หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม

Previous
Next

เรียนเพื่อเป็นสถาปนิก ผู้สรรค์สร้างการเปลี่ยนแปลง

สร้าง “สถาปนิกนักเรียนรู้” ที่ใฝ่หาความรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learner) และมีทักษะการทำงานเป็นทีมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนและชุมชน (Participatory Architecture) เป็นสถาปนิกที่สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรม อย่างเข้าถึงคุณค่า มีเอกลักษณ์อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทสังคม โดยเรียนรู้จากการทำงานจริงในโครงงานต่างๆ ร่วมกับสถาปนิกอาชีพ ทั้งนี้ หลักสูตรยังมีการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และ เปิดมุมมองให้กับนักศึกษา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
ภาษาอังกฤษ Bachelor of Architecture Program in Architecture

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถาปัตยกรรม)
ชื่อย่อ สถ.บ. (สถาปัตยกรรม)

ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม Bachelor of Architecture (Architecture)
ชื่อย่อ B.Arch. (Architecture)

จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
176 หน่วยกิต

รูปแบบ
หลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี (เน้นการบูรณาการด้านทฤษฏีและปฏิบัติ)

ภาษาที่ใช้
ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การรับเข้าศึกษา
รับผู้เข้าศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบันอาศรมศิลป์ที่จัดการเรียนการสอนโดยตรงและมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

ผู้เข้าเป็นนักศึกษาต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับขั้นปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขาวิชา และมีคุณสมบัติทั่วไปเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันอาศรมศิลป์ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการบริหารหลักสูตร

• มีสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษา
• ผ่านการสอบคัดเลือกวิชาภาษาไทยตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์
• ผ่านการสอบสัมภาษณ์ตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์  

ผู้สมัครเข้าเรียนในสถาบันฯ ต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังและรักในงานสถาปัตยกรรม การออกแบบ และศิลปะ ใส่ใจในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา การสัมภาษณ์ และความเรียงแสดงเจตจำนง (letter of motivation) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดแข็งของผู้สมัคร

การสมัคร

ขั้นตอนการสมัคร

  • รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังและรักในงานสถาปัตยกรรม การออกแบบ และศิลปะ ใส่ใจในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก
  • ยื่นหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา (Portfolio)
  • การสอบสัมภาษณ์
  • ยื่นความเรียงแสดงเจตจำนง (letter of motivation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดแข็งของผู้สมัคร

หนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา (Portfolio)

ผู้สมัครต้องส่งหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการสมัครเพื่อเข้าเรียน โดยผลงานที่รวบรวมมานั้นเป็นผลงานที่ทำขึ้นด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การ drawing งานวาด (painting) งานปั้น งาน graphics ภาพถ่าย งานไม้ งานออกแบบ เป็นต้น โดยที่งานทั้งหมดนั้นสามารถแสดงให้เห็นได้ถึงความสนใจในงานออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ ความใส่ใจและมีความระมัดระวังในงานที่ทำของผู้สมัคร ทั้งนี้งานที่รวบรวมในหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา ต้องไม่เป็นชิ้นงานต้นฉบับ (original work) แต่ให้เป็นการนำเสนอในลักษณะของรูปภาพ โดยรูปภาพของงานที่ส่งมานั้นต้องเป็นงานพิมพ์ที่มีคุณภาพสูง (high resolution print-out) ทางสถาบันฯ ไม่รับสื่อ digital ต่างๆ

อนึ่ง นอกเหนือจากผลงานที่ทำในรูปแบบต่างๆนั้น งานที่ผู้สมัครต้องแสดงในหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา ได้แก่ ตัวอย่างงาน freehand drawing

ปริมาณของงานที่รวบรวมในหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา ควรมีประมาณ 10-15 ชิ้น โดยมีการออกแบบการจัดวางและ/หรือรูปแบบนำเสนอที่สะอาดและเรียบร้อย แต่ละชิ้นงานต้องมีคำอธิบาย ดังต่อไปนี้

  • รายละเอียดโดยสรุปของงาน ได้แก่ ที่มาของงาน งานนั้นเป็นงานที่ทำในชั้นเรียนหรือผู้สมัครริเริ่มขึ้น
  • แนวความคิดของงาน หรือแรงบันดาลใจในการสร้างงาน
  • สื่อที่ใช้
  • ขนาดจริงของงาน

ลักษณะรูปเล่ม: ทุกชิ้นงานต้องรวบรวมและเย็บเป็นรูปเล่มขนาด A 3 (29.7 x 42ซม.) โดยมีชื่อของผู้สมัครอยู่บนหน้าปก สถาบันไม่รับแฟ้มหรือแผ่นใบปลิวแยก

ปก: วัสดุที่ใช้สำหรับปกเป็นกระดาษเท่านั้น ห้ามใช้วัสดุอื่นๆ เช่น โลหะ พลาสติก ไม้ ฯลฯ

การส่งหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษา: ผู้สมัครต้องส่งหนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษาทางไปรษณีย์ หรือนำส่งด้วยตนเอง  หนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจะไม่ได้รับการพิจารณา

การส่งคืน: หนังสือรวบรวมผลงานนักศึกษาจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการรับนักศึกษาเข้าเรียนของคณะฯ และจะได้รับการส่งคืนถ้าผู้สมัครแนบซองจ่าหน้าถึงผู้รับและแสตมป์ในราคาที่พอดีกับค่าส่ง

ความเรียงแสดงเจตจำนง (letter of motivation)

ผู้สมัครต้องเขียนบรรยายถึงเหตุผลในการเลือกที่จะเรียนในสถาบันฯ และความมุ่งหวังของผู้สมัครในการเรียน รวมถึงทัศนคติของผู้เรียนต่อวิชาชีพ
ความเรียงไม่เกิน 3,000 คำ

หลักฐานอื่นๆเพื่อประกอบการสมัคร

  1. ใบสมัคร (ดาว์โหลด หรือ กรอกใบสมัครออนไลน์)
  2. สำเนาวุฒิการศึกษา (transcript) (พร้อมเซนต์รับรองสำเนา) จำนวน 1 ฉบับ
  3. สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมเซนต์รับรองสำเนา) จำนวน 1 ฉบับ
  4. สำเนาเอกสารเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล (ถ้ามี)
  5. สำเนาทะเบียนบ้าน (พร้อมเซนต์รับรองสำเนา) จำนวน 1 ฉบับ

วิธีการสมัคร

ส่งเอกสารการสมัครทางไปรษณีย์มาที่: งานทะเบียนและบริการการศึกษา
สถาบันอาศรมศิลป์ 399 ซอยอนามัยงามเจริญ 25 ถนนพระราม 2
แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150

หรือ ยื่นเอกสารด้วยตนเองที่ งานทะเบียนและบริการการศึกษา สถาบันอาศรมศิลป์

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00 -9.00 น.

รายวิชาที่เรียน

ก. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
1) กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ASI 10101 การเรียนรู้สถานการณ์ท้องถิ่นและโลกและการสร้างจิตสำนึกพลเมือง 3(3-0-6)
Study on Local and Global Issue and Instilling Civic Conscience
ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของโลกในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และกระแสโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม และการเติบโตของการเปิดเสรีทางการค้าและการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากนานาประเทศภายในระบบเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมในระบบสังคมโลก รวมถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ลดลง ความหมาย ความสำคัญ และบทบาทการเป็นพลเมืองในระดับโลก สังคม และชุมชนท้องถิ่น ต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาของโลกในปัจจุบัน บนฐานสิทธิและหน้าที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญ และจิตสาธารณะ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกพลเมือง ผ่านระบบคุณค่าที่สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

ASI 10102 พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจพอเพียง 3 (3-0-6)
Buddhist Economics and Sufficiency Economy
ความสำคัญของพุทธเศรษฐศาสตร์ เปรียบเทียบพุทธเศรษฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ความเข้าใจมนุษย์แบบพุทธ การบริโภค การผลิต การกระจายผลผลิตภายใต้บริบทพุทธเศรษฐศาสตร์ บทบาทภาครัฐ กลไกการตลาด กลไกรัฐ กลไกชุมชนและประชาสังคม เศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ASI 10103 ปัญหาชุมชนไทยกับการพัฒนา 3 (3-0-6)
Thai Social Problem and Development
สภาพของชุมชนไทยในอดีต การเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทย ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ แนวทางแก้ไขปัญหาของสังคมไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

ASI 10201 มงคลชีวิต 3 (3-0-6)
Contemplative Practices
การฝึกปฏิบัติการ เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาชีวิตจากภายในจิตใจ ด้วยการฝึกฝน บ่มเพาะ ญาณทัศนะ โดยอาศัยกัลยาณมิตรและชุมชนที่สมานฉันท์ ผ่านกระบวนการแห่งการภาวนา 4 คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา อย่าสม่ำเสมอต่อเนื่อง

ASI 10202 วิถีสุขภาวะแบบองค์รวม 3 (3-0-6)
Holistic Well-being Approach
การฝึกปฏิบัติการในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ โดยการเอาใจใส่ดูแลอิริยาบถ พฤติกรรม มีสติในการกินอยู่ ที่เอื้อต่อสุขภาพอนามัย มีความรู้ถึงสาเหตุและลักษณะอาการของความเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง หรือแบบปัจจุบันทันด่วน รวมทั้งอุบัติภัยต่างๆ และรู้วิธีที่จะป้องกัน แก้ไข หรือลดความเสี่ยง พร้อมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้เป็นผู้ซึ่งดูแลตนเองในการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดี

ASI 10207 ศิลปะวิจักขณ์และจริยศิลป์ 2 (1-2-4)
Art Appreciation and Contemplative Arts
การปลูกฝังความชื่นชมและสำนึกในคุณค่าของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ศึกษาหลักเบื้องต้นเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ ความเข้าใจในทัศนศิลป์สาขาต่างๆ รูปแบบและความเป็นมาของศิลปะไทยและสากล การแสดงออกทางศิลปะของมนุษย์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคม การฝึกฝนทักษะการพัฒนาภายในจิตใจผ่านกิจกรรมจริยศิลป์

2) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ASI 10301 ธรรมชาติศึกษา การเปลี่ยนแปลงและการธำรงรักษา 3 (1-4-4)
Nature-Study, Movement and Preservation
สมดุลของโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งปัจจุบัน การรู้จักรูปทรง โครงสร้างของธรรมชาติ การคงสภาพสืบเนื่อง การเปลี่ยนแปลง บทบาทหน้าที่ของสรรพสิ่ง (ระบบนิเวศ) ที่เกื้อกูลสมดุลธรรมชาติ โดยศึกษาข้อมูลในอดีตเชิงสถิติและภาพรวม ผ่านการสัมผัสธรรมชาติจริง เรียนรู้โดยเน้นฝึกทักษะการสังเกตสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติทั้งใกล้และไกล ฝึกเปลี่ยนการมองตรงจากความจริงที่ช่วยสะท้อนถึงรูปแบบของความคิด การตรึกตรอง การไต่สวนเพื่อให้พูนเพิ่มความรู้ หรือกรอบปฏิบัติการที่ถูกต้องตรงทาง ฝึกป้อนตัวรู้ การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ และการหาคำตอบที่คมชัดในทุกแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากธรรมชาติ ฝึกการเก็บข้อมูลโดยการวาดรูป บันทึกภาพ เชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับ เพื่อให้เกิดสมมุติฐานในการตรวจสอบและหาคำตอบต่อไป ประมวลความรู้ เพื่อการเข้าถึงกฎระเบียบ ระบบต่างๆ ที่มีในธรรมชาติ ที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษย์ เกิดการอนุรักษ์และการเข้าถึงวิถีแห่งการธำรงรักษาที่ดีที่สุดคือ การรู้จริงโดยตนเองและมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างในการเรียนรู้แบบองค์รวม

ASI 10302 หลักการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 3 (3-0-6)
Mathematical and Scientific Reasoning
แนวคิดและหลักการให้เหตุผลจากการได้สังเกต เข้าใจความจริงทางธรรมชาติ การวิเคราะห์สถานการณ์ที่ปรากฏหรือปัญหาต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ โดยใช้แนวคิดทฤษฎี (ย่อย) และกลยุทธ์ การเรียนรู้ เพื่อให้ได้ตัวรู้ในคำถามคำตอบที่เกิดจากการพัฒนาความรู้ ทั้งลักษณะ การคำนึง และการคำนวณ การรู้หลักเกณฑ์ของจำนวนจริง (RF Counting) ไปสู่ระบบหน่วยตัวเลข (Digits) ตัวเลขที่เป็นชุด เป็นแถวอันดับ (Matrix) และความรู้อื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริงเชิงคณิตศาสตร์ ควบคู่หลักการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เกิดจากความสนใจใคร่รู้โลก และสิ่งรอบตัว หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เกิดวิธีค้นหาคำตอบนั้นๆ ในกระบวนการวิธีวิทยาศาสตร์ และให้ผู้เรียนแตกฉานขึ้นด้วยกระบวนการทางปัญญา 10 ขั้นตอน เพื่อสืบค้นข้อมูลความจริง ติดตามบันทึกจนสามารถสรุปผลสุดท้ายได้ร่วมกัน เกิดเป็นความรู้ ทฤษฏีต่างๆ ศึกษาเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีที่มนุษย์คิดค้นพบขึ้น ล้มล้างทฤษฎีเดิมเกิดทฤษฎี แนวคิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ และการนำความรู้เชิงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์สร้างสรรค์ วิทยาการ เทคโนโลยี เกิดการเปลี่ยนวิถี รวดเร็วจนเกิดผลกระทบที่มนุษย์และสังคมปัจจุบัน หรือเกิดการทำลายธรรมชาติแวดล้อม ในที่สุดทำลายตัวมนุษย์เอง ให้ผู้เรียนตระหนักถึงการใช้คณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ไปให้ถูกทาง ไม่ใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดผลเสียหายหรือเสียหายให้น้อยที่สุด

ASI 10303 คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 (2-2-5)
Introduction to Computer, Information and Technology
หลักการทำงานของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อจัดเตรียมเอกสารและการนำเสนองานต่อบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศออนไลน์ และการจัดทำฐานข้อมูลในระดับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ

3) กลุ่มวิชาภาษา

ASI 10401 การใช้ภาษาอังกฤษ 1 3 (2-2-5)
English Usage 1
ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ในลักษณะที่ผสมผสานกันทั้ง 4 ทักษะ โดยอาศัยการศึกษาโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษาเป็นรากฐาน และเน้นหนักไปในด้านการอ่านเพื่อช่วยให้สามารถใช้ภาษาทางด้านการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

ASI 10402 การใช้ภาษาอังกฤษ 2 3 (2-2-5)
English Usage 2
ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน เพิ่มเติม ในลักษณะเชื่อมโยง ประสานกันทั้ง 4 ทักษะ โดยอาศัยการศึกษาโครงสร้างทางไวยากรณ์เป็นรากฐาน และเน้นหนักไปในด้านการเขียนเพื่อช่วยให้สามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องในด้านการสื่อสารในชีวิตประจำวันและในการศึกษาภาษาอังกฤษชั้นสูง

ASI 10403 การอ่านภาษาอังกฤษ 3 (3-0-6)
English Reading
กลวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยให้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องรวดเร็ว โดยศึกษาวิธีการหาความหมายของศัพท์ ความเข้าใจประโยคซับซ้อน การอ่านจับใจความความสำคัญ การหาใจความสนับสนุนฝึกการอ่านเพื่อความเข้าใจและฝึกการอ่านด้วยตนเอง

ASI 10404 ทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูดและการเขียนภาษาไทย 3 (3-0-6)
Listening, Conceptually Reading, Speaking and Writing Skill in Thai Language
หลักการและการฝึกทักษะการฟัง การอ่าน การคิด การเขียนและการพูด ด้านการฟังและการอ่านจะเป็นการจับใจความสำคัญและการแสดงความคิดเห็น สำหรับการอ่านจะเน้นการอ่านออกเสียงด้วย ด้านการเขียนจะเน้นการใช้ภาษา การเขียนย่อหน้า สำนวนโวหาร ภาพพจน์ ตลอดจนการเก็บและบันทึกข้อมูล ด้านการพูดจะเน้นการสนทนา การสัมภาษณ์ การเล่าเรื่อง การประชุม ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ทักษะดังกล่าวถ่ายทอดความรู้ ความคิดอย่างมีขั้นตอนและสมเหตุสมผล

ข. หมวดวิชาเฉพาะ
1) กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ

ARC 10501 พื้นฐานการออกแบบ 3 (1-4-4)
Design Fundamental
ความเข้าใจในทฤษฎีการออกแบบขั้นพื้นฐาน การจัดองค์ประกอบศิลป์สองมิติและสามมิติ รูปแบบการสร้างรูปทรงและที่ว่างที่สัมพันธ์กับการใช้งาน สัดส่วนมนุษย์ องค์ประกอบทางศิลปะ รวมถึงแนวความคิดในการออกแบบ การฝึกปฏิบัติการออกแบบองค์ประกอบศิลป์ และชิ้นงานที่มีประโยชน์ใช้สอย เช่น เครื่องเรือน การสื่อสารแนวความคิดด้วยแบบและการนำเสนอ รวมถึงการสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง

ARC 10502 ทักษะการวาดเส้นระบายสี 1 2 (1-3-3)
Drawing and Painting 1
ศึกษาหลักการวาดภาพด้วยดินสอ หมึก สีน้ำ และอุปกรณ์เขียนภาพอื่นๆ ฝึกปฏิบัติการวาดภาพสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบต่างๆ ทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อเสริมทักษะในการนำเสนองานออกแบบสถาปัตยกรรม และสุนทรียภาพทางศิลปะ

ARC 10503 ทักษะการวาดเส้นระบายสี 2 2 (1-3-3)
Drawing and Painting 2
ศึกษาวิธีการนำเสนองานศิลปะและสถาปัตยกรรมด้วยสื่อและเทคนิคต่างๆ ที่หลากหลาย การฝึกเขียนสเกตซ์ วาดเส้น ระบายสี ทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อสร้างทักษะและสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรม รวมถึงสร้างนิสัยการบันทึกและสื่อสารด้วยภาพ

ARC 10504 การเขียนแบบสถาปัตยกรรม 2 (1-3-3)
Architectural Drawing
การใช้เครื่องมือเขียนแบบ การปฏิบัติการเขียนแบบตามหลักเรขาคณิต การเขียนตัวอักษร และการใช้สัญลักษณ์มาตรฐานการเขียนแบบ พื้นฐานการเขียนแบบสถาปัตยกรรม รูปด้าน รูปตัด การเขียนรูปทรงสามมิติแบบต่างๆ การกำหนดแสงเงา และพื้นฐานการเขียนทัศนียภาพ

ARC 10505 การเขียนแบบเพื่อเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 2 (1-3-3)
Vernacular documentation
การค้นคว้าข้อมูลภาคสนาม การสำรวจและเขียนแบบงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพื่อสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรม และใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม การฝึกปฏิบัติการภาคสนาม เพื่อสำรวจและเขียนแบบงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

ARC 10506 สุนทรียภาพในงานสถาปัตยกรรม 2 (1-2-4)
Aesthetic in Architecture
ความหมายของสุนทรียภาพ มนุษย์กับประสบการณ์ทางความงาม และการรับรู้คุณค่าความงามในงานสถาปัตยกรรม การพัฒนาผัสสะ และทักษะในการเลือกสรรคุณค่าความงามทางสถาปัตยกรรม ซึ่งสนองความต้องการและความรู้สึกทางอารมณ์และจิตใจ เพื่อปลูกฝังและพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามไปสู่คุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์

ARC 10507 ทักษะพื้นฐานการศึกษาชุมชนและเมือง 2 (1-2-4)
Basic Skills in Community and Urban Study
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน ชุมชน และการพัฒนาเมือง การศึกษาดูงานในพื้นที่เพื่อพัฒนาทักษะการสังเกตและเรียนรู้ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมทางกายภาพกับโครงสร้างทางสังคมรวมถึงวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในระดับชุมชนและเมือง

ARC 10508 หัตถกรรมการสร้าง 1 2 (0-4-4)
Construction Workmanship 1
การฝึกปฏิบัติการงานช่างไม้ ช่างเหล็ก ขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างทักษะในการประดิษฐ์ชิ้นงานด้วยตนเอง รวมถึงสร้างเสริมความเข้าใจในกระบวนการทำงานและความสำคัญของงานช่างในการสร้างสรรค์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรม

ARC 20509 หัตถกรรมการสร้าง 2 2 (0-4-4)
Construction Workmanship 2
การฝึกปฏิบัติการงานก่อสร้างอาคารขนาดเล็ก เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจในกระบวนการทำงานก่อสร้างให้บรรลุเป้าหมายของการออกแบบสถาปัตยกรรม รวมถึงความสำคัญในการวางแผนการทำงาน และการทำงานกลุ่ม

ARC 20510 ประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย 2 (1-2-4)
History of Thai Arts and Architecture
ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการของงานศิลปะและสถาปัตยกรรม จากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี ที่มีผลกระทบต่อแนวความคิดทางศิลปะ และการออกแบบสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนถึงรัตนโกสินทร์โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบและการศึกษาดูงาน

ARC 20511 ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันออก-ตะวันตก 2 (2-0-4)
History of Western and Eastern Architecture
ศึกษาประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรม โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีรากฐานจากอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนถึงปลายศตวรรษที่ 20 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการของงานออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นฐานแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม

2) กลุ่มวิชาชีพ
2.1) วิชาชีพ – บังคับ

ARC 10601 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 1 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 1
ปฏิบัติการพื้นฐานการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยการระบุปัญหาและตั้งโจทย์จากการทำงานจริงในชุมชน และการค้นคว้าข้อมูลภาคสนาม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะการแก้ปัญหาทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างเป็นองค์รวม เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต รวมถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ARC 20602 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 2
วิชาบังคับก่อน: ARC 10601 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 1
ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับสถาปนิกวิชาชีพในงานออกแบบอาคารขนาดเล็ก โดยมีส่วนในการค้นคว้าข้อมูล และวิเคราะห์โปรแกรมการใช้งาน มีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมาย แนวความคิดและการออกแบบเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์สอดคล้องกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ทักษะและความเข้าใจพื้นฐานในการออกแบบที่ว่างและรูปทรงทางสถาปัตยกรรม และความสัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอย โดยเน้นความสัมพันธ์ของสัดส่วนมนุษย์ พฤติกรรมและจิตวิทยาในการครอบครองที่ว่าง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับบริบทและสภาพแวดล้อม การจัดวางเครื่องเรือน และสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรม

ARC 20603 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 3
วิชาบังคับก่อน: ARC 20602 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2
ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับสถาปนิกวิชาชีพในงานออกแบบอาคารขนาดเล็ก พัฒนาแบบรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม การกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับระบบโครงสร้างและวิธีการก่อสร้าง โดยคำนึงถึงบริบท ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ARC 20604 ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม 1 2 (1-2-4)
Architectural Design Theory 1
วิชาบังคับก่อน: ARC 20602 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2
การอ่านถอดบทเรียนและบันทึกจากบทความและเอกสารอ้างอิง รวมถึงการศึกษาดูงาน เพื่อสร้างทักษะการสังเคราะห์ข้อมูล และกำหนดแนวคิดทางสถาปัตยกรรม โดยเน้นบริบทของการออกแบบอาคารบ้านพักอาศัย อิทธิพลและแนวความคิดในการสร้างสถาปัตยกรรม และเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการออกแบบอาคารบ้านพักอาศัย

ARC 20701 วัสดุและการก่อสร้างอาคาร 1 3 (1-4-4)
Building Material and Construction 1
ศึกษาหลักการก่อสร้างและคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน ขั้นตอนการผลิต การใช้งานและการบำรุงรักษา รายละเอียดและการเชื่อมต่อของส่วนประกอบในอาคารโครงสร้างไม้ การเขียนแบบก่อสร้างและสัญลักษณ์ในการเขียนแบบ ปฏิบัติการเขียนแบบก่อสร้าง ทำหุ่นจำลอง และศึกษาดูงานในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ARC 20702 วัสดุและการก่อสร้างอาคาร 2 3 (1-4-4)
Building Material and Construction 2
วิชาบังคับก่อน: ARC 20701 วัสดุและการก่อสร้างอาคาร 1
ศึกษารายละเอียดและวิธีการก่อสร้างอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเล็ก โครงหลังคาไม้และเหล็กสำหรับอาคารขนาดเล็ก รายละเอียดและรอยต่อที่สำคัญในอาคาร พื้นฐานงานระบบในอาคารขนาดเล็ก ปฏิบัติการเขียนแบบก่อสร้าง การทำหุ่นจำลอง และศึกษาดูงานในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ARC 20703 กลศาสตร์และกำลังวัสดุ 2 (1-2-4)
Mechanics and Strength of Material
ศึกษาหลักการสถิตยศาสตร์และความแข็งแรงของวัสดุ กฎของแรง การรวมแรง และสมดุลของแรงใน 2 มิติ จุดศูนย์กลางของพื้นที่และจุดศูนย์ถ่วง คุณสมบัติทางกลของวัสดุ แรงอัด แรงดึง แรงเฉือน โมเมนต์ดัด หน่วยแรง ความเค้นและความเครียดในวัสดุโครงสร้าง โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการทดลองและปฏิบัติการ

ARC 20801 สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น 3 (2-2-5)
Tropical Architecture
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม บรรยากาศและการแบ่งสภาพภูมิอากาศตามภูมิภาคของโลก อิทธิพลของสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่ออาคาร และสภาวะน่าสบายในอาคาร รูปแบบและแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การวางผังและออกแบบอาคารให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ การป้องกันฝนและแดดให้แก่อาคาร การใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ การใช้วัสดุเพื่อสะท้อนและลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่อาคาร รวมถึงการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น

ARC 20802 ทักษะการเรียนรู้และการวิจัยทางสถาปัตยกรรม 2 (1-2-4)
Learning and Research Skills in Architecture
การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อกำหนดหัวข้อการวิจัยทางสถาปัตยกรรม วิธีรวบรวมข้อมูลเพื่อการวางแผนการวิจัยและการทบทวนวรรณกรรม การเขียนเชิงวิชาการ และการทำกรณีศึกษา

ARC 20803 คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและเขียนแบบ 1 2 (1-3-3)
Computer-Aided Design and Drawing 1
ศึกษาการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการเขียนแบบสถาปัตยกรรม หลักการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและเขียนแบบในงานออกแบบสถาปัตยกรรม ฝึกฝนทักษะการแสดงแบบสองมิติ การจำลองแบบอาคารด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของรูปทรงและที่ว่างทางสถาปัตยกรรม และการนำเสนอผลงานออกแบบสามมิติโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์

ARC 30804 คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและเขียนแบบ 2 2 (1-3-3)
Computer-Aided Design and Drawing 2
ฝึกฝนการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นสูงเพื่อช่วยในการออกแบบสถาปัตยกรรม ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและช่วยในการคำนวณทางสถาปัตยกรรมเพื่อนำไปสู่การออกแบบ

ARC 30605 ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม 2 2 (1-2-4)
Architectural Design Theory 2
วิชาบังคับก่อน: ARC 20604 ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม 1
การอ่านถอดบทเรียนและบันทึกจากบทความและเอกสารอ้างอิง รวมถึงการศึกษาดูงาน เพื่อสร้างความเข้าใจทฤษฎีและแนวคิดทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัย หลักจิตวิทยาพื้นฐานซึ่งมีผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรม ปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ และแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์และการรับรู้ที่ว่างทางสถาปัตยกรรม

ARC 30606 ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม 3 2 (1-2-4)
Architectural Design Theory 3
วิชาบังคับก่อน: ARC 30605 ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม 2
การอ่านถอดบทเรียนและบันทึกจากบทความและเอกสารอ้างอิง รวมถึงการศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีการออกแบบอาคารสาธารณะและชุมชน สิ่งแวดล้อมกับพฤติกรรมการใช้สอยอาคาร เกณฑ์และมาตรฐานการออกแบบอาคารสาธารณะ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อมและชุมชน

ARC 30607 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 4 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 4
วิชาบังคับก่อน: ARC 20603 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3
ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับสถาปนิกวิชาชีพในงานออกแบบอาคารสาธารณะ โดยมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบ ความสัมพันธ์ของประโยชน์ใช้สอย ที่ตั้งและบริบท ระบบการสัญจรทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมทั้งมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและแนวความคิดในการออกแบบโครงการเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์สอดคล้องกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ARC 30608 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 5 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 5
วิชาบังคับก่อน: ARC 30607 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 4
ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับสถาปนิกวิชาชีพในงานออกแบบอาคารสาธารณะ โดยมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับแนวความคิด โดยคำนึงถึงบริบท ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ระบบโครงสร้าง วิธีการก่อสร้าง และ ระบบอุปกรณ์อาคาร

ARC 30704 การวิเคราะห์โครงสร้าง 2 (1-2-4)
Structural Analysis
วิชาบังคับก่อน: ARC 20703 กลศาสตร์และกำลังวัสดุ
ศึกษาหลักการวิเคราะห์โครงสร้างขั้นพื้นฐาน แนวความคิดในการออกแบบและเลือกใช้โครงสร้างในงานสถาปัตยกรรม รวมทั้งหลักการเกี่ยวกับแรง วัสดุ รูปร่าง และการเสียรูปอันเนื่องจากแรงกระทำแบบต่างๆ บนโครงสร้าง เช่น คาน โครงข้อแข็งและโครงข้อหมุน โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการทดลองและปฏิบัติการ

ARC 30705 การออกแบบโครงสร้าง 2 (1-2-4)
Structural Design
วิชาบังคับก่อน: ARC 20703 กลศาสตร์และกำลังวัสดุ
ศึกษาหลักการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นพื้นฐาน การออกแบบคาน พื้น เสา บันได และฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก การออกแบบโครงสร้างเหล็กและไม้ สำหรับแรงอัด แรงดึง แรงดัดและการโก่ง การออกแบบจุดต่อของโครงสร้างไม้และเหล็ก รวมถึงการประสานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กกับโครงสร้างเหล็ก

ARC 30706 เทคโนโลยีทางอาคาร 1 3 (2-2-5)
Building Technology 1
วิชาบังคับก่อน: ARC 20702 วัสดุและการก่อสร้างอาคาร 2
ศึกษาการก่อสร้างอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างเหล็กขนาดกลาง การใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปในการก่อสร้างอาคาร ระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาคารขนาดกลาง ปฏิบัติการเขียนแบบก่อสร้าง ทำหุ่นจำลอง และศึกษางานในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ARC 30707 เทคโนโลยีทางอาคาร 2 3 (2-2-5)
Building Technology 2
วิชาบังคับก่อน: ARC 30706 เทคโนโลยีทางอาคาร 1
ศึกษาการก่อสร้างอาคารขนาดกลางและอาคารขนาดใหญ่ ระบบโครงหลังคาช่วงกว้าง การออกแบบรอยต่อและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาคารขนาดใหญ่ ปฏิบัติการเขียนแบบก่อสร้าง ทำหุ่นจำลอง และศึกษางานในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ARC 30708 ระบบประกอบอาคาร 1 2 (2-0-4)
Building Service Systems 1
วิชาบังคับก่อน: ARC 20702 วัสดุและการก่อสร้างอาคาร 2
ศึกษาหลักการทำงานของระบบอุปกรณ์อาคารและระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับอาคาร ได้แก่ ระบบประปา ระบบสุขาภิบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง เพื่อออกแบบอาคารให้รองรับการทำงานของระบบประกอบอาคารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ARC 30709 ระบบประกอบอาคาร 2 2 (2-0-4)
Building Service Systems 2
วิชาบังคับก่อน: ARC 30708 ระบบประกอบอาคาร 1
ศึกษาหลักการทำงานของระบบอุปกรณ์อาคารที่เกี่ยวเนื่องกับอาคารสาธารณะ และอาคารขนาดใหญ่ ระบบปรับอากาศ ระบบขนส่งในอาคาร เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบสื่อสารในอาคาร ระบบการควบคุมเสียง ระบบควบคุมความปลอดภัยในอาคาร และระบบอาคารอัจฉริยะ รวมถึงมาตรฐานการติดตั้ง การจัดเตรียมพื้นที่ การใช้งานและการซ่อมบำรุงรักษาระบบประกอบอาคาร

ARC 30710 สถาปัตยกรรมยั่งยืน 3 (2-2-5)
Sustainable Architecture
วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นิยามของสถาปัตยกรรมยั่งยืน หลักการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืนและบทเรียนจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น การคำนึงถึงสภาพอากาศ การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม หลักการวางผังภูมิทัศน์ชุมชนและเมือง โดยคำนึงถึงระบบนิเวศ ระบบการสัญจร รวมถึงการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

ARC 30805 พื้นฐานสถาปัตยกรรมไทย 3 (2-2-5)
Introduction to Thai Architecture
ศึกษาปัจจัยพื้นฐานและอิทธิพล ที่มีผลกระทบต่อแนวความคิดและรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรมไทย คติความเชื่อและระบบสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย ลักษณะและรูปแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมไทยในภูมิภาคต่างๆ ทั้งอาคารพักอาศัยและอาคารทางศาสนา

ARC 30806 การวางผังบริเวณ 2 (1-2-4)
Site Planning
ความเข้าใจทฤษฎีการออกแบบวางผังบริเวณขั้นพื้นฐาน จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและพื้นที่การวิเคราะห์สภาพภูมิประเทศ หลักการวิเคราะห์และเลือกที่ตั้ง การใช้ที่ดินและการสัญจร การปรับระดับ การระบายน้ำ พืชพรรณและองค์ประกอบทางภูมิทัศน์

ARC 30807 การจัดทำโครงการทางสถาปัตยกรรม 2 (1-2-4)
Architectural Programming
ศึกษากระบวนการจัดทำโครงการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการจัดทำรายละเอียดโครงการและการเขียนโครงการทางสถาปัตยกรรม รวมถึงแนวทางเบื้องต้นในการประเมินผลกระทบของโครงการต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ARC 40609 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 6 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 6
วิชาบังคับก่อน: ARC 30608 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 5
ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับสถาปนิกวิชาชีพในงานออกแบบอาคารสาธารณะ โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบและออกแบบรายละเอียดสถาปัตยกรรม เทคนิคและระบบการก่อสร้าง ระบบอุปกรณ์อาคารและการดูแลรักษา โดยคำนึงถึงบริบท ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ARC 40610 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 7 4 (0-8-8)
Architectural Design for Community and Environment 7
วิชาบังคับก่อน: ARC 40609 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 6
ปฏิบัติการโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของชุมชน โดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานภาคสนามเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับชุมชน วิเคราะห์ปัญหา ศักยภาพ และ เป้าหมาย รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานออกแบบวางผังชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของชุมชน

ARC 40711 เทคโนโลยีที่เหมาะสมทางสถาปัตยกรรม 3 (2-2-5)
Appropriate Technology in Architecture
ศึกษาแนวความคิดในการออกแบบอาคาร และส่วนประกอบของอาคารที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่ตั้ง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงเทคนิควิธีการใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้จากท้องถิ่น การประหยัดพลังงาน ความแข็งแรงคงทนถาวรและการดูแลรักษา เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ARC 40808 การออกแบบชุมชนเมือง 1 2 (1-2-4)
Urban Design 1
ศึกษาวิวัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และชุมชนเมืองในระดับต่างๆ รวมถึงองค์ประกอบของเมือง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจหลักการวางแผนและผังเมือง ความเข้าใจในทฤษฎีการออกแบบชุมชนเมืองขั้นพื้นฐาน การศึกษารวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อการวางผังและการออกแบบชุมชนเมือง

ARC 40809 การออกแบบชุมชนเมือง 2 2 (1-2-4)
Urban Design 2
ศึกษาทฤษฎีการออกแบบชุมชนเมืองและวางผังเมืองอย่างยั่งยืน การออกแบบชุมชนเมืองโดยคำนึงถึงโครงสร้าง องค์ประกอบทางกายภาพ และจินตภาพของชุมชนเมือง ตลอดจนวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง กระบวนการคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของชุมชน การใช้งาน บำรุงรักษา และการจัดการชุมชนเมือง และมาตรการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

ARC 40810 หลักปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม 2 (1-2-4)
Professional Practice
หลักการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม ระเบียบและจรรยาบรรณในการปฏิบัติวิชาชีพ ความรับผิดชอบของสถาปนิก การบริหารและจัดการในสำนักงานสถาปนิก ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการปฏิบัติวิชาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิกกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง การทำสัญญาเพื่อการก่อสร้างและกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร

ARC 40811 สังคมวิทยาเมืองและการวางผังเมือง 2 (2-0-4)
Urban Sociology and Urban Planning
นิยามของสังคมวิทยาชนบทและสังคมวิทยาเมือง ความหมายของชุมชนแบบชนบทและชุมชนเมือง ลักษณะสังคมชนบทและสังคมเมือง ในด้านนิเวศวิทยา ประชากร เศรษฐกิจและอาชีพ สถาบันสังคม กลุ่มและองค์การทางสังคม ลักษณะค่านิยม การเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง บทบาทของการวางผังเมืองกับการแก้ไขปัญหาสังคมชนบทและสังคมเมือง

ARC 40812 เสวนาทางสถาปัตยกรรม 2 (2-0-4)
Seminar in Architecture
เสวนากับสถาปนิกวิชาชีพ นักคิด นักวิจารณ์ ในประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม แนวความคิดและปรัชญาในการออกแบบ สถานภาพปัจจุบันของงานสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศ ผลกระทบต่างๆ ของงานออกแบบที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและเมือง ปัญหาวิชาชีพสถาปัตยกรรมการศึกษาและแนวคิด และนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม

ARC 50611 สหกิจศึกษา 6 (0-0-30)
Co-operative Education
วิชาบังคับก่อน: ARC 40610 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 7
การปฏิบัติงานวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ในสำนักงานสถาปนิก หน่วยงานภาครัฐหรือ เอกชน โดยความเห็นชอบของสถาบันฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการสหกิจศึกษาร่วมกับสถานประกอบการวิชาชีพ

ARC 50612 เตรียมวิทยานิพนธ์ 3 (1-4-4)
Pre-Thesis
วิชาบังคับก่อน: ARC 40610 ปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 7
ศึกษาระเบียบวิธีวิจัยและปฏิบัติการค้นคว้าข้อมูล เพื่อจัดทำโครงการวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรม โดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เก็บรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบวิทยานิพนธ์

ARC 50613 วิทยานิพนธ์ 9 (0-18-18)
Thesis
วิชาบังคับก่อน: ARC 50612 เตรียมวิทยานิพนธ์
ศึกษาและปฏิบัติงานออกแบบโครงการสถาปัตยกรรม ตามรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติจากวิชาเตรียมวิทยานิพนธ์ โดยบูรณาการทักษะ ความรู้ และความเข้าใจในทฤษฎีและองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมจากการเรียนรู้ในหลักสูตร มาใช้ในการสังเคราะห์และออกแบบ เพื่อนำเสนอเป็นผลงานวิทยานิพนธ์

2.2) วิชาชีพ-เลือก

ARC 40712 การจัดการพลังงานในทางสถาปัตยกรรม 3 (3-0-6)
Energy Management in Architecture
ศึกษาและปฏิบัติการเกี่ยวกับรูปแบบของการใช้พลังงานต่างๆ ในอาคาร การจัดการพลังงานในอาคารทั้งทางตรงและทางอ้อม การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในการออกแบบ กฎหมายอนุรักษ์พลังงานที่ส่งผลต่อการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การติดตามและวิเคราะห์การใช้พลังงาน การคำนวณค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของกรอบอาคาร การวางแผนและจัดการเชิง กลยุทธ์ในการจัดการพลังงาน

ARC 40713 การประเมินสภาพแวดล้อมอาคาร 3 (2-2-5)
Evaluation of Building Environment
หลักการ แนวความคิด และระบบวิธีในการประเมินผลสภาพแวดล้อมอาคารหลังการเข้าใช้อาคาร สมรรถนะด้านการใช้สอยอาคาร ความพึงพอใจของผู้ใช้อาคาร ความปลอดภัยของอาคาร รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานในเชิงผลผลิต การประเมินสมรรถนะของระบบต่างๆ ในอาคาร เกณฑ์มาตรฐานในการประเมินสภาพแวดล้อมอาคาร การวิเคราะห์กรณีศึกษาการประเมินสภาพแวดล้อม ภายในอาคารและภายนอกอาคาร

ARC 40813 หัวข้อพิเศษทางสถาปัตยกรรม 3 (2-2-5)
Special Topics in Architecture
การศึกษาค้นคว้าในหัวข้อพิเศษทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเปลี่ยนหัวข้อเรื่องตามความสนใจและประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาชีพ ภายใต้การดูแลของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ มีการรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์ และนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบของรายงาน

ARC 40814 สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและชุมชน 3 (2-2-5)
Vernacular Architecture and Community
ศึกษาปัจจัยพื้นฐานและอิทธิพลที่มีผลกระทบต่อแนวความคิด และรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคใกล้เคียง การศึกษาภาคสนามเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาการตั้งถิ่นฐานชุมชนที่สอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศและนิเวศวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตและความเชื่อของท้องถิ่น ตลอดจนสุนทรียภาพและความงามอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ที่ว่าง รูปทรงและโครงสร้าง

ARC 40815 การออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน 3 (2-2-5)
Interior Architectural Design
ศึกษาและปฏิบัติการออกแบบตกแต่งภายใน เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สถาปัตยกรรมและที่ว่างภายในอาคาร การวิเคราะห์กิจกรรมและพฤติกรรมการใช้พื้นที่ ผลกระทบจากงานออกแบบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ใช้งาน การจัดวางเครื่องเรือนที่เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย ประเภท ลักษณะการใช้งาน และขนาดของเครื่องเรือน การเลือกใช้วัสดุ พื้นผิว สี และการให้แสงสว่าง

ARC 40816 การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม 3 (2-2-5)
Landscape Architectural Design
ศึกษาประวัติความเป็นมาของภูมิสถาปัตยกรรมโดยสังเขป องค์ประกอบทางภูมิทัศน์ตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ลักษณะเฉพาะและองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ แรง รูปทรง การจัดองค์ประกอบที่ว่างและภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร ทัศนภาพในการวางผังวัสดุพืชพันธุ์ และโครงสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรม

ARC 40817 ปฏิบัติการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม 3 (1-4-4)
Architectural Conservation Studio
ศึกษาและปฏิบัติการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ชุมชน การเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมเพื่อการอนุรักษ์ การสำรวจรังวัด การตรวจสภาพอาคาร การลำดับความเสียหายของอาคาร การลำดับการบูรณะ การสันนิษฐานและวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรม ตลอดจนการเสนอแนะแนวทางในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ชุมชน

ARC 40818 การบริหารงานก่อสร้าง 3 (1-4-4)
Construction Management
ศึกษาหลักการบริหารงานโครงการก่อสร้าง กระบวนการและการวางแผนการจัดการงานก่อสร้าง การประสานงานโครงการและการจัดทำเอกสารงานก่อสร้าง การประกวดราคาและการทำสัญญา การจัดองค์กร บุคลากร และการวางแผนการก่อสร้าง การเขียนแผนงานในรูปของแผนผัง การใช้สายงานวิกฤต การควบคุมงบประมาณ ระยะเวลาและคุณภาพงานก่อสร้าง ปัญหาแรงงาน ความปลอดภัย จรรยาบรรณทางวิชาชีพและความรับผิดชอบตามกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้าง

ARC 40819 การประมาณราคาค่าก่อสร้าง 3 (1-4-4)
Construction Estimation
ศึกษาหลักการประมาณราคางานก่อสร้าง การวิเคราะห์แบบ ศึกษารายการประกอบแบบ และการถอดแบบคำนวณปริมาณวัสดุ การแยกประเภทของราคา การคิดต้นทุนกำไร การคำนวณภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ การวิเคราะห์แบบ การวางแผนการประมูลและกลยุทธ์การประมูล

ARC 40820 คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบขั้นสูง 3 (1-4-4)
Advance Computer-Aided Design
ศึกษาวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นสูงเพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม ในการสร้างรูปทรงของอาคารที่ซับซ้อน การกำหนดวัสดุและพื้นผิว การสร้างวัตถุและสภาพแวดล้อม การกำหนดแสงเงาในแบบจำลอง 3 มิติ และการสร้างภาพเคลื่อนไหวจากรูปทรง 3 มิติ การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์และสื่อสารสนเทศต่างๆ เพื่อการนำเสนองานออกแบบสถาปัตยกรรม การนำเสนอผลงานผ่านสื่อสารสนเทศและอินเตอร์เน็ท รวมถึงการออกแบบโฮมเพจเพื่อแสดงผลงานทางสถาปัตยกรรม

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

• สถาปนิก นักออกแบบ
• ผู้ควบคุม และ/หรือ บริหารงานก่อสร้าง
• ผู้จัดทำรายละเอียดโครงการทางสถาปัตยกรรม
• นักบริหารโครงการทางสถาปัตยกรรม
• นักออกแบบและวางแผนพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
• นักพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
• ผู้ประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม และ/หรือ สาขาที่เกี่ยวข้อง
• ผู้ประกอบการธุรกิจการก่อสร้าง และ/หรือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
• ผู้ประกอบการสังคมด้านสถาปัตยกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

คณาจารย์

คณาจารย์ประจำหลักสูตร

อาจารย์รัชดาพร คณิตพันธ์

ผู้อำนวยการหลักสูตร

อาจารย์กัณฑรัตน์ กุสุมภ์

อาจารย์ผู้สอนหลักสูตร

อาจารย์ธนา อุทัยภัตรากูร

อาจารย์พิเศษหลักสูตร

อาจารย์ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อาจารย์วีรวัฒน์ วรายน

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อาจารย์ธนภัทร อานมณี

อาจารย์ผู้สอนหลักสูตร

อาจารย์ชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิณ

อาจารย์ผู้สอนหลักสูตร

คณาจารย์พิเศษ

รองศาสตราจารย์ดุษฎี ทายตะคุ

อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ

อาจารย์ศมประสงค์ ชาวนาไร่

อาจารย์ทวี เตชสิทธิ์สืบพงศ์

อาจารย์ปิ่นปิลันธน์ วังซ้าย

อาจารย์เมธี รัศมีวิจิตรไพศาล

อาจารย์อัสนี ทัศนเรืองรอง

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร (5 ปี)

ก.ค่าธรรมเนียมในการสมัครและสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ทุกหลักสูตร 700 บาท (ชำระเมื่อยื่นใบสมัคร)

ข.ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา*
(เฉพาะภาคศึกษาแรกที่เข้าศึกษา) 1,000 บาท

ค.ค่าบำรุงการศึกษา (อัตราต่อภาคการศึกษา)
ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1,000 บาท
ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา
1,000 บาท
ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์
1,000 บาท
ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต
1,500 บาท
ค่าบำรุงห้องสมุด
1,500 บาท
ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ *
5,000 บาท

ง.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
หน่วยกิตละ 2,600 บาท

จ.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายเฉพาะหลักสูตร
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
จำนวนเงิน 551,000 บาท
ให้นักศึกษาชำระภาคการศึกษาแรก จำนวน 56,000 บาท และ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่สองภาคการศึกษาละ 55,000 บาท มีรายละเอียดดังนี้

-ค่าบำรุงการศึกษาและค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
ภาคการศึกษาละ 55,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี
จำนวน 550,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
1,000 บาท ในภาคการศึกษาแรก

หมายเหตุ : อัตราค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายทุกหลักสูตร ยังไม่รวม ค่าธรรมเนียมในการสมัคร/สอบคัดเลือก ค่าใช้จ่ายช่วงสำเร็จการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน ได้แก่ อุปกรณ์เขียนแบบ อุปกรณ์และวัสดุทำหุ่นจำลองค่าประกันอุบัติเหตุ 

ฉ.ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
• ค่าปรับลงทะเบียนเรียนล่าช้ากว่ากำหนด
โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (วันละ) 200 บาท
หากมีความจำเป็นขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังสถาบันฯเพื่อพิจารณา มิฉะนั้นการลงทะเบียนนั้นเป็นโมฆะ

• ค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรบัณฑิต (ภาคการศึกษาละ) 1,000 บาท

• ค่าหนังสือแสดงผลการศึกษา
150 บาท

• หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา
150 บาท

• ค่าขอเทียบโอนวิชาจากสถาบันอื่น
(ครั้งละ) 1,500 บาท

• ค่าธรรมเนียมนำเสนอโครงร่างและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
5,000 บาท

• ค่าธรรมเนียมบัตรนักศึกษาที่ขอใหม่
(ใบละ) 200 บาท

• ค่าธรรมเนียมช่วงสำเร็จหลักสูตร
5,000 บาท

• ค่ากิจกรรมภาคสนามในประเทศและต่างประเทศ
พิจารณาตามความเหมาะสม

ช. ค่าปรับการส่งหนังสือห้องสมุดเกินกำหนด
•หนังสือทั่วไป
(เล่ม/วันละ) 10 บาท
•หนังสือจอง
(เล่ม/ชั่วโมง) 10 บาท
•หนังสือจอง
(วันละ) 80 บาท

FAQ คำถามที่พบบ่อย

1.หลักสูตรได้รับการรับรองหรือไม่

ในการเปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพ สำหรับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย มี 2 หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ ดูแล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สภาวิชาชีพ ซึ่งหลักสูตรวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ได้แก่ สภาสถาปนิก

สำหรับหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์ ได้รับการพิจารณารับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตรจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557

เอกสารจาก สกอ.

และสภาสถาปนิก ได้มีมติเห็นชอบรับรองมาตรฐานทางวิชาการของหลักสูตรฯ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการรับรองปริญญา อนุปริญญาและประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2545

เอกสารจากสภาสถาปนิก


2.สภาสถาปนิกรับรองปริญญาของสถาบันฯ หรือไม่

สภาสถาปนิกได้รับรองมาตรฐานทางวิชาการของหลักสูตรฯ แล้ว (แล้วตามที่แจ้งในข้อ1) โดยสภาสถาปนิกจะทำการรับรองปริญญาเมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯ ไปแล้ว ตามระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบและรับรองปริญญา ระดับปริญญาตรี ของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสาขาสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2553 ดังนั้นหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ของสถาบันอาศรมศิลป์ จะได้รับการรับรองเร็วที่สุดหลังจากปีการศึกษา 2561


3.เรียนจบแล้วได้รับปริญญาอะไร ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือไม่

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นหลักสูตรวิชาชีพ 5 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า สถ.บ. (สถาปัตยกรรม) ซึ่งจะมีคุณวุฒิการศึกษาของผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกในสาย ก. (ต้องมีความรู้ในวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยได้รับปริญญาตรีวิชาชีพสถาปัตยกรรมหลักสูตร 5 ปีขึ้นไปหรือปริญญาวิชาชีพที่สูงกว่า ที่สภาสถาปนิกรับรอง) สามารถสอบขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ระดับภาคีสถาปนิก (สำหรับสถาปนิกใหม่) ได้ตามข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2552 เพราะฉะนั้นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสุตรนี้ จากทางสถาบันฯ ก็มีคุณวุฒิและมีสิทธิในการสมัครสมาชิกและขอสอบรับใบอนุญาตได้เหมือนผู้จบสถาปัตย์ 5 ปี จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ

4.ค่าเทอมเท่าไหร่

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร (5 ปี) จำนวน 550,000 บาท หรือ 55,000 บาท/ภาคการศึกษา ไม่รวม

  • ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน ได้แก่ อุปกรณ์เขียนแบบ อุปกรณ์และวัสดุทำหุ่นจำลอง
  • ค่าประกันอุบัติเหตุ
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับขั้นตอนการสำเร็จการศึกษา

5.เรียนสายศิลป์ (คำนวณและภาษา) แต่อยากเรียนสถาปัตย์ที่สถาบันอาศรมศิลป์จะเรียนได้หรือไม่

เรารับทั้งนักเรียนสายวิทย์และสายศิลป์ แต่คนที่จะมาเรียนต้องมีความมุ่งมั่น อดทน ตั้งใจ

6.วาดรูปไม่เก่งเรียนได้หรือไม่/ ไม่ได้เรียนติวฯ มาเรียนได้หรือไม่

วาดรูปเป็นทักษะที่ฝึกได้ ในงานสถาปัตย์ฯ การวาดรูปเป็นเครื่องมือช่วยถ่ายทอดความคิดและเป็นการเก็บข้อมูลไม่ใช่การวาดเพื่อสวยงาม

7.สมัครออนไลน์ไม่ได้ ขึ้น Error ทำอย่างไรดี?

หากมีปัญหาในการสมัครออนไลน์ ให้ติดต่อมายังฝ่ายทะเบียน
Email : [email protected]
เบอร์โทร 02-4904748 ต่อ 161

ผลงานเด่นของนักศึกษา

โครงการออกแบบ
บ้านเชียงราย
“บ้านเป็นภาชนะรับรองชีวิต” โครงการออกแบบบ้านที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้บนพื้นที่จริง และออกแบบบนความต้องการจริง เพื่อให้เป็นบ้านที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาชีวิต รองรับและเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของเจ้าของบ้านให้ดีขึ้น
“บ้านของครอบครัวใหญ่”
โครงการปรับปรุง
อาคารรพินทร
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ร่วมออกแบบปรับปรุงอาคารรพินทร สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ คณาจารย์ และสตูดิโอสถาปนิกมืออาชีพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
Previous
Next

แนะนำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม

1 ปี ในอาศรมศิลป์

ชีวิต 1 ปี ในอาศรมศิลป์ ของนักศึกษาสถาปัตยกรรม ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 1 ในช่วงวัยแห่งการค้นหากับการตั้งคำถามถึงหนทางในอาชีพสถาปนิก สถาปัตยกรรมคืออะไร คนแบบไหนที่เหมาะกับการเรียนในสถาบันอาศรมศิลป์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราเองบ้าง 

สถาปัตย์

ศึกษาศาสตร์

ศิลปศาสตร์