พระสงฆ์เรียนรู้เทคนิคสอนธรรมยุคใหม่ โดยโครงการวัดบันดาลใจ

อบรมพระ

“อาตมาเป็นทุกข์ ชั่วโมงสอนวิชาพุทธศาสนา เด็กนักเรียนไม่มาเรียน พวกเขาจะรู้ไหมว่า พุทธศาสนาและทุกศาสนา จะช่วยเขาได้ยามชีวิตยาก โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก วิธีใด วิธีไหน จะเข้าถึงใจเด็ก ให้เรียนรู้ธรรมะอย่างสนุกสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ยุคใหม่”

ส่วนหนึ่งของการสะท้อนความรู้สึกและความเห็นจากพระสงฆ์ ในกิจกรรมแรก (Check-In) ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมกระบวนการถวายความรู้เชิงปฏิบัติการ การเรียนแบบใฝ่รู้ (Active Learning) โดย วิทยากร คณะครู ผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ จากสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ  โดยมีโครงการวัดบันดาลใจ เป็นผู้ประสานดำเนินการ

ครูพระเรียนรู้ การใช้สื่อเพื่อนำทางสู่การสอนธรรมะ

คณะวิทยากร นำโดย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดการเรียนรู้กิจกรรมที่สองด้วยการ เปิดคลิป :  เด็กเล็กร่างกายพิการ แขน-ขา ขาดทั้งสองข้าง แต่ต้องการเล่นสไลด์เดอร์ ขณะที่พ่อและแม่เป็นผู้ดูแลให้เด็กได้ใช้ความพยายาม ปีนบันไดเครื่องเล่นและ ไถลตัวเองลงมาเป็นการเล่นที่มีความสุข และ ผ่านความพยายามที่พิสูจน์ตนเองหลายประการ หากจะเชื่อมให้เห็นถึงข้อธรรมะที่เด็กคนนี้เผชิญ นั้นมีอะไรบ้าง ? จึงเป็นคำถามให้กับคณะพระสงฆ์ ได้รวมกลุ่มเพื่อสะท้อนการเรียนรู้จากการได้ดูคลิปดังกล่าว

“การสอนที่เหมือนไม่สอน เปลี่ยนวิธีสอนเป็นการตั้งคำถาม ช้อนข้อธรรม จากสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากการดูสื่อ”

รศ.ประภาภัทร นิยม
อบรมพระ วัดบันดาลใจ

สะท้อนปัญญาจากสิ่งธรรมดา เข้าถึงหัวใจการเรียนรู้

กิจกรรมสะท้อนปัญญาสู่มิติคุณค่า (Wise Reflection) ซึ่งยกสิ่งใกล้ตัวมาจำแนก แจกแจงให้นำไปถึงคุณค่าแท้ ที่เรียกว่า “เรียนธรรมะจากสรรพสิ่ง ด้วยกระบวนการสะท้อนปัญญา” โดยพระสงฆ์ทุกรูปได้สัมผัสการเรียนรู้โดยเปรียบเสมือนตนเองได้เป็นเด็กที่ได้เล่นเรียนรู้กิจกรรมที่ประจักษ์ผลชัดให้เกิดความเข้าใจในเรื่องคุณค่าที่แท้จริง แยกคาย หรือหากจะเปรียบกับข้อธรรมะนั้นคือ โยนิโสมนสิการ นั่นเอง
เมื่อได้สัมผัสกิจกรรมที่นำพาการเรียนรู้ธรรมะแบบใหม่ ที่สนุก เข้าใจง่าย แล้ว ระหว่างการฝึกอบรม รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ได้บรรยายสาระ ทฤษฎีการสอนแบบ Active Learning และหลักวงจรการเรียนการสอน OLE (O = Objective) (L = Learning) (E=Evaluation) เริ่มตั้งแต่ การออกแบบเนื้อหาด้วยการกำหนดเป้าหมายหลักที่เป็นวัตถุประสงค์กิจกรรมอันจะก่อให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้ จากนั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงคุณค่า ผนวกกับการใช้สื่อที่กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการประเมินผลเพื่อการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นและนำไปสู่การทำกระบวนการในวันที่สอง ซึ่งเป็น กระบวนการเรียนรู้เชื่อมสู่ข้อธรรมที่จะสอนเพื่อนำไปใช้ มีการจำลองห้องเรียน ที่เรียกว่า การทดลองสอน (Micro Teaching) เพื่อเป็นการฝึกหัดสอนในสถานการณ์จริง ๆ ที่มีทั้งผู้สอนและผู้เรียนและปิดท้ายด้วยการสะท้อนการเรียนรู้ โดยดึงความเข้าใจของเด็กออกมา เป็นกระบวนการเรียนรู้ “ขาออก” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นส่วนที่จะช่วยให้เกิดการประเมินผลเพื่อการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์

พระสอนหนังสือ

ครูพระคือผู้ช้อนธรรมะมาสอนผ่านวงเรียนรู้

ทุกกิจกรรมของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะเน้นการลงมือปฏิบัติจริง  แล้วนำมาสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยมีวิทยากรประจำกลุ่มคอยทำหน้าที่เป็นครูผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ที่คอยตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อ เชื่อมโยงกับข้อธรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ตั้งต้น  พร้อมทั้งบันทึกสาระที่ได้เรียนรู้ผ่านภาษาของผู้เรียนโดยตรงที่เกิดจากความเข้าใจของตนเองอย่างเป็นระบบ

นับเป็นโอกาสอันดีที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นครูพระสอนธรรมะในโรงเรียน ได้ทบทวน ภาพการสอนของตนเอง และเปิดมุมมองใหม่ในการบูรณาการคุณค่าเข้าสู่บทเรียนทางพุทธศาสนา รวมทั้งยังได้เทคนิคการสอนที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังในการผลักดันสังคมคุณธรรม ที่เริ่มจากห้องเรียน Active learning ที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข กระตือรือร้น สร้างความใฝ่รู้ใฝ่เรียน และนำข้อธรรมไปใช้ในชีวิตจากความเข้าใจได้อย่างแท้จริง