนของตน ปฏิบัติการตามแผนและขั้นตอนที่วางไว้ โดยวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการประกอบการสังคมมาพัฒนาใช้กับสถานการณ์จริง สามารถเขียนรายงานการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง แลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ

SEP 20714 ปรัชญา ศาสนา และอารยธรรมไทย  3 (1-2-6) (Thai Civilization, Philosophy and Religion)
ศึกษาความแตกต่างตามภูมิสังคม และที่มาของอารยธรรมไทย ความเปลี่ยนแปลงเมื่อเผชิญกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ การปรับตัวของชุมชน และวัฒนธรรมชุมชนไทยในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาของสังคมไทยที่ผ่านยุคสมัยต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความหลากหลายของชาติพันธุ์ และอารยธรรมของชาติพันธุ์นั้นๆ จนเป็นที่มาของสังคมพหุวัฒนธรรมในปัจจุบันซึ่งอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเคารพ ผู้เรียนมีความเคารพในความต่างของความคิดเห็น และเข้าใจรูปแบบต่างๆ ของสังคมไทยที่กำลังปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

SEP 30715 ปฏิบัติการโครงการเชิงพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม 3 (0-9-0) (Practicum III : Area-Based Project on Geo-Social Principles)
ฝึกปฏิบัติการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานคือการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน สู่การพึ่งพาตนเองขั้นพื้นฐานคือปัจจัย 4 ของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยเพื่อการพึ่งพาตนเองและอยู่ได้อย่างพอเพียงตามวิถีชุมชนของตน โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริงในการอยู่ในชุมชนด้วยตนเอง สามารถนำหลักการและเครื่องมือมาวิเคราะห์บริบทของชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง

SEP 30716  การบริหารจัดการชุมชนแห่งการเรียนรู้   3 (2-1-6) (Management of Professional Learning Community)
ศึกษาแนวคิด หลักการ และกรณีศึกษาของชุมชนการเรียนรู้ต่างๆ รู้จักพื้นที่สุขภาวะ ทุน และคุณค่าของชุมชน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ออกแบบ และสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของตนเองให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และจัดการความรู้ชุมชนอย่างเป็นระบบ สามารถถ่ายทอดให้กับผู้สนใจได้

SEP 40717 การบริหารการตลาดสำหรับผู้ประกอบการสังคม  3 (1-4-4) (Marketing Management for Social Entrepreneur)
ศึกษาแนวคิด หลักการของการบริหารการตลาด การใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการบริหารการตลาด และศึกษาแนวทางการบริหารการตลาดของผู้ประกอบการสังคมที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก เปรียบเทียบกับพัฒนาการของผู้ประกอบการสังคมในประเทศไทย เพื่อนำมาปรับใช้กับแผนการบริหารการตลาด ผู้ประกอบการสังคมของผู้เรียนและชุมชน

 

SEP 40718  การบริหารการเงินและการบัญชีเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการสังคม  3 (1-2-6)(Accounting and Financial Managent for Social Entrepreneur)
ศึกษาแนวทางการบริหารการเงินและการบัญชีเบื้องต้น และการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ หรือแอพลิเคชั่นในด้านการเงินและการบัญชี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสังคมบนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสและเป็นธรรม ศึกษาแนวทางการระดมทรัพยากร ทุน และความร่วมมือผ่าน Online Platform  และกลไกใหม่ๆ ที่นำมาปรับใช้กับการเป็นผู้ประกอบการสังคมในศตวรรษที่ 21

SEP 40719 การพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสังคมเฉพาะด้าน 2 3 (1-2-6) (Social Entrepreneurship Development II)
ศึกษาต้นแบบผู้ประกอบการสังคมที่เป็นต้นแบบ “เฉพาะด้าน” หรือเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการพัฒนากิจการเพื่อสังคมของผู้เรียนโดยผู้เรียนได้ทดลองปฏิบติการสร้างกิจการเพื่อสังคมของตนเอง พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สร้างอัตลักษณ์ของผู้ประกอบการสังคมที่เหมาะสมกับผู้เรียน และชุมชนท้องถิ่นที่มาความเฉพาะตน


(3)   หมวดวิชาเลือกเสรี  จำนวน  12  หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย–ปฏิบัติ–ศึกษาด้วยตนเอง)

SEP 20801 การจัดการขยะ 3 (1-2-6) (Waste Management)
ศึกษาการแยกขยะ การจัดการขยะแต่ละแบบ ทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่ นำไปทำปุ๋ย นำไปซ่อมแซมและจำหน่าย การกำจัดขยะอันตราย การบริหารจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการแยกขยะ จนตระหนักและแยกขยะในวิถีชีวิต เพื่อลดปริมาณขยะที่จะส่งผลกระทบต่อโลกในอนาคตอย่างมาก ศึกษาความหมายและความสำคัญของขยะวิทยา กระบวนการบริหารจัดการขยะ ปริมาณและองค์ประกอบขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และกากของเสียที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการออกแบบเตาเผาและที่ฝังกลบขยะอย่างง่าย การนำขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และกากของเสียไปใช้ประโยชน์ (Recycling) การสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบฝึกการคัดแยกขยะ การนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการขยะ รวมทั้งเกิดจิตสำนึกและตระหนักในการลดปริมาณขยะของตนเองและในชุมชน

SEP 20802  อาหารและการปรุง   3 (1-2-6) (Culinary Arts)
ศึกษาความสำคัญของอาหารต่อคุณภาพชีวิต การเลือกวัตถุดิบและการปรุงอาหาร การปรุงอาหารคาว หวาน ตามสูตรอาหารที่แตกต่างกันตามภูมิสังคมและอาหารนานาชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงอารยธรรมอาหารของไทยและนานาชาติ ที่มาจากความเข้าใจวัตถุดิบอาหารชนิดต่างๆ และได้ตระหนักถึงรสชาติที่แตกต่างกันของพืชอาหารที่เพาะปลูกเองตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ กับพืชผลจากตลาด มีความรักและความเคารพต่ออาหาร

SEP 30803 โครงการธุรกิจเพื่อสังคมของนักเรียน 3 (1-2-6) (Student-Operated Social Enterprises)
ศึกษาและดำเนินการทำโครงงานธุรกิจเพื่อสังคม โดยการเขียนโครงงานนำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อนำเสนอและขออนุมัติกู้ยืมไปดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคม โดยจัดสรรกำไรเป็น 3 ส่วน (100%) ได้แก่ เป็นเงินเก็บสะสม รายได้ระหว่างเรียน และช่วยเหลือสังคม เพื่อให้มีความรู้ในการนำไปประกอบธุรกิจเพื่อสังคม สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

SEP 30804  ปฏิบัติการดนตรีไทย 3 (1-4-4) (Practicum : Thai Traditional Music)
ศึกษาแนวคิดและประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของดนตรีไทยในยุคสมัยต่างๆ อิทธิพลและการเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก ศึกษาบทบาทหน้าที่ของดนตรีไทยในงานพิธีต่างๆ ฝึกซ้อมและปฏิบัติการแสดงจริงในรูปแบบประเพณีนิยมและดนตรีไทยประยุกต์ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐาน นำทักษะไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตละครประสานสังคมร่วมสมัย ทั้งในฐานะผู้แสดงเองและในฐานะผู้ผลิตละคร

SEP 30805 ปรัชญาในภาพยนตร์  3 (1-2-6) (Philosophy in Film)
ศึกษาแนวคิดทางปรัชญาของนักปรัชญาตะวันตกและตะวันออก ผ่านภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างชุมชน การสร้างสังคม และการสร้างธุรกิจ ฝึกวิเคราะห์สัญศาสตร์ ถอดความหมายจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพ เพื่อใช้เป็นทักษะในการวิเคราะห์บริบทชุมชนและสังคมในด้านค่านิยม และการให้คุณค่าของแต่ละสังคม

SEP 30806   แพทย์และสมุนไพร   3 (1-2-6) (Thai Herbs Medication)
ศึกษาแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อการดูแลตนเองเบื้องต้น สมุนไพรพื้นบ้านและการกินอาหารเป็นยา การนวด ประคบ และการดูแลสุขภาพองค์รวม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงอารยธรรมด้านการแพทย์ของไทยที่เหมาะสมกับภูมิสังคมไทย ตระหนักถึงคุณค่าของแพทย์และสมุนไพรไทย

SEP 30807 ผ้าและสิ่งทอไทย 3 (1-2-6) (Thai Traditional Textile)
ศึกษาเรื่องผ้าและการทอผ้าจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ไหม การทอผ้าตามวิถีวัฒนธรรมต่างๆ เทคนิคการทอและการเลือกลาย สิ่งทอในวิถีชีวิตของแต่ละภูมิสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงอารยธรรมการทอผ้าที่สะท้อนถึงภูมิสังคม ความเชื่อ ภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ตระหนักถึงความเป็นมาอันยาวนานของอารยธรรมของแผ่นดิน

SEP 30808  เครื่องมือและช่างในงานกสิกรรม  3 (1-2-6) (Agricultural Tools and Technicians) 
ศึกษาการผลิตเครื่องมือช่างกสิกรรม การประกอบเครื่องมือช่างกสิกรรม อาทิ จอบ เสียม แวก รู้จักเครื่องมือชนิดต่างๆ และความเหมาะสมในการใช้เครื่องมือแต่ละประเภท การเก็บรักษาและซ่อมบำรุง เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาด้านเครื่องมือช่างที่ใช้ในการเกษตร การกสิกรรม ที่แตกต่างตามภูมิสังคม สามารถผลิต ซ่อม และใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม

SEP 30809 พลังงานทดแทน  3 (1-2-6) (Alternative Energy)
ศึกษาและเรียนรู้พลังงานทดแทนและการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเอง เช่น ไบโอดีเซล แก๊สชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ การคำนวณการใช้พลังงานทดแทนในบ้านและการออกแบบการใช้พลังงานทดแทนชนิดต่างๆ ที่เหมาะสม การติดตั้งพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในครัวเรือนและชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนที่สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศของโลกได้ มีความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงาน

SEP 40810  การบริหารกองทุนธุรกิจเงินกู้สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง   3 (1–2–6) (Management of Loan Funds for Students and Parents)
ศึกษากระบวนการจัดตั้ง การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน และฝึกปฏิบัติร่วมกับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ส่งเสริมให้เกิดรายได้ทั้งแก่นักเรียนและผู้ปกครอง

SEP 40811 การแสดงเดี่ยว 3 (1-4-4) (Solo Performance)
ศึกษาการแสดงเดี่ยวในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการเล่าเรื่องในบริบท ต่างๆ เช่น การเทศน์ของนักบวช การสอนแบบ Lecture การเจรจาหว่านล้อมทางการค้า การพูดในที่ประชุม/ชุมชน การอ่านบทกวี การแสดงแบบด้นสด และการแสดง Monologue ปฏิบัติการผลิตละครที่ใช้การแสดงเดี่ยว จัดแสดงจริงในประเด็นเนื้อหาที่กำหนด เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการแสดงเดี่ยวรูปแบบต่างๆ จนมีทักษะพื้นฐาน นำทักษะไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตละครประสานสังคมร่วมสมัย ทั้งในฐานะผู้แสดงเองและในฐานะผู้ผลิตละคร

SEP 40812 แผนที่ชีวิต  3 (1-2-6) (Life Map)
องค์ประกอบของชีวิตและธรรมชาติของสรรพสิ่ง  เหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ในชีวิต การฝึกฝนตนเองบนเส้นทางชีวิต และความตระหนักรู้ในแผนที่ชีวิตของตนเอง นำมาประยุกต์ใช้สู่การวางแผนการดำเนินงานผู้ประกอบการสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ชีวิต

องค์ประกอบเกี่ยวกับประสบการณ์ภาคสนาม (การฝึกงาน หรือสหกิจศึกษา)

การฝึกประสบการณ์ภาคสนามในสาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษา โดยเป็นการฝึกปฏิบัติงานในชุมชนของนักศึกษาเองในแหล่งเรียนรู้ของภูมิปัญญาด้านการประกอบการสังคม ภายใต้การดูแลของอาจารย์นิเทศก์ จำนวน ๒ ภาคการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าภาคการศึกษาละ ๘ สัปดาห์

มาตรฐานผลการเรียนรู้ของประสบการณ์ภาคสนาม

  1. ประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิด ทฤษฎีการเป็นผู้ประกอบการสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในงานประกอบการสังคม และการผลักดันให้หน่วยงาน/องค์กรที่ตนเองฝึกปฏิบัติงานมีผลลัพธ์ในการทำงานสูงขึ้น
  2. ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต เข้าใจในจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นอย่างดี
  3. มีภาวะการเป็นผู้นำ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงาน คิดค้นนวัตกรรมในการทำงานด้านการประกอบการสังคม
  4. มีทักษะในการประสานการปฏิบัติงาน ประสานความร่วมมือกับบุคคลต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง
  5. สามารถสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานได้อย่างดี                 

ช่วงเวลา
การจัดเวลาและตารางการเรียน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ จะมีในภาคการศึกษาที่ 1 ของปีการศึกษาที่ 3 และ 4

การจัดเวลาและตารางสอน
จัดเต็มเวลาใน 1 ภาคการศึกษา หรือ 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำโครงงานหรืองานวิจัย

หลักสูตรนี้มีการทำโครงงาน รวมทั้งการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานโครงงาน หรือ “สารนิพนธ์” และนำเสนอผลการดำเนินงานโครงงาน หรือ “สอบปากเปล่า” ต่อคณะกรรมการหลักสูตร

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
  • นักธุรกิจเพื่อสังคม
  • ผู้ประกอบการสังคม
  • วิสาหกิจชุมชน
  • นักจัดกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชน
คณาจารย์

คณาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ประธานหลักสูตร

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์

นายศักดา ทวิชศรี

ดร.วราภรณ์  วิชญรัฐ

ดร.ภัทร  ยืนยง

คณาจารย์ประจำ

ดร.วราภรณ์ วิชญรัฐ

ดร.ภัทร ยืนยง

นางสาวกัลยาพร สกุตลากุล

นายณัฐพงษ์ มณีกร

นางสาวศิวพร คชารักษ์

คณาจารย์พิเศษ

พระครูสุพรหม ธรรมาภิวัฒน์

นายฐานชน จันทร์เรือง

นายอรรถพล รอดสันเทียะ

นายสุธี ไชยจำเริญ

นางเอื้อมพร ลอยประดิษฐ์

นางสาวอาบอำไพ รัตนภาณุ

นายคนิต ธนูธรรมเจริญ

นางสาวรัตนา นวนแก้ว

นายธีระยุทธ กู่กังวาน

พระวีรยุทธ์ อภิวีโร

นางสาวสุภาวดี อินทแสง

นางสาวภควดี แสนหาญชัย

นางสาวณัฐกานต์ เสมเพียร

นายต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร

ก.ค่าธรรมเนียมในการสมัครและสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ทุกหลักสูตร 700 บาท (ชำระเมื่อยื่นใบสมัคร)

ข.ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา*
(เฉพาะภาคศึกษาแรกที่เข้าศึกษา) 1,000 บาท

ค.ค่าบำรุงการศึกษา (อัตราต่อภาคการศึกษา)
ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1,000 บาท
ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา
1,000 บาท
ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์
1,000 บาท
ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต
1,500 บาท
ค่าบำรุงห้องสมุด
1,500 บาท
ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ *
2,000 บาท

ง.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม
หน่วยกิตละ     1,000 บาท

จ.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายเฉพาะหลักสูตร
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม
ให้นักศึกษาชำระภาคการศึกษาแรก จำนวน 19,500 บาท และ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่สองภาคการศึกษาละ 18,500 บาท ทั้งนี้  ยกเว้นค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์ และค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ  มีรายละเอียดดังนี้

-ค่าบำรุงการศึกษาและค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
ภาคการศึกษาละ 18,500 บาท ระยะเวลา 4 ปี จำนวน 148,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
1,000 บาท ในภาคการศึกษาแรก

หมายเหตุ : อัตราค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายทุกหลักสูตร ยังไม่รวม ค่าธรรมเนียมในการสมัคร/สอบคัดเลือก ค่าใช้จ่ายช่วงสำเร็จการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน 

ฉ.ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
• ค่าปรับลงทะเบียนเรียนล่าช้ากว่ากำหนด
โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (วันละ) 200 บาท
หากมีความจำเป็นขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังสถาบันฯเพื่อพิจารณา มิฉะนั้นการลงทะเบียนนั้นเป็นโมฆะ

• ค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรบัณฑิต (ภาคการศึกษาละ) 1,000 บาท

• ค่าหนังสือแสดงผลการศึกษา
150 บาท

• หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา
150 บาท

• ค่าขอเทียบโอนวิชาจากสถาบันอื่น
(ครั้งละ) 1,500 บาท

• ค่าธรรมเนียมนำเสนอโครงร่างและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
5,000 บาท

• ค่าธรรมเนียมบัตรนักศึกษาที่ขอใหม่
(ใบละ) 200 บาท

• ค่าธรรมเนียมช่วงสำเร็จหลักสูตร
5,000 บาท

• ค่ากิจกรรมภาคสนามในประเทศและต่างประเทศ
พิจารณาตามความเหมาะสม

ช. ค่าปรับการส่งหนังสือห้องสมุดเกินกำหนด
•หนังสือทั่วไป
(เล่ม/วันละ) 10 บาท
•หนังสือจอง
(เล่ม/ชั่วโมง) 10 บาท
•หนังสือจอง
(วันละ) 80 บาท

FAQ คำถามที่พบบ่อย

1.หลักสูตรได้รับการรับรองจาก สกอ. หรือไม่
หลักสูตรได้รับการพิจารณารับทราบให้ความเห็นชอบจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555

2.เรียนจบแล้วได้ปริญญาอะไร
เมื่อเรียนครบหน่วยกิตตามโครงสร้างของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม นักศึกษาจะได้รับปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต (ผู้ประกอบการสังคม)

3.เรียนกี่ปีจบ
การเรียนในหลักสูตร ใช้เวลาศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี ตามแผนการเรียนการสอนของหลักสูตร

4.เทียบโอนจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไร
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ตามประกาศการเทียบโอนของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยมีหลักเกณฑ์การเทียบโอนวิชาเรียนและโอนหน่วยกิต จากสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยรายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้จากหน้าเว็บไซด์ของสถาบันว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การเทียบโอนรายวิชา

5.ค่าเล่าเรียน เท่าไหร่ จ่ายที่ไหน
ค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตร (4 ปี) จำนวน 148,000 บาท หรือ 18,500 บาท/ภาคการศึกษา
ไม่รวม
• ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนนักศึกษา (ชำระครั้งเดียวในภาคการศึกษาแรก)
• ค่าใช้จ่ายในการออกพื้นที่ศึกษาดูงาน
• ค่าใช้จ่ายประกันอุบัติเหตุ
• ค่าใช้จ่ายสำหรับขั้นตอนการสำเร็จการศึกษา

6.คุณสมบัติของผู้เรียนเป็นอย่างไร
สำหรับคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง

7.ต้องมีกิจการมาก่อนหรือเปล่า
การเข้าศึกษาในหลักสูตรไม่จำเป็นต้องมีกิจการมาก่อนเข้าศึกษาแต่สามารถทำกิจการหรือโครงงานเกี่ยวกับการประกอบการสังคมระหว่างการศึกษาได้ หลังจบการศึกษา ผู้ศึกษาสามารถพัฒนากิจการ และการประกอบการเพื่อสังคมได้

8.เรียนอย่างไร ที่ไหน
การจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร เป็นการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project Base Learning) โดยนักศึกษาต้องทำโครงงานเกี่ยวกับการประกอบการสังคม เพื่อเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงระหว่างศึกษาในหลักสูตร ซึ่งสร้างรายได้ให้กับตนเองและเกื้อกูลสังคมไปพร้อมกัน

สำหรับการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรจะมีการจัดการเรียนการสอนที่สถาบัน นอกจากนั้นยังเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานของนักศึกษาเอง และการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายที่สถาบันได้มีข้อตกลงร่วมในการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างสถาบัน

9.สมัครออนไลน์ไม่ได้ ขึ้น error ทำอย่างไรดี
หากมีปัญหาในการสมัครออนไลน์ ให้ติดต่อมายังฝ่ายทะเบียน
Email : [email protected]
เบอร์โทร 02-4904748 ต่อ 110

10.อยากทราบเวลาเรียน
ในวันจันทร์-ศุกร์ ทำการเรียนการสอนในวันจันทร์ – ศุกร์ หรือในวันเสาร์ – อาทิตย์ในบางสัปดาห์

11. เปิดและปิดเทอมช่วงไหน
ตามปฏิทินการศึกษาของสถาบัน เปิดเทอมภาคที่ 1 เดือน สิงหาคม และปิดเทอม เดือนธันวาคม
ในภาคที่ 2 เปิดเทอมเดือน กุมภาพันธ์ และปิดปลายเดือน พฤษภาคม 

12.ไม่ทราบว่ามีการเรียนการสอนหลักสูตรนี้ผ่านมากี่รุ่นแล้ว หรือว่าเปิดสอนมานานเท่าไหร่แล้ว
หลักสูตรเปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาไปทั้งหมด 4 รุ่น

13.ส่วนการสมัครจะใช้เอกสารของมัธยมปลายเท่านั้นใช่ไหม หรือว่าวุฒิสูงกว่านั้นได้
ใช้วุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย

14.สอบข้อเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ข้อสอบจะมี 2 ชุด ชุดที่ 1 วัดความรู้ทั่วไป และชุดที่ 2 วัดความรู้เฉพาะสาขาวิชา

15.ไม่ทราบว่าจะต้องมีเอกสารแนบอื่นๆ ด้วยไหม
เมื่อกรอกใบสมัครแล้ว ปริ้นท์เอกสาร เซ็นลงนาม พร้อมแนบ วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และใบเสร็จโอนเงินค่าสมัคร เข้ามาส่งที่สถาบัน หรือส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่
สถาบันอาศรมศิลป์ (หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต)
เลขที่ 399 ซอยอนามัยงามเจริญ 25 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียนกรุงเทพฯ 10150

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้โดยตรงที่สำนักการประกอบการทางสังคม 02-4904748-54 ต่อ 130-132 หรือ [email protected]

Previous
Next