รวมพลังปลุกยักษ์เมืองคอน ตื่น…เพื่อเปลี่ยนแปลง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นประธานเปิดงาน “ปลุกยักษ์เมืองคอน ตื่น…เพื่อเปลี่ยนแปลง”สนับสนุนชาวเมืองคอนปลุกความยิ่งใหญ่ของเมืองเก่าให้คงอยู่อย่างสง่างามและสมสมัย โดย คณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า ภาครัฐท้องถิ่น กลุ่มประชาสังคม และชุมชน ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์  รวมพลังประกาศเจตนารมณ์อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในวันที่๒๑ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ลานคนเมือง สวนพระเงิน จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานว่า การทำงานอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในครั้งนี้   นับได้ว่าเป็นการปลูกฝังมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นของชาวนครศรีธรรมราชให้กับชุมชนและเยาวชน ให้มีจิตสำนึกและเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์และรากเหง้าของวัฒนธรรมของเราซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและเมือง ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้

ด้านนายไสว เขียวจันทร์ รองนายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราชกล่าวว่างานปลุกยักษ์เมืองคอน เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชนที่ต้องการนำเสนอของดีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครแท้ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราชไว้ให้คงอยู่ ซึ่งชุมชนได้ทดลองจัดงานด้วยตัวเอง โดยช่วยกันคนละไม้คนละมือกับหน่วยงานที่เข้ามาทำงานแผนแม่บทและผังแม่บทเมืองเก่านครฯ เทศบาลนครศรีธรรมราช ยินดีสนับสนุนพื้นที่จัดงานและอำนวยความสะดวกในการจัดงานครั้งนี้อย่างเต็มที่

งานปลุกยักษ์เมืองคอนฯ เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพยากรนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครศรีธรรมราช คณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า ภาครัฐท้องถิ่น กลุ่มประชาสังคม และชุมชน ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์  ซึ่งได้รับโอกาสให้ดำเนินโครงการพัฒนาแผนแม่บทและผังแม่บทเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์เมืองเก่า นครศรีธรรมราช โดยได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าว ตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๖๑ ผ่านวงพูดคุยในระดับต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติการสำรวจและระบุคุณค่าแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งวางแผนโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองร่วมกัน  โดยสามารถระบุมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของเมืองเก่านครศรีธรรมราช ได้ ๘  ประเภท มากกว่า ๗๐ รายการ ได้แก่  ประเภทศาสนสถาน เช่น วัดประดู่พัฒนาราม มัสยิดซอลาฮุดีน คริสตจักรเบ็ธเลเฮม ประเภทองค์ประกอบเมืองเก่า เช่น ศาลพระเจ้าเสื้อเมือง หอพระสูง   ประเภทอาคารสาธารณะ เช่น ศาลากลางจังหวัด  สถานีรถไฟนครฯ ประเภทอาคารของเอกชน เช่น บ้านขุนบวรรัตนารักษ์ อาคารพาณิชย์ย่านท่าวัง ประเภทย่านชุมชนเก่า  เช่น ชุมชนท่ามอญ  ชุมชนตลาดแขก  ประเภทอาหาร/ขนมพื้นถิ่น เช่น ขนมพอง ขนมจำปาดะทอด  ประเภทหัตถกรรม เช่น เครื่องถม เครื่องเงิน ผ้าทอเมืองนคร  และประเภทประเพณี/การละเล่น เช่น การแห่ผ้าขึ้นธาตุ  หมากขุม เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ชูวิทย์  ร.อ. ชูวิทย์ สุจฉายา  รองอธิการบดีฝ่ายบริการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า “เมืองนครฯ มีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนยักษ์ สะท้อนจากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลาย การที่ชุมชนได้ร่วมมือกันจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่โบราณสถาน บริเวณเจดีย์ยักษ์เชื่อมต่อกับลานสาธารณะของเมือง(urban space)ที่คนเมืองคอนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เอนกประสงคฺ์ ทั้งงานบุญประเพณี และการค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการนำของเก่าที่มีคุณค่าเสริมพลังเข้ากับการใช้สอยปัจจุบันแล้วยังเป็นเสมือนการปลุกยักษ์ให้ตื่นขึ้น เพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับเป้าหมายของการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า นครศรีธรรมราชให้เป็นยักษ์ที่ร่วมสมัย พร้อมประกาศตัวตนและคุณค่าที่แท้ต่อสายตาสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสง่างาม”

งานปลุกยักษ์เมืองคอน ตื่นเพื่อเปลี่ยนแปลง จัดขึ้น ๒ วัน ๒ คืนระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ลานคนเมือง สวนพระเงิน นครศรีธรรมราช เป็นความร่วมมือเพื่อการทดลองใช้พื้นที่บริเวณเมืองเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  โดยชุมชนได้ร่วมใจกันออกร้านอาหาร/ขนมต้นตำรับตำนานนครฯ  หัตถกรรมทรงคุณค่า  จัดแสดงนิทรรศการภาพเก่าที่หาชมได้ยาก พร้อมทั้งมีกิจกรรม “เด็กนครรักษ์ดี”  ชวนเยาวชนในพื้นที่ค้นหาสิ่งดีเมืองคอนพร้อมบอกเล่าความคิดเห็นเพื่อร่วมกันพัฒนาเมือง  และเสวนา “มองหน้า แลหลัง พลิกผันเมืองนคร”  เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการนำแผนแม่บทและผังแม่บทไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป