One Week Project ทดลองเป็น ทดลองอยู่ อย่างครูเด็กเล็ก

เป็นครูนั้นไม่ง่าย ยิ่งเป็นครูอนุบาลยิ่งไม่ง่ายเข้าไปใหญ่ ไหนจะต้องพาเล่น พาเรียน  พานอน และพารู้สิ่งต่างๆ รอบตัว แต่แม้จะยากเพียงไหน นักเรียนมีชัยพัฒนาก็ขอทดลอง

สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ได้จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครู และค้นหาความเชี่ยวชาญในตนของนักเรียน ในโครงการ “พัฒนาศักยภาพบทบาทครูพี่เลี้ยงเด็กปฐมวัยของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาและร่วมพัฒนาครูในการจัดการเรียนแบบ Active Learning”  ระหว่างวันที่ 22 – 26 มกราคม 2561 โดยได้แบ่งการฝึกอบรมออกเป็นสองส่วน ส่วนของครู และส่วนของนักเรียน

ส่วนที่ 1 ฝึกอบรมครู ระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 6 คน เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นการเรียนรู้ แบบ Active Learning โดยครูเข้าไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ห้องเรียนจริงที่โรงเรียนรุ่งอรุณ (ฝ่ายมัธยม) ตามสาระวิชาที่ตนเองสอน เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์  สังเกตการเรียนการสอน บทบาทหน้าที่ครู และนำแผนการเรียนการสอนของตนมาปรับพร้อมออกแบบแผนการสอนใหม่ร่วมกัน โดยมีครูโค้ช ของโรงเรียนรุ่งอรุณ คอยให้คำแนะนำตลอดการสังเกตการสอน นอกจากนี้ยังมีการจัดการความรู้ (KM) และเปิดวงสะท้อนการเรียนรู้ (AAR)

ส่วนที่ 2  ฝึกอบรมนักเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 5 จำนวน 23 คน เพื่อค้นหาศักยภาพของตนเอง ทดลองเรียนรู้บนฐานการงานจริงด้านวิชาชีพครูปฐมวัยที่ห้องเรียนอนุบาลคละอายุโรงเรียนรุ่งอรณ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนเรื่องพัฒนาการเด็กทดลองสวมบทบาทเป็นครูทำหน้าที่จริงในโรงเรียน เช่น การอยู่เวรรับเด็กตอนเช้า ตรวจสุขภาพเด็ก ฯลฯ ทดลองออกแบบกิจกรรมพร้อมเป็นผู้นำพาการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยมีการพาจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) และถอดการเรียนรู้ (AAR : After Action Review) ในแต่ละวัน เป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม

เสียงสะท้อนจากนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“รู้สึกกลัว เพราะเป็นเรื่องใหม่ น้องๆ ตอนแรกไม่เข้ามาคุย แต่พอคุ้นแล้วน้องมาเล่นด้วยเยอะมาก  จนกลัวว่าจะทำให้ห้องเรียนเสีย ไม่ได้อยู่กับครู ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเงียบลง หากอยากจะเล่นด้วยก็จะเล่านิทานค่ะ”

“มาวันแรกก็รู้สึกว่าต้องทำตัวเป็นเด็กอีกครั้งครับ กลับไปเป็นเด็ก เพื่อจะได้รู้ว่าน้องๆ รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร เพราะถ้าเราเอาความคิดของเรา ความคิดของเด็กโตแล้วอย่างผมไปใช้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาไม่ถูก ความคิดไม่เหมือนกัน มันไปขัดกับน้อง ก็แก้ไม่ได้ผลครับ”

“ประทับใจในคุณครูที่นี่ค่ะ ครูเลือกที่จะสอนในสิ่งที่เด็กอยากรู้ ในสิ่งที่เด็กชอบจริงๆ ครูจะคอยถามว่าชอบอันไหน ใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ต่อ น้องๆ จึงได้เรียนที่ชอบ ทำให้อยากเรียนมาขึ้นจริงๆ”

“ผมประทับในใจทุกคน คุณครู และน้องๆ อนุบาล ที่ช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ และก็ประทับใจในตัวผมเอง ที่ไม่เคยเลี้ยงเด็กเล็กมาก่อน แต่ตอนนี้ก็สามารถทำได้ อยู่ด้วยกันกับเด็กเล็กได้ครับ”

เสียงสะท้อนของครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา “เมื่อครูเห็นลูกศิษย์เปลี่ยนไป”

“วันนี้มาเห็นลูกศิษย์ตนเอง ซึ่งบางคนเดิมทีเป็นเด็กที่ไม่นิ่ง
จะหยุกหยิกตลอด แต่วันนี้พอมาเห็นเขาอ่านนิทานให้น้องๆ ฟัง
เขานิ่งมาก ตั้งใจอ่านมาก พยายามอ่านให้ถูกต้อง
จึงเห็นว่าพอเด็กเขามีบทบาทอื่นที่เราเปิดเวทีให้เขาเป็น
ให้เขาทำ เด็กก็ทำได้ ควบคุมตนเองได้
เห็นแล้วก็แอบยิ้ม ปลื้มใจ”

เสียงสะท้อนของครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา “เมื่อครูเห็นตนเองเปลี่ยนไป”

“หลังจากที่ได้สังเกตพฤติกรรมของครูที่รุ่งอรุณ
ดูการพูดจา การแสดงออกกับเด็ก ก็ทำให้ย้อนคิดกลับมาดูที่ห้องเรียนของตนเองบ้าง
ว่าการที่เราแสดงออกในห้องเรียนนั้น เรามีท่าทีอย่างไร เด็กได้ซึมซับเรียนรู้อะไรจากตัวเราไป
อยากจะปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเอง”

“บทบาทไหนที่อยากจะเปลี่ยนมากที่สุด?” คำถามจากวิทยากร

“อยากเปลี่ยนเรื่องอารมณ์ บางครั้งที่สอนเด็กอยากได้คำตอบ แต่เราอยากให้เด็กได้เรียนรู้หาคำตอบด้วยตนเอง ไปคิดเอง แล้วเราก็ไม่ได้นำพาเด็กไปหาคำตอบ ไม่พาเด็กไปให้เข้าใจ กลับไปหงุดหงิดที่เด็กมาถามมากๆ เคยหลุดว่าจะถามบ่อยทำไม ต่อไปนี้ก็คงต้องฟังเด็กให้มากขึ้น และฟังตัวเองให้มากขึ้น ทำตัวให้เย็นลง”

เสียงสะท้อนจากวิทยากร

“ครู ควรหมั่นฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้รับฟังเด็กและเป็นผู้ที่เจริญทั้งปัญญา
ด้านความรู้ เทคนิคการสอน การจัดการชั้นเรียน และการทำงานเป็นทีม…”
อ.สืบศักดิ์ น้อยดัด

“ทำอย่างไรจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้”
ครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข ครูใหญ่ฝ่ายอนุบาลโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวกับครูๆ ที่มาสังเกตการณ์
“ครูต้องมีบทบาทใหม่ เด็กเขาจะสังเกตครูอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ของครูกับเด็กต้องดีก่อน คือครูต้องใส่ใจในเด็กก่อน เพราะแม้ว่าเราจะสร้างสถานการณ์ในห้องเรียนให้น่าสนใจอย่างไร ถ้าเด็กไม่เอาครู เขาก็ไม่เรียนด้วย  ต้องใส่ใจ เป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร จากนั้นจึงเปิดโอกาส และสร้างแรงบันดาลใจให้เขา”

ในช่วงสุดท้ายของการอบรมครู จึงได้มีการแนะนำให้ตั้งวงพูดคุยกันในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการทำงานที่ราบรื่นและช่วยเหลือกันในกลุ่มครู อันจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน และสามารถปรับบทบาทตนเองให้ได้ผลเกิดขึ้นจริง