เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘ชีวิตที่เป็นปกติ’ : ประมวล เพ็งจันทร์

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

ชีวิตที่เป็นปกติ

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

     หากคุณมีโอกาสได้สนทนากับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ คุณจะรู้สึกได้ถึงความรักที่แผ่ซ่านมาพร้อมกับคำพูด รู้สึกได้ถึงความเมตตาปรารถนาดีที่ส่งผ่านมาทางสายตา และรู้สึกลึกซึ้งในความหมายของสิ่งที่อาจารย์ประมวลได้มีถ้อยอธิบาย บทสนทนานี้เองก็เช่นเดียวกัน เรามีโอกาสเข้าพบเพื่อพูดคุยกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในบ่ายวันหนึ่งเพื่อให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงนิยาม ความหมาย และวิธีการปฏิบัติเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง ชีวิตคือการเรียนรู้ อาจารย์ประมวลได้ให้ความกระจ่างต่อแนวคิดนี้ผ่านหลักการทางพระพุทธศาสนาไว้อย่างชัดเจน ว่ามนุษย์ควรเรียนรู้สิ่งใด และเป้าหมายสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์คืออะไร

การที่จะตระหนักว่า ชีวิตคือการเรียนรู้นั้น เราควรมีหลักคิดใดเป็นต้นทางบ้าง

     ชีวิตของเรานั้นอยู่ในสายธารของการเรียนรู้ตลอดเวลา ในจุดเริ่มต้นของชีวิตเราเรียนรู้โลกที่อยู่รอบตัวเรา การเรียนรู้เเบบนี้จึงเป็นทักษะที่เกิดความรู้ที่เรียกว่าเป็นประสบการณ์ ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้เบื้องต้น เป็นความรู้ที่มนุษย์ทุกคนจะเรียนรู้และปรับตัวเองให้อยู่กับโลกที่อยู่รอบตัวเราให้ได้ เรียนรู้ว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ เรียนรู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ เรียนรู้ที่จะคลาน เรียนรู้ที่จะเดิน เรียนรู้ที่จะหลบหลีกภัยอันตรายต่างๆ สิ่งนี้เป็นความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ พระพุทธศาสนาเรียกความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้เเบบนี้ว่า สุตมยปัญญา หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประสาทสัมผัส

     คำว่า สุตะ คือ การฟัง แต่ความจริงเเล้ว การฟัง การมองเห็น และการใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดอยู่ในชุดความรู้นี้ ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้ที่ได้จากการเกิดประสบการณ์ในเชิงกายทำให้เราสามารถจัดการกับการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความรู้แบบ Hand หรือ มือ เป็นชุดความรู้เพื่อที่จะฝึกทักษะในการที่จะทำให้ตัวเองมีสมรรถนะที่จะอยู่บนโลกใบนี้ได้ เช่น ถ้าเราตกลงไปในน้ำ เราก็เรียนรู้ที่จะตะเกียกตะกายเพื่อให้เราไม่จมน้ำ เรียนรู้ที่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความหมายอย่างไร เราก็จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในพื้นที่นั้นได้ ถ้าเรารู้ว่าตรงนี้มันหนาว เราจะขยับไปอยู่ตรงไหนเพื่อที่จะให้ความหนาวไม่เบียดเบียนเรา เเละทำให้เราต้องจบชีวิต เราจึงไปหาที่อุ่น มนุษย์โบราณจึงไปอยู่ในถ้ำ มนุษย์เราอยู่กับความรู้ชุดนี้ทุกคน ไม่มีใครที่จะไม่มีความรู้เเบบนี้ ทุกคนมีเท่าที่ความจำเป็นของการมีชีวิตอยู่นั้นจะต้องการ

ประมวล เพ็งจันทร์

      มนุษย์สามารถใช้ประสาทสัมผัสเพื่อเรียนรู้โลกรอบตัว แต่โลกที่เราใช้ประสาทสัมผัสรู้นั้นมีข้อจำกัด เช่น เสียงที่เราได้ยินก็มีข้อกำจัด เพราะหูของเรามีสมรรถนะเพียงเท่านั้น ภาพที่เราได้เห็นก็ขึ้นอยู่กับว่าตาของเราดีขนาดไหน กายสัมผัสของเราเองก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางกาย มนุษย์จึงมีการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เราเรียกว่า การใช้ความคิด หรือ Head การใช้ความคิดทำให้เเม้ตาของเราเห็นรูปไม่ชัด เเต่เราก็สามารถคิดได้ว่ารูปนั้นน่าจะเป็นอย่างไร เสียงที่เราได้ยินนี้ควรจะเป็นเสียงอะไร มนุษย์เราเมื่อต้องการจะเรียนรู้โลกกว้าง แต่โลกกว้างที่เราเห็นด้วยตานั้นไม่ได้กว้างมากนัก เเต่เมื่อใช้ความคิดเราสามารถที่จะเรียนรู้โลกกว้างได้อย่างสุดขอบเขต เราอาจจะไม่เคยไปในที่ใดที่หนึ่ง เเต่ด้วยความคิด เราสามารถจะเรียนรู้มันได้จากข้อสันนิษฐาน ความรู้ประเภทนี้มีความละเอียดขึ้น พระพุทธศาสนาเรียกว่า จินตามยปัญญา คือ ความรู้ที่ปรากฏขึ้นผ่านความคิดของเรา

      ความรู้ประเภทนี้ทำให้มนุษย์มีสมรรถนะเหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น เพราะโดยประสบการณ์ ถ้าเรามีความรู้ประเภทเเรกประเภทเดียว ตาเราก็ไม่ดีสู้เหยี่ยว ประสาทสัมผัสของคนเราก็ไม่ดีสู้สัตว์บางชนิด หูของเราก็ไม่ดีกว่าหมาที่เราเลี้ยงไว้ เเต่เรามีความสามารถในการคิดมากกว่าสัตว์เหล่านั้น เราจึงมีความรู้มาก รู้มากถึงขนาดประมวลความรู้นี้มาเป็นชุดความรู้ เเละความรู้ประเภทนี้ยังถ่ายทอดสู่มนุษย์รุ่นต่อๆ ไปหรือคนอื่นๆ ได้ ชุดความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่เรามีความรู้มากๆ ในยุคนี้ก็เป็นความรู้ชุดนี้เช่นกัน

      จริงๆ เเล้วน่าจะจบอยู่ที่ความรู้ชุดนี้ เเต่มนุษย์ยังไม่จบเเค่นี้ เพราะความรู้ที่เรามีชุดที่ 2 นั้น เเม้จะมีความรู้ในเชิงความคิดและประมวลเป็นชุดความรู้ที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นเเล้ว เเต่ความรู้ชุดที่ 2 นี้ ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมนุษย์ยังต้องวนเวียนอยู่ในห้วงเเห่งความหมายที่เป็นความทุกข์ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งกลัวมาก รู้มากแล้วก็ยิ่งทำให้เกิดความคิด

..

ตอนที่พระพุทธเจ้าประกาศความรู้ของพระองค์ พระองค์บอกว่า ความรู้ คือ การรู้ความจริง พระพุทธเจ้าประกาศว่า ความจริงจะต้องรู้และเป็นความจริงที่จะทำให้ผู้รู้เป็นผู้ประเสริฐ เรียกว่า อริยสัจ และความจริงที่เรียกว่า พระอริยสัจ ในความหมายของพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวเปิดเผยว่า ความรู้อันเป็นความจริงที่ประเสริฐที่สุดคือความรู้ที่อยู่ในตัวมนุษย์เอง นั่นคือรู้สิ่งที่เป็นสภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์และใจมนุษย์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น รู้การดับไปของทุกข์นั้น เเละรู้วิถีหนทางที่เราจะดำเนินไปเพื่อให้ดับทุกข์นี้ได้ ความรู้ชุดนี้เราเรียกว่า อริยสัจ 4 ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศตนว่า พระองค์ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐนี้เเล้วนำมาเปิดเผย การเปิดเผยความหมายนี้จึงกลายมาเป็นคำสอนหรือข้อปฏิบัติ ที่ต่อมาเราเรียกว่าเป็นวิถีของชาวพุทธ

..

ประมวล เพ็งจันทร์

      ฉะนั้นจึงมีความรู้อยู่ชุดหนึ่งเป็นความรู้ที่ละเอียดมาก ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้ที่ผ่านใจของเรา ที่เรียกว่า Heart ที่สำคัญ ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้ที่ไม่ได้เรียนรู้โลกกว้างข้างนอกเเล้ว เพราะความรู้ที่เราใช้ความคิดคือการเรียนรู้โลกกว้างข้างนอก ให้รู้ว่าโลกมีสัณฐานอย่างไร โลกมีโครงสร้างอย่างไร โลกมีผลกระทบเกิดเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างไร เเต่ประเด็นก็คือ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่สามารถควบคุมโลกใบนี้ได้ สุดท้ายสิ่งที่เป็นปัญหาคือ เราเกิดความหวั่นไหวหวาดกลัวสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่น เมื่อเราโตมาจนถึงจุดจุดหนึ่ง เราจะเริ่มแก่ เจ็บ แล้วก็ตาย มนุษย์ก็เริ่มมีความหวั่นไหวหวาดกลัวว่าตัวเองจะต้องเจ็บต้องตาย ความรู้ที่เป็นความคิดไม่สามารถเยียวยาตรงนี้ได้ เราจึงต้องการความรู้อีกชุดหนึ่ง ความรู้ชุดนี้คือความรู้ขั้นสูงขึ้นมา ความรู้ชุดนี้เราเรียกเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนาว่า ภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการที่จิตของเราหยั่งรู้ความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น เเล้วเราสามารถที่จะอยู่กับความเป็นจริงนั้น

      ความรู้ชุดที่ 1 และ 2 เป็นความรู้ที่ใช้ปรับเปลี่ยนโลกให้ตอบสนองใจของเรา เเต่ความรู้ชุดที่ 3 เป็นความรู้ที่ปรับเปลี่ยนใจของเราให้อยู่บนโลกภายนอกได้อย่างไม่มีปัญหา ในพระพุทธศาสนา เรามีความรู้ 3 ชุดนี้เป็นความรู้หลัก เเต่โดยองค์รวมของชีวิตทั้งหมด สุดท้ายเเล้วความรู้ทุกๆ ชนิดก็เป็นความหมายรวม คือเป็นตัวเรา แต่การเรียนรู้เพื่อที่จะฝึกทักษะ พอถึงจุดจุดหนึ่งเรายุติได้ เพราะว่าร่างกายเราชรามากเเล้ว เราไม่ต้องการทักษะอะไรใหม่ ทักษะที่มีอยู่ก็อาจเสื่อมสลายไป ส่วนความรู้เชิงความคิด พอมาถึงจุดจุดหนึ่ง เราก็จะตระหนักว่า ความรู้ที่ไปสู่โลกกว้างข้างนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น จึงต้องกลับมาสู่ความรู้ด้านในที่เป็น ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกยกให้เป็นความรู้ชั้นสูง เเละเป็นความรู้ที่ผมเข้าใจว่าในปัจจุบันเรากำลังเชิญชวนให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงการเรียนรู้เเบบนี้ และการเรียนรู้เเบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น เรามีชีวิตอยู่ตราบใด การเรียนรู้เพื่อให้เราได้ประจักษ์เเจ้งสิ่งที่เป็นชีวิตและโลกที่เราอยู่อาศัยก็เปิดเผยให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ประมวล เพ็งจันทร์

ในการเรียนรู้ภายในนี้ เรามีวิธีการหรือหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร

      ถ้าเราจะพูดในมิติของคนซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา ความรู้ในพระพุทธศาสนาทั้งหมดเป็นความรู้เกี่ยวกับการจัดการเพื่อที่จะให้เกิดความรู้ชุดที่ 3 นี้ แต่ความรู้ชุดที่ 3 จะเกิดขึ้นมาได้นั้นไม่ได้เกิดจากการอยู่เฉยๆ มันเป็นการเรียนรู้ที่ภาษาพระเรียกว่า ไตรสิกขา คือมีการศึกษาเรียนรู้ใน 3 ระดับ คือ ระดับศีล ว่าด้วยการจัดการกายของเราให้เป็นไปในความหมายที่เหมาะสม ระดับสมาธิ ความรู้เรื่องจิตของเราให้มีความมั่นคง และสุดท้ายจะเกิดเป็นความรู้ที่เรียกว่า ระดับปัญญา เป็นความรู้ที่เรียกว่าสภาวะการรู้เเจ้ง

      ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา นั้นเป็นความรู้บนวิถีที่เป็นความรู้ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะตอนที่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาของชาวพุทธอุบัติขึ้น ตอนนั้นความรู้ของมนุษย์ในส่วนเบื้องต้นคือความรู้แบบฝีมือทักษะและความรู้เเบบความคิดมีความอลังการมากในอินเดียสมัยเมื่อ 2,000 ปีที่เเล้ว มนุษย์มีความรู้เชิงความคิดมากมาย จนถึงกับมีการนั่งคุยนั่งเขียนกันว่า โลกเรานั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อไร โลกเรานั้นมีรูปทรงสัณฐานเป็นอย่างไร คำว่า โลก คำว่า จักรวาล ถูกนำมาเป็นประเด็นที่กว้างขวาง ความรู้ชุดนี้เมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่ง พระพุทธองค์ก็รู้ว่ายังไม่ถึงที่สุด เพราะประเด็นไม่ใช่การรู้เรื่องของโลกอย่างถึงที่สุด แต่ประเด็นคือต้องรู้เรื่องที่สุดของความทุกข์ที่มีอยู่ในใจของมนุษย์

      ตอนที่พระพุทธเจ้าประกาศความรู้ของพระองค์ พระองค์บอกว่า ความรู้ คือ การรู้ความจริง พระพุทธเจ้าประกาศว่า ความจริงจะต้องรู้และเป็นความจริงที่จะทำให้ผู้รู้เป็นผู้ประเสริฐ เรียกว่า อริยสัจ และความจริงที่เรียกว่า พระอริยสัจ ในความหมายของพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวเปิดเผยว่า ความรู้อันเป็นความจริงที่ประเสริฐที่สุด คือ ความรู้ที่อยู่ในตัวมนุษย์เอง นั่นคือรู้สิ่งที่เป็นสภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์และใจมนุษย์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น รู้การดับไปของทุกข์นั้น เเละรู้วิถีทางที่เราจะดำเนินไปเพื่อให้ดับทุกข์นี้ได้ ความรู้ชุดนี้เราเรียกว่า อริยสัจ 4 ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศตนว่า พระองค์ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐนี้เเล้วนำมาเปิดเผย การเปิดเผยความหมายนี้จึงกลายมาเป็นคำสอนหรือข้อปฏิบัติ ที่ต่อมาเราเรียกว่าเป็นวิถีของชาวพุทธ

      ความรู้ชุดนั้นจึงเป็นความรู้ที่ทำให้มีความหมายที่สำคัญ คือ เราเกิดมาเพื่อที่จะเรียนรู้ความเป็นจริง เพราะสุดท้ายเเล้วการเกิดขึ้นมาของเรา ถ้าเราไม่สามารถเรียนรู้ความเป็นจริงอันประเสริฐนี้ได้ เราจะเกิดขึ้นมาเเล้ว เเทนที่จะเป็นความหมายที่งดงาม มันจะกลายเป็นการนำมาซึ่งความทุกข์ระทม การเกิดอาจกลายเป็นนำมาซึ่งความทุกข์ ความแก่กลายมาเป็นความทุกข์ ความเจ็บกลายมาเป็นความทุกข์ ยิ่งความตายยิ่งกลายมาเป็นสิ่งที่เบียดเบียนมนุษย์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น พระพุทธเจ้าของเราตอนที่ยังไม่ตรัสรู้ก็ถูกเบียดเบียนด้วยความจริงชุดนี้ เมื่อเจอคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย

      พระพุทธเจ้าจึงคิดว่า ความรู้ที่พระองค์ต้องการเเสวงหา คือ ต้องการออกจากความทุกข์ ความหวั่นไหวหวาดกลัวอย่างนี้ให้ได้ พระองค์จึงออกแสวงหาความรู้ชุดนี้ เเล้วความรู้ชุดนี้ก็ถูกเปิดเผยขึ้นในชื่อว่า พระพุทธศาสนา ที่เรารู้จักกัน

..

พระพุทธเจ้าเเสดงให้เห็นว่า ในหนทางที่จะดับทุกข์ได้ เราต้องเริ่มต้นด้วย การจัดการความคิด คือ โยนิโสมนสิการ ถ้าแปลก็เป็นความหมายได้ว่า ให้เก็บข้อมูลต่างๆ ที่เรารับรู้ไว้ในใจเราให้เป็นระบบเป็นระเบียบ ภาษาพระ ท่านบอกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า เก็บไว้ในใจโดยอุบายอันเเยบคาย ความหมายคือ เมื่อเรารับรู้โลกข้างนอก ต้องรับรู้ในความหมายที่รู้เท่าทัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเก็บไว้ในใจโดยอุบายอันเเยบคาย เเล้วคิดใคร่ครวญ สิ่งนี้ผ่านตัวเองหรือผ่านการเรียนรู้จากกัลยาณมิตร ก็คือเพื่อนหรือกลุ่ม คนที่ทำให้เราเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เราก็จะเกิดสิ่งที่เป็นภาพรวม คือเมื่อ มีโยนิโสมนสิการและกัลยาณมิตรเเล้ว เราจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นหรือท่าทีต่อชีวิตที่ถูกต้อง

..

โดยสรุปแล้ว มนุษย์เราเรียนรู้จากความทุกข์มากกว่าความสุขโดยสิ้นเชิงใช่ไหม

      สำหรับมนุษย์เเล้ว เราเรียนรู้จากความทุกข์ ในอริยสัจทั้ง 4 ประการจึงเริ่มต้นที่ทุกข์ เพราะความทุกข์คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนประสบเเละเผชิญกันอยู่ ไม่มีใครที่จะบอกว่าตัวเองไม่มีสิ่งนี้พระองค์แสดงให้เห็นว่าทุกข์ที่ปรากฏขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อนเลย เรารักสิ่งใดหรือปรารถนาสิ่งใดแล้วต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ เราไม่ชอบไม่ปรารถนาสิ่งใด เเต่ต้องประสบพบแต่สิ่งนั้น นั่นก็ทุกข์ เราปรารถนาสิ่งใดเเล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็ทุกข์ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความหมายก็คือ ดูสิ่งที่มากระทบจิตใจของเรา คำตรัสนี้มีอยู่ในพระสูตรแรกของพระพุทธศาสนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ พระองค์ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นมูลหรือเป็นสาเหตุที่เป็นสมุทัย ก็คือ ความหมายในใจ ของเราเอง ความอยาก ความต้องการในใจของเราเอง เวลาเราจะดับทุกข์ให้ได้ เราก็ต้องดับความหมายนี้

      ฉะนั้นความอยากความต้องการแบบนี้เราจะดับมันได้อย่างไร พระองค์จึงแสดงหนทางหรือวิถีซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ

      พระพุทธเจ้าเเสดงให้เห็นว่าในหนทางที่จะดับทุกข์ได้ เราต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการความคิด คือ โยนิโสมนสิการ ถ้าแปลก็เป็นความหมายได้ว่า ให้เก็บข้อมูลต่างๆ ที่เรารับรู้ไว้ในใจให้เป็นระบบเป็นระเบียบ ภาษาพระท่านบอกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า เก็บไว้ในใจโดยอุบายอันเเยบคาย ความหมายคือ เมื่อเรารับรู้โลกข้างนอก ต้องรับรู้ในความหมายที่รู้เท่าทัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเก็บไว้ในใจโดยอุบายอันเเยบคาย เเล้วคิดใคร่ครวญสิ่งนี้ผ่านตัวเองหรือผ่านการเรียนรู้จากกัลยาณมิตร ก็คือเพื่อนหรือกลุ่มคนที่ทำให้เราเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เราก็จะเกิดสิ่งที่เป็นภาพรวม คือเมื่อมีโยนิโสมนสิการและกัลยาณมิตรเเล้ว เราจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ คือความเห็นหรือท่าทีต่อชีวิตที่ถูกต้อง ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของ อริยมรรค เมื่อเรามีสัมมาทิฐิเมื่อใด เราก็จะมี สัมมาสังกัปปะ คือกระบวนการทำงานของจิตภายในของเราที่เป็นการทำงานเพื่อคลายออกจากความทุกข์ ไม่ใช่หมุนเกลียวให้ติดแน่น เมื่อเรามีสัมมาสังกัปปะเเล้ว เราก็จะมี สัมมาวาจา คือการสื่อสารต่อเพื่อนมนุษย์ที่ถูกต้อง มี สัมมาอาชีวะ คือการที่เรามีชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มี สัมมากัมมันตะ การกระทำงานต่างๆ เป็นงานที่เกื้อกูล ทั้งเกื้อกูลผู้อื่นและตนเอง และสุดท้ายคือสัมมาวายามะ เรามีความเพียรในชีวิต คือความพยายามที่เราต้องมีในทางที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะมีความรู้ที่ถูกต้อง มีชีวิตที่ถูกต้อง ในความหมายเช่นที่ว่า พูดอาจจะฟังดูง่าย เเต่ว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถที่จะเกิดความรู้ที่ถูกต้องได้ เพราะเราไม่สามารถจัดการความคิดภายในใจของเราเองได้ เราจึงปล่อยให้มีความคิดที่กลายมาเป็นสิ่งที่เบียดเบียนตัวเราเอง เราคิดเบียดเบียนผู้อื่นก็เท่ากับเบียดเบียนตัวเอง เพราะสุดท้ายเราต่างเบียดเบียนซึ่งกันเเละกัน เราคิดอยากจะได้จากผู้อื่นเท่ากับเราปล้นจากตัวเราเองเหมือนกัน เพราะสุดท้ายเราจะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นหวั่นไหว กลัวว่าเราจะไม่ได้สิ่งนั้น พอเราได้มาเเล้ว บางทีเราคิดว่ามันน้อยเกินไป เพื่อนเราได้มากกว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการภายใน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้เเบบที่ 3 คือ ภาวนามยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากความประจักษ์เเจ้งความเป็นไปภายในใจของเราเอง ความรู้ชุดที่เรายังแก่ เรายังเจ็บ และเราต้องตาย เเต่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย จะไม่เบียดเบียนเรา พระพุทธองค์เมื่อทรงบรรลุธรรมข้อนี้เเล้ว พระองค์ก็แก่และพระองค์ต้องตาย แต่พระองค์มีความเบิกบานเเช่มชื่นในการมีชีวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นี่คือความหมายที่กลายมาเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์ทุกคนพอถึงจุดหนึ่ง เราจะต้องสำรวจตรวจสอบตัวเอง เเล้วก็เรียนรู้ให้เกิดความรู้แบบที่ 3

..

ทันทีที่เราเข้าใจความหมายของตัวเราเองและของโลก เราก็จะอยู่กับมัน ได้อย่างมีชีวิตชีวา นั่นหมายความว่าโลกที่เราอยู่นั้นมีเกณฑ์ของมันแล้ว เราอยู่ภายใต้กฎกติกานั้น ปัญหาของมนุษย์คือปฏิเสธกฎกติกา และหวั่น กลัวกฎเกณฑ์เหล่านั้น พระพุทธเจ้าของเราเมื่อพระองค์มาถึงจุดจุดหนึ่ง พระองค์เข้าถึงความจริงที่เราพูดถึงเเล้ว พระองค์รู้เลยว่ามันเป็นเช่นนี้แหละ เมื่อพระองค์เข้าถึงความจริงนี้เเล้ว พระองค์ใช้ภาษาเรียกตัวเองว่า “เรา ผู้เข้าถึงเเล้วซึ่งความเป็นเช่นนี้เอง” ภาษาพระท่านเรียกว่า ตถาคต หรือ พระตถาคต แปลได้ว่า ผู้เข้าถึงซึ่งความเป็นเช่นนั้นเอง เข้าถึงอย่างไร เข้าถึงความรู้สึกที่ว่ามันเป็นเช่นนี้เองที่จะมีกลางวันและกลางคืน มันเป็น เช่นนี้เองที่จะมีร้อนเเละมีหนาว มันเป็นเช่นนี้ คุณนึกภาพสิ พอเรารู้ว่า มันเป็นเช่นนี้เอง เดี๋ยวก็มืด เราก็ไม่ตกใจเลยเวลาท้องฟ้าจะมืดตอนเย็น มืดก็มืดสิ มันเป็นเช่นนี้ เราไม่รู้สึกตกใจ เพราะเราเข้าใจเข้าถึงความ เป็นเช่นนี้เเล้ว

..

ในหนังสือ การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านกล่าวถึงหลักการในการใช้ชีวิตอย่างมีสติไว้อย่างละเอียด เช่น การอธิบายหลัก โภชเนมัตตัญญุตา หรือ การบริโภคที่พอดี หรืออินทรียสังวร การใช้อินทรีย์ (การใช้หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อย่างมีสติ ข้อปฏิบัติเหล่านี้ถือว่า มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปด้วยเช่นกันใช่ไหม

      ผมขอกลับไปสู่ประเด็นของมนุษย์อันหนึ่งว่า เราดำเนินชีวิตอยู่ในความหมายที่ทำให้เกิดความเคยชิน ความเคยชินที่ทำให้เรารู้สึกเป็นปกติ เเต่ความเป็นปกติที่เราพูดถึงคือความปกติที่ไม่ได้มีผลในเชิงเกื้อกูลเลย เช่น เรื่องอาหาร ความจริงอาหารคือการรับประทานสิ่งที่เป็นวัตถุสารอาหารเพื่อที่จะนำไปหล่อเลี้ยงเสริมสร้างร่างกายของเราให้มันธำรงเเละมีพลังเพียงพอที่จะปฏิบัติกิจต่างๆ เเต่วันหนึ่งเมื่อมนุษย์เสพคุ้นเรื่องอาหารจนกระทั่งกลายเป็นการเสพติดในรสชาติ ทั้งที่ตัวอาหารนั้นอาจจะไม่มีคุณค่าในเชิงโภชนาการเลย ยกตัวอย่าง ผงชูรสไม่มีประโยชน์ในเชิงบำรุงหรือหล่อเลี้ยงร่างกายเลย เเต่เราก็เสพติดผงชูรส ทั้งที่ความจริง นอกจากผงชูรสจะไม่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดีเเล้วยังไปบั่นทอน เเต่เราก็ติดผงชูรสเสียเเล้ว ถ้าเรากินอาหารใดที่ไม่มีรสที่ถูกปรุงรส เราจะรู้สึกว่าอาหารนั้นไม่อร่อย เเล้วเราก็ไม่อยากกิน เราหลงลืมไปว่าอาหารที่เป็นธรรมชาติเป็นปกติคืออะไร เราจึงไปเสพติดรสชาติอาหาร เขาเรียกว่ามัวเมาในรสชาติอาหาร

      ไม่เพียงเเต่อาหารเท่านั้น เราเสพติดรสชาติของอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ ด้วย ฉะนั้น ทันทีที่เรามีภาวะเช่นนี้เราก็ต้องกลับมาสู่การทบทวนว่าสิ่งใดที่มีคุณค่าจริงเเละสิ่งใดที่เป็นเพียงเเค่คุณค่าปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเเล้วจัดการกับชีวิตของเราเสีย ในกรณีอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น ร่างกายของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปฏิบัติกิจ เเต่เราไปเสพติดความสะดวกสบาย พอเสพติดความสะดวกสบายจนกลายเป็นชีวิตของเรา พอมาถึงจุดจุดหนึ่งเราก็อ้วน ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเรากินแต่อาหารที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่อยากเดินหรือออกกำลัง ทั้งที่การเดินหรือการออกกำลังเป็นการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมวงจรการทำงานของร่างกาย ในความหมายที่ว่านี้ เราจึงเหมือนกับผิดไปจากปกติ ในพระพุทธศาสนาจึงบัญญัติว่า วิถีที่เราจะออกจากปัญหานี้คือ เราต้องเริ่มต้นด้วยการมีศีล

      คำว่า ศีล คือการกลับไปสู่ภาวะปกติ ภาวะปกติคือภาวะที่เกื้อหนุนจุนเจือองค์รวมของชีวิตให้ขับเคลื่อนไปอย่างถูกต้อง ฉะนั้น เวลาสมาทานศีล เราจึงสมาทานศีลในความหมายของการกลับไปสู่ภาวะที่เป็นปกติ เพราะมนุษย์เราไม่ได้เกิดมามีความรู้สึกอยากฆ่าอยากแกงใคร มนุษย์เกิดมาพร้อมความรู้สึกเมตตาอาทรต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง เเต่พอมาวันหนึ่ง ด้วยเหตุอะไรก็ตามทำให้มนุษย์เห็นการประหัตประหารผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ เราจึงสมาทานศีลข้อที่ 1 ว่าห้ามไม่ให้เราไปเบียดเบียนชีวิตเหล่านั้น สมาทานศีลข้อที่ 2 เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราเกิดมาด้วยความเอื้อเฟื้อ เเต่พอมาถึงวันหนึ่งเรากลับต้องการฉกฉวยขโมยของคนอื่น เเม้กระทั่งศีลข้อที่ 3 เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็ต้องเสพรสชาติของอารมณ์ที่มีต่อความรัก ความรู้สึกที่เป็นเรื่องทางเพศสัมพันธ์ มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีความรักความหวงแหนคู่ของตัวเอง เรื่องหึงหวงจึงเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เเต่ทำไมเราไม่เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ทำไมเราทำลายสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นความหมายอย่างที่ว่าจึงถูกบัญญัติเป็นศีล เป็นข้อที่ 1 2 3 4 5

      ความหมายของศีลทั้งหมดก็คือ การสมาทาน หรือ การกลับมาสู่ความเป็นปกติ ฉะนั้นการที่เราสมาทานศีล ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการกลับมาสู่ความเป็นปกติ เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินต่อไปอย่างถูกต้อง พอเรามีศีลจะเป็นผลทำให้จิตของเรานิ่งสงบ ลองนึกถึงคนที่ไปคิดเบียดเบียนผู้อื่น จิตของเขาจะไม่นิ่งสงบเลย จะเกิดความกลัวว่าผู้อื่นจะเบียดเบียนเรา เเต่ในขณะที่เราเป็นคนที่เมตตาอาทรผู้อื่น ก็จะเกิดมิตรภาพ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเกิดความสงบนิ่งในตัวเราเองได้ ฉะนั้นพอเรามีศีลแล้วจะกลับไปสู่การมีสมาธิ สมาธิ คือ การที่จิตของเรามั่นคง ไม่สับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านด้วยความหวาดกลัว

      เมื่อเรามีจิตที่มั่นคงเเล้วก็จะเกิดปัญญาความรู้ที่บอกว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ สิ่งที่เป็นความจริงของตัวเราเอง ในกระบวนการทางพระพุทธศาสนา พระองค์จึงเสนอวิธีปฏิบัติหรือวิถีเเบบที่ว่า

      การจะทำให้เกิดความรู้ชุดที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ก็ต้องกลับมาสู่การทบทวนสิ่งต่างๆ เพื่อเห็นความจริงภายใน เมื่อเราเห็นความจริงภายในเเล้ว เราก็จะเกิดความรู้เเล้วเห็นโทษของสิ่งที่เราเสพติด สุดท้ายการเสพติดที่รุนเเรงและมากมายที่สุด คือ การเสพติดรสชาติของชีวิตผ่านการคิดปรุงเเต่ง เป็นการคิดปรุงเเต่งเพื่อให้มีความหมายของชีวิต และความหมายของชีวิตที่เราพูดถึงนั้น คือ ความสุข เราจึงกลัวความผิดหวัง กระหายความสมหวัง กระหายความสำเร็จ กลัวความล้มเหลว เราต้องเรียนรู้ที่จะสลายการเสพติดรสชาติของชีวิต กระบวนการที่เราดูเเลตั้งเเต่การกินไปจนถึงการมีชีวิตอยู่ในทุกรายละเอียด ถ้าเราทำได้เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้เอง ไม่ต้องมีใครสอนด้วยซ้ำ เราจะรู้เองเลยว่าเราควรกินอะไรบ้าง เราควรจะนอนวันละกี่ชั่วโมง เเต่บางทีเวลาที่เราควรจะนอน เราก็ไม่นอน เวลาที่เราไม่ควรนอน เราก็ไปนอน มนุษย์นั้นมีธรรมชาติที่สัมพันธ์กับโลกรอบตัวตลอดเวลา เมื่อเรามีชีวิตไม่สอดคล้องกับธรรมชาติทำให้เรามีปัญหากับธรรมชาติ การที่เรามาพิจารณาอาหารหรือพิจารณาอะไรก็เเล้วเเต่ จึงเป็นการกลับมาสู่ความเป็นปกตินั่นเอง

เมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

     ทันทีที่เราเข้าใจความหมายของตัวเราเองและของโลก เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างมีชีวิตชีวา นั่นหมายความว่าโลกที่เราอยู่นั้นมีเกณฑ์ของมันแล้ว เราอยู่ภายใต้กฎกติกานั้นปัญหาของมนุษย์คือปฏิเสธกฎกติกา และหวั่นกลัวกฎเกณฑ์เหล่านั้น พระพุทธเจ้าของเราเมื่อพระองค์มาถึงจุดจุดหนึ่ง พระองค์เข้าถึงความจริงที่เราพูดถึงเเล้ว พระองค์รู้เลยว่ามันเป็นเช่นนี้แหละ เมื่อพระองค์เข้าถึงความจริงนี้เเล้ว พระองค์ใช้ภาษาเรียกตัวเองว่า “เราผู้เข้าถึงเเล้วซึ่งความเป็นเช่นนี้เอง” ภาษาพระท่านเรียกว่า ตถาคต หรือ พระตถาคต แปลได้ว่า ผู้เข้าถึงซึ่งความเป็นเช่นนั้นเอง เข้าถึงอย่างไร เข้าถึงความรู้สึกที่ว่ามันเป็นเช่นนี้เองที่จะมีกลางวันและกลางคืน มันเป็นเช่นนี้เองที่จะมีร้อนเเละมีหนาว มันเป็นเช่นนี้ คุณนึกภาพสิ พอเรารู้ว่ามันเป็นเช่นนี้เอง เดี๋ยวก็มืด เราก็ไม่ตกใจเลยเวลาท้องฟ้าจะมืดตอนเย็น มืดก็มืดสิ มันเป็นเช่นนี้ เราไม่รู้สึกตกใจ เพราะเราเข้าใจ เข้าถึงความเป็นเช่นนี้เเล้ว

      ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญความรู้ที่เราต้องการเรียนรู้ทั้งหมด คือเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงความเป็นจริง เรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เองที่จะแก่ อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เองที่จะตาย เพราะมันเป็นเช่นนี้เองเลยรู้สึกธรรมดา

      การเรียนรู้ในปัจจุบันนั้นมักจะเป็นการเรียนรู้ที่เเยกเป็นส่วนๆ ซอยเป็นเรื่องๆ ทั้งที่ชีวิตนั้นเป็นองค์รวม และชีวิตที่เป็นองค์รวมนั้นเป็นหนึ่งเดียว เเต่ปัจจุบันเราทำให้มันเป็นส่วนๆ ทำให้มีตัวเรา ทำให้มีผู้อื่น ไม่ใช่ Holistic Learning คือ การเรียนรู้ที่จะทำให้เราเกิดความหมายว่าเราเป็นองค์รวมของสรรพสิ่ง นี่เป็นหัวใจสำคัญ เรียนรู้เพื่อให้มีความรู้สึกไม่มีอะไรเป็นจริง ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ ทั้งหมดทั้งมวลก็คือสิ่งที่เป็นตัวเรา เเล้วตัวเราก็เป็นดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ ทั้งหมด เเล้วถ้าเราเป็นอย่างนั้น ไม่มีคำว่าสมหวังหรือผิดหวัง ไม่มีความล้มเหลวหรือสำเร็จ

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย