เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘การเรียนรู้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์’ : พระไพศาล วิสาโล

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

การเรียนรู้
เป็นธรรมชาติของมนุษย์

พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต

พระไพศาล วิสาโล

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ท่านเป็นพระที่มีบทบาทอันหลากหลาย ทั้งบทบาทด้านการเป็นพระนักวิชาการที่ดำเนินงานกิจกรรมด้าน สังคมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นพระนักคิด นักเขียนที่ผลิตผลงานหนังสือธรรมะเป็นจำนวนมาก อีกทั้งท่าน ยังเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัด และทำงานเผยแผ่วิธีการเจริญสติ แบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ มาอย่างยาวนาน ดังน้ัน ท่านจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะให้ความกระจ่างต่อคำถามที่ว่า การเรียนรู้ของ คนเรานั้นประกอบด้วยวิธีการใดบ้าง และแต่ละวิธีมีรายละเอียดที่ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไปจนกระทั่งว่า การเรียนรู้ของเรานั้น สุดท้ายแล้วจะทำให้เราเข้าใจในเรื่องใด

การเรียนรู้ชีวิตมีหลายหนทางด้วยกัน การเรียนรู้ผ่านความคิด (Head) การลงมือทำ (Hand) และการใช้หัวใจ (Heart) ในความหมายของพระอาจารย์นั้นกระบวนการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

      ในมุมมองของพุทธศาสนา ชีวิตมีจุดมุ่งหมายก็เพื่อการพัฒนาตน การเรียนรู้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนเพื่อทำให้เกิดความเจริญงอกงามเเละทำให้ศักยภาพได้ปรากฏออกมา ศักยภาพนี้เมื่อได้รับการพัฒนาเเล้วก็ออกมาเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนและท่าน ในมุมมองของพุทธศาสนาประโยชน์ตนขั้นสูงสุด คือ ความพ้นทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญารู้แจ้งในสัจธรรม ปัญญาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นที่สุดของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในความจริงของชีวิต

      การเรียนรู้จึงเป็นทั้งจุดหมายเเละเครื่องมือของการทำให้ชีวิตมีคุณค่า การเรียนรู้เเละการพัฒนาตนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ Head Hand และ Heart ที่จริงมันยังต้องอาศัยร่างกาย คือ สุขภาพ ด้วย สุขภาพต้องดี เพราะการมีสุขภาพดีก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ Head Hand และ Heart ทำงานได้ดีขึ้น

      Head คือความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคุณมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะเป็นอาชีพการงาน ศิลปะ หรือเเม้แต่การเล่นกีฬา ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้น นักดนตรี ก็ต้องมีความเข้าใจในเพลงที่ตัวเองจะบรรเลง ต้องมีความรู้หรือแบ็กกราวนด์เกี่ยวกับประวัติหรือพัฒนาการของดนตรีในสาขาที่ตัวเองเล่นหรือบรรเลง มันจึงต้องมี academy นักดนตรีทุกคนจะมีพื้นฐานดีได้ก็ต้องไปเรียนใน academy หรือในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อจะได้แม่นยำและฉลาดในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

      เมื่อมีความรู้เเล้วก็ต้องฝึกให้เชี่ยวชาญ จัดเจน นี่เป็นเรื่องของ Hand นักดนตรีก็ต้องฝึกฝน หมอก็เหมือนกัน คุณจะเรียนรู้เเต่เรื่องกายวิภาคไม่ได้ ถึงแม้จะจดจำกายวิภาคได้อย่างละเอียด เเต่จะเป็นหมอที่เก่งได้ คุณก็ต้องฝึกทำหัตถการ ตั้งเเต่การฉีดยาจนถึงการผ่าตัด เรียกว่าต้องมีศิลปะ คนที่จะเป็นหมอรักษาคนได้จำเป็นต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ คือไม่ใช่มีความรู้หรือใช้หัวสมองอย่างเดียว แต่ต้องมีการพัฒนาด้านทักษะหรือใช้มือให้คล่องด้วย Hand นั้นหมายถึง ทักษะ หรือจะเรียกว่าเป็นศิลปะก็ได้

      คุณจะทำอะไรให้ดีได้ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่เท่านั้นไม่พอ คุณภาพใจก็สำคัญด้วย การลงมือทำอะไรให้ได้ดีนั้นใจมีส่วนสำคัญมาก เช่น หมอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรค มีทักษะในการรักษา เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีใจด้วย เช่น ใจที่เมตตากรุณา รวมทั้งใจที่นิ่ง นักดนตรีก็เช่นกัน แม้คุณรู้เรื่องดนตรี และมีทักษะจัดเจนเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณขึ้นเวที ใจของคุณก็ต้องมีสมาธิด้วย ถ้าคุณไม่มีสมาธิ เพลงที่คุณเล่นก็ล่มใช่ไหม ตรงนี้คือความสำคัญของ Heart คือใจที่นิ่ง ใจที่มีสมาธิ หรือแม้กระทั่งใจที่เข้าถึงจิตวิญญาณของเพลงนั้นๆ นักดนตรี แม้จะมีความรู้เรื่องดนตรีและมีทักษะดี เเต่ถ้าใจเข้าไม่ถึงแก่นของดนตรี ก็เล่นได้ไม่ไพเราะ   

      เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ทำอาชีพอะไรก็ตาม คุณจะต้องมีทั้ง Head Hand และ Heart ผสมผสานกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ปัญหาคือปัจจุบันนี้เราไปเน้น Head มาก บางที Hand ก็ไม่ค่อยได้เน้น เเต่สิ่งที่ขาดไปเลยคือ Heart เราไม่ได้ฝึกฝนจิตใจเพียงพอ ยิ่งการเป็นมนุษย์ด้วยแล้ว เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ก็ต้องมี Head Hand และ Heart อย่างครบถ้วน

      Head ในที่นี้คือ ความเข้าใจเรื่องชีวิต ความเข้าใจเรื่องโลก เช่น เข้าใจว่าชีวิตที่ดีงามที่ประเสริฐนั้นหมายถึงอะไร เข้าใจเรื่องความสุข ว่าความสุขที่เเท้นั้นคืออะไร เกิดจากอะไร เเต่เท่านี้ไม่พอ คุณต้องมี Heart ก็คือจิตใจที่งอกงามด้วย นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องพัฒนาด้วย รู้เยอะเเต่ว่าใจ ฟุ้งซ่าน รู้เยอะเเต่ว่าเป็นคนขี้โกรธ รู้เยอะ เเต่ว่ายังมีโลภ โกรธ หลง ก็ไม่สามารถพัฒนาชีวิตให้งอกงามได้ หลายคนรู้เยอะ เเต่จิตใจอ่อนเเอ มีคำพูดว่า “ดีชั่วรู้หมด เเต่ว่าอดใจไม่ได้” คุณเคยได้ยินไหม เเม้เป็นพระ รู้ปริยัติหรือรู้คำสอนของพระพุทธเจ้ามากมาย เเต่ถ้าไม่ฝึกจิตก็อาจจะพลาดท่าเสียทีกิเลสหรือตัณหาก็ได้ ฉะนั้นเราจึงมีการพัฒนาจิต ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้หรือพัฒนาสมอง แล้วก็ฝึกทักษะ ซึ่งก็แล้วเเต่ว่าเป็นทักษะเรื่องอะไร ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องมีทักษะในการทำมาหากิน ถ้าเป็นพระก็ต้องมีทักษะในการเผยแผ่สอนธรรม ในการสื่อให้ผู้คนเข้าใจธรรมะ เหล่านี้จะช่วยทำให้เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

พระไพศาล วิสาโล

กล่าวในเรื่องการฝึกฝนจิตใจ คนเรามักสนใจการปฏิบัติภาวนาเมื่อเกิดความทุกข์ พระอาจารย์คิดว่า เวลาที่เหมาะสมในการฝึกจิตใจคือเมื่อใด

      คนเราทันทีที่เกิดมา การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นเเล้ว เเม้เเต่สัตว์ก็ยังเรียนรู้ คือเรียนรู้ ว่าอะไรคืออันตราย เรียนรู้ว่าตรงไหนคือที่ปลอดภัย นกก็ต้องเรียนรู้ว่าจะบินได้อย่างไร เพราะมันไม่ได้เกิดมาแล้วบินได้ทันที มันเรียนรู้จากพ่อเเม่ การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เเต่เเน่นอนว่าปัญหานั้นเป็นตัวกระตุ้น เป็นตัวกดดัน บีบคั้นให้ต้องเรียนรู้มากขึ้น

     การเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์อยู่เเล้ว จะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งก็ได้ มนุษย์เรามีสัญชาตญาณในการเรียนรู้ เราเรียนรู้ตั้งเเต่เป็นทารก ที่เราเดินเป็นเพราะเราเรียนรู้วิธีทรงตัวให้สมดุลตั้งแต่เล็ก เราเรียนรู้ได้ เพราะฝึกเดินตั้งแต่เล็ก เราไม่ได้เดินเป็นโดยอัตโนมัติ เราลองผิดลองถูก ตอนที่เป็นทารก เราไม่ได้เจอปัญหาอะไรที่ทำให้เราต้องฝึกเดิน เราเพียงแค่อยากเดินเพราะมันดีกว่าคลาน อย่างไรก็ตามปัญหาก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น เช่น ความหิว เมื่อหิวเราก็ต้องหาอาหาร ก็ต้องเรียนรู้ว่าจะหาอาหารจากที่ไหน เเต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีปัญหาก่อน เราถึงจะเรียนรู้ได้

      คนเราถ้าฉลาด เราก็ควรเรียนรู้ตั้งเเต่ตอนที่ยังไม่มีปัญหา มนุษย์เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ เช่น ถ้าเรารู้ว่าเมื่อถึงวันข้างหน้าเราต้องเจอกับทุกข์ เจอการพลัดพรากสูญเสีย เราต้องเเก่ เราต้องเจ็บ เราต้องป่วย เราต้องตาย เมื่อรู้เเบบนี้เราก็เริ่มฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อพร้อมเผชิญกับความทุกข์เหล่านี้ในวันข้างหน้า เราไม่จำเป็นต้องเจอปัญหาก่อนจึงค่อยฝึกฝนเรียนรู้ เพียงแค่คาดเดาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า เราก็เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เหมือนกับที่พ่อเเม่บอกเราว่า ต้องขยันเรียนนะ ถ้าไม่ขยันเรียนต่อไปจะลำบากนะ เมื่อเรามองเห็นข้างหน้าว่าถ้าไม่เรียนเราจะลำบาก จะยากจน เราไม่อยากลำบากหรือยากจนในวันหน้า ก็เลยขยันเรียนเสียแต่วันนี้

      การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้จากการคาดการณ์ล่วงหน้าเเล้วพยายามพัฒนาตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่หลีกเลี่ยงได้ หรือเพื่อเผชิญกับมันให้ดีที่สุดในกรณีที่เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ความเเก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า เราเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่เเล้ว เพียงเเต่ว่าเราเรียนถูกหรือเรียนผิดเท่านั้นเอง เเละเราสามารถคาดการณ์อนาคตข้างหน้าได้ไกลเเค่ไหน

พระไพศาล วิสาโล

การเรียนรู้ทางโลกกับการเรียนรู้ทางธรรม ทั้งสองทางนี้มีลำดับการเรียนรู้ เช่นเดียวกันหรือไม่

      การเรียนรู้ไม่มีสูตรสำเร็จ อย่าไปคิดว่าเราต้องรู้ก่อนเเล้วค่อยทำ บ่อยครั้งเราต้องทำก่อนเเล้วค่อยรู้ภายหลัง ในหลายวัฒนธรรม อย่างเช่น การฝึกพระเซนในญี่ปุ่น อาจารย์จะให้ลูกศิษย์ลองผิดลองถูก ถ้าผิดก็ตำหนิหรือต่อว่า จากนั้นลูกศิษย์ก็จะรู้ว่าที่ถูกคืออะไร วิธีการฝึกของพระเซนในญี่ปุ่นคือไม่บอกก่อน แต่ให้ลองผิดลองถูกหรือทำดูก่อน การทำก็เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเรียนรู้ก่อนเเล้วค่อยไปทำ บางทีการทำนั่นเเหละคือการเรียนรู้ ก็เหมือนกับเด็กหรือทารก ตอนเป็นเด็กเราเดินเป็นไม่ใช่เพราะมีคนสอน หรือมีคนแนะนำเหมือนครูสอนนักเรียน แต่เรารู้ว่าจะเดินได้อย่างไรจากการลองผิดลองถูก คือลองเดินเเล้วล้ม พอล้มบ่อยๆ เราก็รู้ว่าจะทรงตัวอย่างไรถึงจะไม่ล้ม เด็กหรือทารกเรียนรู้จากการกระทำ สัตว์ก็เหมือนกัน เรียนรู้จากการกระทำ จากการลองผิดลองถูก ไม่จำเป็นว่าต้องมีคนมาสอนหรือเข้าห้องเรียนก่อนถึงจะทำได้

      การปฏิบัติธรรมนั้นส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการลองผิดลองถูก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเเนะนำของครูบาอาจารย์ หรือของกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้าทรงลองผิดลองถูกมาถึงหกปี แต่ว่าบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกก่อน เพราะมีครูบาอาจารย์เเนะนำตั้งแต่แรก พระสาวกหลายท่านใช้เวลาไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นการมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์นั้นสำคัญ เเต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด ใคร่ครวญ ที่ช่วยให้เรารู้จักเรียนรู้ รู้จักกลั่นกรอง วิเคราะห์ เลือกสรร ในมุมมองของพุทธศาสนา คนเราจะมีพัฒนาการได้ต้องมีปัจจัยสองอย่าง หนึ่ง-ปัจจัยภายนอก คือ กัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ หนังสือหนังหา ตำรา สอง-ปัจจัยภายใน คือ การรู้จักคิด คิดเป็น หรือ โยนิโสมนสิการ

..

ในมุมมองของพุทธศาสนา ชีวิตมีจุดมุ่งหมาย ก็เพื่อการพัฒนาตน การเรียนรู้นั้นเป็นส่วนหนึ่ง ของการฝึกฝนเพื่อทำให้เกิดความเจริญงอกงาม เเละทำให้ศักยภาพได้ปรากฏออกมา ศักยภาพนี้ เมื่อได้รับการพัฒนาเเล้วก็ออกมาเป็นการกระทำ เพื่อประโยชน์ของตนและท่าน ในมุมมองของ พุทธศาสนา ประโยชน์ตนขั้นสูงสุดคือความพ้นทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญารู้แจ้งในสัจธรรม ปัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นที่สุดของการเรียนรู้ อย่างลึกซึ้งในความจริงของชีวิต

..

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกปฏิบัติธรรม อาจรู้สึกว่าการเริ่มต้นนั้นยาก เช่น การเริ่มนั่งสมาธิแรกๆ อาจทำได้ไม่นาน บางคนอาจล้มเลิกไปเพราะรู้สึกยาก พระอาจารย์มีคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นอย่างไร

       ตอนเเรกๆ ต้องมีศรัทธาก่อน ศรัทธา คือความเชื่อหรือความมั่นใจว่าสิ่งนี้ดี เช่น สมาธิทำให้จิตใจสงบเย็น ไม่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน เมื่อมีความเชื่อหรือมั่นใจดังกล่าว คุณก็จะลงมือฝึกสมาธิ ต้องมีศรัทธาก่อน ดีกว่านั้นคือ มีฉันทะ คือความชอบ ฉันทะนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทำเเล้ว ทำเเล้วเห็นว่าดีอย่างที่คิด ประสบผลดี เมื่อนั้นก็จะเกิดฉันทะ ขณะเดียวกัน ศรัทธาก็จะตั้งมั่น คนเราถ้าหากว่ามีสองอย่างนี้ คือมีทั้งศรัทธาและฉันทะ เเม้จะยากลำบากอย่างไร ก็ไม่ละทิ้งความเพียร

      ศรัทธายังรวมถึงศรัทธาในครูด้วย เช่น ถ้าเราศรัทธาในครูบาอาจารย์ เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ว่าท่านสอนถูก ท่านไม่พาไปผิดพลาด เเละถ้าเรารู้มาว่าครูบาอาจารย์ ก่อนที่ท่านจะมาถึงจุดนี้ได้ ท่านก็เคยประสบความยากลำบากเหมือนเรา เเต่ท่านมีความเพียร เมื่อรู้เช่นนี้เรา ก็จะมีศรัทธาในความเพียรด้วย เชื่อว่าความเพียรพยายามจะช่วยทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรค ผ่านความยากลำบากได้ พาไปถึงจุดหมายที่ประสงค์ได้ นี่เป็นศรัทธาอีกอย่างที่สำคัญ

      สำหรับชาวพุทธ ศรัทธาอีกอย่างที่สำคัญ คือ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นปุถุชนเหมือนเรา เเต่พระองค์ทรงทำความเพียรจนกระทั่งเอาชนะกิเลส ข้ามพ้นอุปสรรคทั้งปวงได้ จิตที่ศรัทธาในพระพุทธเจ้าทำให้เรากล้าที่จะเดินไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าข้างหน้าคืออะไร เเต่เรามั่นใจว่า มีสิ่งดีรออยู่อย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ตอนนี้ยังมองไม่เห็น ที่มั่นใจก็เพราะเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์

      ฉันทะก็เช่นกัน ฉันทะคือความชอบ ถ้าคุณชอบ คุณก็จะทุ่มเทกับมัน เเม้ว่าผลจะยังไม่เกิด ถ้าคุณมีฉันทะในการเรียน คุณก็จะสนุกกับการเรียน เพราะคุณทำเเล้วมีความสุข ฉันทะเเปลว่าชอบ ฉะนั้นเราจะทำอะไรควรปลูกฉันทะให้เกิดขึ้น เเล้วฉันทะจะนำมาซึ่งวิริยะ คือความเพียร ความเพียรจะทำให้เกิดจิตใจจดจ่อ ไม่ว่อกแว่ก จากนั้นจะมีการใคร่ครวญว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด สิ่งนี้เรียกว่า วิมังสา คือการใคร่ครวญเพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น อะไรที่ผิดก็เเก้ไข

      ทั้งสี่ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เรียกรวมๆ ว่า อิทธิบาท 4 อิทธิ แปลว่า สำเร็จ ส่วน บาท แปลว่า หนทาง คือเป็นขั้นตอนหรือหนทางสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม รวมทั้งเรียนหนังสือ หรือปฏิบัติธรรม ต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือ ศรัทธาและฉันทะ ซึ่งจะตามมาด้วย วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่เป็นเรื่องของใจ ถ้าคุณมีเเต่หัว รู้ว่าการเรียน การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งดี เเต่ว่าไปไม่ไหวใจไม่สู้ ใจไม่รัก อย่างนี้ก็ไม่สำเร็จ

      แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ความพอดีนั้นสำคัญ ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี เเต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าควรมีความเพียรแต่พอดี พระองค์ใช้คำว่า วิริยสมตา ถ้าเพียรมากไปใจก็ฟุ้ง เพียรน้อยไปก็เฉื่อยเนือย กลายเป็นเกียจคร้าน ความเพียรต้องพอดี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้จากการฝึก จากการปฏิบัติ แล้วก็จะรู้ว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี เวลาคุณขี่จักรยาน คุณต้องรู้จักทรงตัวให้พอดีๆ ถ้าคุณเกร็งมากไป คุณก็ล้ม ถ้าคุณหย่อนเกินไป คุณก็ล้มเหมือนกัน

พระไพศาล วิสาโล

..

การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้จากการคาดการณ์ล่วงหน้า เเล้วพยายามพัฒนาตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่หลีกเลี่ยงได้ หรือเพื่อเผชิญ กับมันให้ดีที่สุด ในกรณีที่เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ความเเก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า เราเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่เเล้ว เพียงเเต่ว่าเราเรียนถูกหรือเรียนผิดเท่านั้นเอง เเละเราสามารถคาดการณ์อนาคตข้างหน้าได้ไกลเเค่ไหน

..

เปรียบเทียบกับการขี่จักรยาน เมื่อเราขี่จักรยานเป็นแล้วก็จะเป็นไปตลอดชีวิต ธรรมะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่

      ใช่ พอคุณขี่เป็นเเล้ว คุณก็จะขี่เป็นไปตลอดชีวิต ในทำนองเดียวกัน ถ้าคุณว่ายน้ำเป็น คุณก็จะจำการว่ายน้ำได้ตลอดชีวิต ยกเว้นว่าคุณเป็นอัลไซเมอร์ เพราะถ้าเป็นอัลไซเมอร์หรือโรคบางโรค ความสามารถเหล่านี้จะหายไปหมดเลย เเม้เเต่กลืนก็กลืนไม่เป็น คนที่เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดในสมองเเตก กลืนอาหารยังกลืนไม่เป็น คล้ายๆ ว่าวงจรประสาทที่คุ้นเคย หรือการเรียนรู้ที่เคยเรียนรู้มานั้นเสียไปหมด ต้องมาฝึกกลืนใหม่ ถึงตอนนี้คุณต้องมาฝึกว่ายน้ำกันใหม่ ฝึกขี่จักรยานกันใหม่ แม้กระทั่งการเดินก็ต้องฝึกใหม่

      การเจริญสติก็เหมือนกัน ถ้าคุณเจริญสติเป็น คุณก็ยังจำวิธีเจริญสติได้ เเต่ใช่ว่าสติของคุณจะคงที่ ถ้าคุณไม่ฝึกสติของคุณก็อ่อน เหมือนกับเล่นดนตรีหรือเตะฟุตบอล คุณต้องซ้อมอยู่บ่อยๆ คุณถึงจะเตะเเม่น เล่นดนตรี คุณก็ต้องซ้อมอยู่บ่อยๆ คุณถึงจะเล่นได้ชำนาญ ถ้าคุณไม่ซ้อมสักสามวันเจ็ดวัน ฝีมือก็ตกเเล้ว ดังที่มีคำกลอนว่า “เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม ดนตรี อักษรห้าวันหนี เนิ่นช้า” คุณยังรู้ว่าวิธีทำให้ถูกนั้นทำอย่างไร เเต่คุณก็อาจจะทำได้ไม่คล่องเเคล่วจนกว่าคุณจะฝึกสม่ำเสมอจนชำนาญ

หนังสือเล่มนี้ชื่อ Life is Learning ซึ่งเเปลว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ ในหนึ่งชีวิตของคนหนึ่งคน พระอาจารย์คิดว่าเรื่องอะไรที่เรียนรู้ยากที่สุด

      การรู้จักตัวเอง คือ การเรียนรู้ที่ยากที่สุด คือ รู้ว่าเราเป็นใคร เรามีนิสัยใจคออย่างไร เราต้องการอะไร และเรากำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไรตอนนี้ รู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้งที่สุดคือการพบว่า ‘ตัวกู’ นั้นไม่มีจริง เป็นแค่สมมติ อย่างไรก็ตาม คนสมัยนี้ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เรียนมาจนถึงมัธยมยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบวิชาอะไร เวลาจะเข้ามหาวิทยาลัยก็เข้าตามเพื่อนเลือกคณะตามเพื่อน หรือเลือกตามกระเเส เขาเฮไปทางไหนก็ไปทางนั้น บางคนเรียนหมอเพราะพ่อเเม่อยากให้เรียนหมอ บางคนเรียนจบมหาวิทยาลัยเเล้วยังไม่รู้เลยว่าจะทำอาชีพอะไร นี่เป็นปัญหาของผู้คน โดยเฉพาะคนไทย

     คนสมัยนี้ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แม้แต่คนที่สนใจธรรมะ ก็ไม่รู้ว่าอยากรู้เรื่องอะไร เวลามีคนมาหาอาตมา หลายคนจะบอกกับอาตมาว่า หลวงพ่อช่วยเทศน์ให้ฟังหน่อย อาตมาก็จะตอบไปว่า คุณอยากรู้เรื่องอะไรก็ถามมา ปรากฏว่าเขาอึ้งเพราะตอบไม่ได้ว่าอยากจะรู้เรื่องอะไร อุตส่าห์เดินทางมาที่วัด ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากรู้เรื่องอะไร

      ฉะนั้นการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือ การกลับมารู้จักตัวเองให้มากขึ้น การรู้จักตนเองก็คือ การกลับมามองดูใจของตัว กลับมาใคร่ครวญมองตน ต้องมีสติ และรู้จักตั้งคำถามกับตัวเอง นี่ยกตัวอย่างเพียงแต่เรื่องผิวๆ เท่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ลึกซึ้งมากกว่านี้

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย