สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้

“สถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองทั้งประชาคมกรมป่าไม้ และความเป็นบ้านหลังที่สองของชาวสหกรณ์กรมป่าไม้”

สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้เป็นอาคารสำนักงานที่มุ่งหวังให้เป็น PLACE FOR ALL เสมือนพื้นที่ต้อนรับที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประชาคม กรมป่าไม้ทุกคน สะท้อนถึงความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของกรมป่าไม้ และเป็นเสมือนบ้านหลังที่สอง ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันให้กับบุคลากรของสหกรณ์ทุกคน

ความเป็นมา

สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่เติบโตขึ้นมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กของกรมป่าไม้ ด้วยการที่องค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นตามปริมาณ ธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างสำนักงานแห่งใหม่ โดยได้ขอพื้นที่ภายในกรมป่าไม้มาใช้ในการก่อสร้างอาคาร

การตั้งเป้าหมายเชิงคุณค่า

สถาปัตยกรรมที่เป็น PLACE FOR ALL เสมือนห้องรับแขกสำหรับประชาคมกรมป่าไม้ทุกคน

  • สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานที่สร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรของกรมป่าไม้ผ่านธุรกรรมด้านเงินออมและสวัสดิการ ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะประสบ ความสำเร็จและก้าวหน้าได้จำเป็นที่จะต้องได้รับการยอมรับจากชาวกรมป่าไม้ ในขณะเดียวกันการที่กรมป่าไม้ซึ่งมีพื้นที่อยู่อย่างจำกัดอนุมัติให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ใช้พื้นที่ในการสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่หน่วยงานต่างๆภายในกรมป่าไม้และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์ สถาปัตยกรรมของสำนักงานแห่งใหม่นี้จึงจำเป็นต้องคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว และสร้างความยอมรับ รวมถึงความภาคภูมิใจให้กับชาวกรมป่าไม้ทุกคน สถาปัตยกรรมสำนักงานที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของบุคลากรสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกคน
  • สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่เติบโตมาจากสหกรณ์ขนาดเล็กที่พนักงานมีความสนิทสนมและทำงานกันอย่างใกล้ชิด สำนักงานแห่งใหม่นี้จึงควรที่จะ ส่งเสริมจุดเด่นขององค์กรคือสัมพันธภาพระหว่างพนักงานให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น สถาปัตยกรรมที่สื่อถึงธรรมชาติและส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกรมป่าไม้ได้อย่างชัดเจน
  • เพื่อสะท้อนถึงความเข้าใจและเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกรมป่าไม้ สถาปัตยกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้จึงต้องเป็น สถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัดและรักษาระบบนิเวศน์ของพื้นที่ตั้งเดิมให้ได้มากที่สุด แนวคิดและการตอบสนองต่อเป้าหมาย

แนวคิดและการตอบสนองต่อเป้าหมาย

  • เปิดพื้นที่ด้านหน้าสำนักงานซึ่งเดิมมีสภาพถนนแคบเป็นคอขวดและอยู่ใกล้บริเวณทางเข้ากรมป่าไม้ ให้เป็นสวนสาธารณะและสระน้ำขนาดใหญ่ สร้างมุมมองที่ สวยงามเพื่อต้อนรับผู้มาติดต่อทุกคนและบุคลากรของกรมที่เดินทางมาทำงานในชีวิตประจำวัน ให้ได้สัมผัสถึงพลังธรรมชาติที่สร้างความสดชื่น
  • เปิดพื้นที่บริเวณชั้นล่างของสำนักงานให้เป็นใต้ถุน MEETING PLACE ที่ประชาคมกรมป่าไม้มาใช้งานได้ทั้งหมด และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ให้กับ ทุกคนด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งร้านกาแฟ พื้นที่พักผ่อน และกิจกรรมชมรมบริเวณชั้นลอย
  • ออกแบบพื้นที่ห้องประชุมใหญ่สำหรับรองรับการประชุมใหญ่ประจำปีของสหกรณ์ ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของอาคารให้ชาวกรมป่าไม้สามารถเข้าถึงและ ใช้งานได้ง่ายผ่านบันไดหลักภายนอกอาคารที่เพิ่มโอกาสในการใช้งานห้องประชุมให้กับประชาคมกรมป่าไม้ทุกคนเช่น การประชุมสัมมนาและการจัดเลี้ยงต่างๆ
  • ออกแบบบริเวณชั้นสองซึ่งเป็นพื้นที่หลักของส่วนสำนักงาน ถูกออกแบบให้รู้สึกเสมือนอยู่บ้าน ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ การเข้าถึงที่ง่ายจากบันได หลักภายนอกอาคาร พื้นที่สีเขียวและคอร์ทที่สร้างความรู้สึกเสมือนอยู่บนพื้นดิน การออกแบบให้มีความสัมพันธ์ทางสายตาทั้งแนวดิ่งและแนวราบ กำหนดให้ พื้นที่ทานอาหารซึ่งสามารถใช้ร่วมกันระหว่างพนักงานและผู้บริหารเป็นที่รวมตัวระหว่างพื้นที่สำนักงานและสามารถมองออกไปเห็นสวนและธรรมชาติโดยรอบ ที่สวยงาม เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการทำงานและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานรวมถึงการออกแบบระเบียงรอบสวนให้เป็นพื้นที่พูดคุย อย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารและพนักงาน
  • ออกแบบอาคารทั้งหมดให้อยู่บนโครงสร้างคานลอยโดยไม่ถมดินเพื่อรักษาสภาพเดิมของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มและหนองน้ำ เพื่อแสดงถึงความเข้าใจและ เห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติอันเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมป่าไม้อีกทั้งยังเป็นการรักษาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำให้กับพื้นที่ของกรมอีกด้วย
  • ออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน เรียบง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างอาคาร และการแสดงสัจจะของวัสดุในทุกส่วนของอาคาร รวมถึงการถอดรหัสองค์ประกอบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มาใช้ในการออกแบบ ทั้งพื้นที่ใต้ถุน ชาน เป็นต้น
  • การใช้ไม้ระแนงขนาดเล็กในส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคารอย่างประหยัด เพื่อสื่อถึงการใช้ประโยชน์ไม้อย่างรู้คุณค่า และเหมาะสม ซึ่งเป็น หัวใจสำคัญในงานรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ของกรมป่าไม้