กิจกรรม DE ต้นน้ำ ด้วยกระบวนการ Learning Lab (ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ทางสังคม) เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม พ.ศ.2565
โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาระบบกลไกหนุนเสริมการพัฒนากรอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะเพื่อการจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะเชิงรุกของสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด โดยเป็นการวิจัยร่วมกันกับศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด (ระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) โค้ชแกนนำจากสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารและครูแกนนำ
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 09.00 น. นางอภิญญา แพทย์ศรี รองศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ได้รับมอบหมายจากศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้กล่าวรายงานในพิธีเปิดโครงการจกรรม DE ต้นน้ำ ด้วยกระบวนการ Learning Lab (ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ทางสังคม) เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยมี ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ พร้อมด้วยคณาจารย์สำนักการศึกษาแบบองค์รวม ได้ดำเนินการจัด DE ต้นน้ำ ด้วยกระบวนการ Learning Lab (ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ทางสังคม) เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี มีวัตถุประสงค์ เพื่อค้นหาและศึกษาข้อมูล ทุน และความต้องการของสังคมที่มีต่อการพัฒนา คุณภาพการศึกษาของจังหวัดปัตตานี นำมากำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี โดยมีการนำเสนอข้อมูลการสัมภาษณ์บุคคลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการจัดการศึกษา ประกอบด้วย 1.ผู้บริหารหน่วยงานการศึกษา 2.ผู้บริหารสถานศึกษา 3.ครูผู้สอน 4.หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน 5.ผู้ประกอบการ 6.แหล่งเรียนรู้ต่างๆ และภูมิปัญญาในจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม
กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ระดับจังหวัด เป็นพื้นที่นําร่องในการสร้างนวัตกรรม จัดการศึกษาแบบใหม่ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย การดำเนินการ ตามโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางคุณภาพด้านวิชาการในพื้นที่ การรับรู้และร่วมสร้างภาพเป้าหมายร่วม (Shared Vision) ของการจัดการศึกษาที่ทุกคน มีความเป็นเจ้าของ (Ownership) เป็นการต่อยอดกลไกเดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ให้ทำงานหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังสมบูรณ์แบบมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เป็นกลไกหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมพลัง (Empower) การพัฒนาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมกำหนดแนวทาง วิธีการ กระบวนการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการ พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะและการจัดการเรียนรู้สู่สมรรถะเชิงรุกในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในช่วงเวลา 3 วันที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งที่มีผู้แทนแต่ละหน่วยมาร่วมเวทีเเลกเปลี่ยนเพื่อนำข้อมูลมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของการจัดการศึกษาอีกทั้งยังได้กำหนด OKRs: Objective and Key Results ในแต่ละประเด็นสำคัญเพื่อนำมาสู่การออกแบบแผนปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนภายในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
และในวันที่ 10 ธันวาคม ได้รับเกียรติจากนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มาพบปะกับคณะทำงานและผู้อำนวยการ ครู ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจถึงการเป็นผู้ขับเคลื่อนพัฒนาการจัดการศึกษาในจังหวัดปัตตานี เเละได้เน้นย้ำถึงการเป็นผู้ใช้โอกาสจาก พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ อีกทั้งให้เวลารับฟังทิศทางการศึกษายุคใหม่ของจังหวัดปัตตานีจากผู้แทนกลุ่ม เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับห้องเรียน และระดับนโยบายกลไกหนุนเสริมด้านวิชาการ อีกทั้งให้กำลังใจและพร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาต่อไป
ผู้เรียบเรียง :
อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด
นางสาวปิ่นปินัทธ์ กมลอิง