ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ จ.ปทุมธานี

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ จังหวัดปทุมธานี  เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์  พื้นที่ปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการนำศาสตร์ด้านการละครมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคม ประสานสังคม และบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า คุณภาพ มีการประกอบการเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของตนและชุมชน

Moradokmai Homeschool (บ้านเรียนละครมรดกใหม่) จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับวิถีชีวิตและกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ละครเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้

ละครมรดกใหม่ การประกอบการสังคมผ่านกระบวนการละครสู่วิถีชีวิตพึ่งตนได้
กระบวนการละครมรดกใหม่เป็นตัวอย่างของการนำศิลปะ ละคร เพลง ดนตรี และการเคลื่อนไหว มาเป็นวิธีการในการสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ ให้เกิดการเรียนรู้ภายในตนเองพร้อมไปกับการรู้เท่าทันโลกภายนอก และมีดุลยพินิจที่จะตัดสินใจที่จะดำรงตนในวิถีอย่างมีสุขภาวะองค์รวม ทั้งกาย ใจ/อารมณ์ สังคม สติและปัญญา

‘ครูช่าง’ อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง เป็นผู้นำของชุมชน ชี้ช่องทางของชุมชนละครมรดกใหม่ ว่าจะเดินไปทางไหน (Path Finding) ทำการปรับโครงสร้างระบบ ตั้งแต่การหล่อหลอมวิธีคิด การดำรงตน และการอยู่อย่างสัมพันธ์กับผู้อื่นและธรรมชาติรอบตัว เป็นการวางรากฐานชีวิต ทั้งในส่วนของการจัดพื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเป็นแหล่งอาหารยังชีพ การเตรียมสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นห้องเรียนรู้ใหญ่ไม่รู้จบ และออกแบบกระบวนการที่จะส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นให้ตรงกับทิศทางที่จะเดินไป (Aligning) ทั้งยังมีกลวิธีที่จะเติมพลัง (Empowering) สานฝัน ดึงศักยภาพและความสร้างสรรค์ซึ่งซ่อนอยู่ ผ่านศิลปะ ดนตรี การแสดง และละคร เพื่อตอบโจทย์ ‘การพึ่งตนได้’ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร

กระบวนการละครมรดกใหม่สื่อถึงการสะท้อนจากข้างใน มุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง มองปัญหาและเท่าทันต่อปัญหา พร้อมกับมีกลวิธีที่ชวนคิด เพื่อให้รู้เหตุรู้ผล เข้าใจในแก่นแท้ของความเป็นจริง และเปิดมุมมองในการจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญ การบูรณาการงานศิลปะละครและดนตรีที่หลากอรรถรส ทำให้ผู้ชมได้ใคร่ครวญ และสามารถตกผลึกทางปัญญาในตนเอง การพัฒนามุมมองและความเข้าใจชีวิตและสิ่งที่เป็นไปโดยผ่านกระบวนการกลุ่มหลังจบละคร เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเสริมสร้างการเติบโตภายในของแต่ละคน และเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในชุมชนและต่างชุมชนได้อย่างดี

https://www.facebook.com/falypo/