เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘กำแพงทางความคิดชื่อ ‘โรคซึมเศร้า’’ : นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

กำแพงทางความคิดชื่อ ‘โรคซึมเศร้า’

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

กอล์ฟ-นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว เป็นคนมีชื่อเสียงจากผลงานโฆษณาหลายตัวที่เขาเป็นเจ้าของความคิดในฐานะครีเอทีฟ ซึ่งทำให้เขาได้เป็นเจ้าของรางวัล อย่าง โกลด์คานส์ รวมถึง
อีกหลายรางวัลทางด้านโฆษณา นั่นทำให้ชื่อของกอล์ฟเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการโฆษณา

มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานกับบริษัทโฆษณาชั้นนำหลายประเทศ ก่อนตัดสินใจกลับมาเปิดบริษัท NAWIN Consultant ของตนเอง ที่คอยให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ
ช่วยลูกค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่เขาถนัด
และทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบที่นักโฆษณารุ่นหลังอยากเจริญรอยตาม

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่แม้แต่นักคิดฝีมือฉกาจอย่างเขาก็ไม่อาจคาดคิดถึงก็เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งอาวุธที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘ความคิด’ ของกอล์ฟ ที่เขาหมั่นลับจนแหลมคม ใช้ผลิตงานสร้างสรรค์ออกมาโดนใจลูกค้าและติดใจผู้ชมมากมาย กลับย้อนคมมาทำร้ายตัวเขาเอง… กอล์ฟเป็น ‘โรคซึมเศร้า’

โรคที่ส่งผลโดยตรงต่อด้านความคิดและความรู้สึก เปรียบเสมือนกำแพงใหญ่ที่เข้ามาขวางกั้นทางของวิชาชีพครีเอทีฟ จากคนที่เคยสนุกกับการทำงาน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ แค่เพียงลุกจากเตียงไปทำงานก็กลายเป็นเลือกยากเย็น ความอาจหาญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นความหวาดกลัวไม่กล้าแม้แต่จะก้าวเดินไปทางไหน

คือฝันร้ายในโลกแห่งความคิดบนโลกแห่งความจริงที่กอล์ฟต้องเผชิญ เมื่อครีเอทีฟต้องมาเจอกับ โจทย์หนึ่งที่ยากที่สุดในชีวิต เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเขา และเขาเองที่จะต้องหาวิธีแก้ไข

กอล์ฟนำประสบการณ์ที่เขาต้องเผชิญ รวบรวมบทเรียนที่ได้ รวมถึงวิธีการสู้กับโรคซึมเศร้า ไว้ในเพจเฟซบุ๊ก เมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์ ที่เขาสร้าง

ปัจจุบันกอล์ฟสามารถก้าวพ้นกำแพงสูงที่ชื่อว่า โรคซึมเศร้า มาได้แล้ว และร่องรอยการปีนข้ามกำแพงนั้นก็ได้กลายเป็นปัญญาล้ำค่า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหยั่งรู้ใจของลูกค้า หรือการคิดงานเพื่อใคร หากเป็นปัญญาที่ได้รับมาจากการทบทวน ตัวเองอย่างจริงจัง จนทำให้กอล์ฟสามารถ ‘รู้ตัวเอง’ และสามารถเอาชนะโรคร้ายที่กัดกินความคิดของเขา

ลองมาดูกันว่าเมื่อครีเอทีฟต้องพบโรคซึมเศร้า เขามีวิธีจัดการอย่างไร และได้บทเรียนอะไรกลับมาบ้าง

ครีเอทีฟผู้เปี่ยมไปด้วยความหวัง

      กอล์ฟเริ่มต้นฝันถึงการเป็นครีเอทีฟตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ และมีโอกาสถูกคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์กช็อปในโครงการ B.A.D (Bangkok Art Directors Association) จากผู้สมัครทั่วประเทศ และเริ่มต้นทำงานหลังเรียนจบที่บริษัทโฆษณา ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ประเทศไทย (Saatchi & Saatchi Thailand) โดยทันที เพียงทำงานไม่นานกอล์ฟก็เริ่มได้รางวัลทางโฆษณาต่างๆ ไม่ว่าจะ คานส์ ไลออนส์ (Cannes Lions), คลีโอ (CLIO), แอดเฟสต์ (AdFest), แอดแมน (Adman Awards & Symposium) และอีกมาก ครีเอทีฟหนุ่มในวัยเกือบ 25 จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยผลงานคุณภาพในพอร์ตฯ และพกเอาความหวังพาตัวเองไปทำงานบริษัทโฆษณาชั้นนำต่างๆ ที่ต่างประเทศ

      “พอเห็นชื่อตัวเองเข้าชิง ได้รางวัลบ้างไม่ได้บ้าง กลายเป็นว่าเราเชื่อในความคิดตัวเองสุดๆ กดดันตัวเองตลอด อยากจะเหนือกว่าคนอื่น เริ่มคิดว่าเราเจ๋งที่สุดในไทยหรือเปล่านะ งานในเมืองไทยยังตอบโจทย์อยู่มั้ย เราเลยหาทางไปทำงานเมืองนอก

      จากสิงคโปร์ ไปอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมันสวิตเซอร์แลนด์ จีน กระทั่งวัยของครีเอทีฟเข้าสู่เลข 3 กอล์ฟจึงตัดสินใจกลับมาประจำการที่ บริษัท ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ประเทศไทย เหมือนเดิม ในฐานะ Executive Creative Director (ECD)

      “จากที่เคยเป็นเด็กฝึกงานและทำกับซาทชิในตำแหน่ง Art Director ธรรมดา ผมกลับมาทำกับซาทชิในตำแหน่ง ECD ซึ่งสูงสุดในเวลานั้น เวลาเจอคนอื่นเราถ่อมตัวนะ แต่ในใจจะคิด… ‘เราเจ๋งปะล่ะ’

      “ทุกครั้งที่เบื่อและอยากเปลี่ยนงาน มันจะมีโอกาสเข้ามาเสมอ ตอนนั้นเราถึงกับคิดเลยนะ หรือว่าพระเจ้าเข้าข้างเรานะ พระเจ้าอาจจะรักเราเป็นพิเศษ…”

      และพระเจ้าก็ได้ให้บทเรียนชิ้นสำคัญกับเขา

‘โรคซึมเศร้า’ นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

ความหวังเป็นเรื่องของอนาคต

      “ด้วยความที่เราเคยฝึกงาน เคยทำงานที่นี่มาก่อน เราเลยรักและผูกพันกับที่นี่มาก อยากที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จมากๆ …โดยไม่รู้ตัว ผมเครียด อยากให้ทุกอย่างออกมาดี ผมบ้าความสมบูรณ์แบบ ตอนนั้นผมแยกไม่ออกแล้วว่างานคือหน้าตาของเราหรือหน้าตาของออฟฟิศกันแน่ เพราะชื่อเสียงของออฟฟิศคือชื่อเสียงของผมด้วย

      “ช่วงปีแรกที่กลับมาทำที่ซาทชิก็ยังดีๆ อยู่ เราประคองงานได้ เอาอยู่ ผมคิดว่าตัวเองยังเจ๋งอยู่ แต่พอคนเก่งๆ เริ่มออกจากทีม ผมทำแอ็กเคานต์หลุด เพราะแอ็กเคานต์ที่จับอยู่ค่อนข้างยากและน่าเบื่อ เริ่มไม่สนุกกับงาน อยากลาออกแต่ออกไม่ได้เพราะตอนนั้นบริษัทจ่ายค่าเรียนอินเตอร์ให้ลูกผม

      “จุดนั้นรู้สึกเหมือนคนติดคุก ติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ออกไปไหนไม่ได้ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ถ้าเบื่อก็ย้ายงาน แต่คราวนี้ลูกผมเข้าโรงเรียนที่เมืองไทยแล้ว การย้ายประเทศไม่ใช่ตัวเลือก และอย่างไม่รู้ตัว ผมตื่นขึ้นมาวันหนึ่งรู้สึกไม่อยากลุกไปทำงาน แต่ก่อนเวลาที่ไม่อยากไปทำงาน ผมรู้ตัวว่าไม่อยากไปเพราะอะไร เช่น ไม่ชอบเจ้านายบ้างอะไรบ้าง แต่คราวนี้ผมไม่ได้เป็นลูกน้องใครแล้ว ผมไม่รู้ว่าไม่อยากไปเพราะอะไร ใจมันหวิวๆ โหวงๆ เหมือนคนยืนอยู่ขอบตึกตลอดเวลา มันหวาดกลัว อย่างไม่รู้ตัว ผมก็อยู่ในภาวะ Adjustment Disorder”

      หลังไปพบแพทย์ กอล์ฟถูกวินิจฉัยว่าเป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjusment Disorder) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทุ่มเทในการงานเหมือนเช่นเดิมของเขา ที่ยิ่งได้รับรางวัล ได้ชื่อเสียง และตำแหน่งที่ตนเองรับผิดชอบ ความคาดหวังก็ยิ่งเพิ่มทวี กลายเป็นการกดดันตัวเองจนเครียดสะสม ในที่สุดอาการของโรคก็แสดงตัวออกมา

      อย่างไรก็ตาม โรคภาวะการปรับตัวผิดปกติที่กอล์ฟเป็นยังถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเวชประเภท non-psychotic หรืออาการที่สามารถหายได้เองในระยะ 6 เดือน แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ และไม่อยากทนทุกข์อยู่ในภาวะนั้นนาน กอล์ฟเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการกินยา รวมถึงจัดการกับความทุกข์ ของตัวเองด้วยวิธีการ ‘ภาวนา’

ใช้ปัจจุบันเป็นยา

      “ช่วงทำงานอยู่ที่โตเกียว ผมเริ่มนั่งสมาธิ ไม่ได้นั่งเพราะมีความทุกข์ ไม่ได้เครียด ไม่ได้อะไร แค่อยากลอง และนั่นทำให้ผมเจอกับเรื่องแปลกมากๆ เรื่องหนึ่ง วันนั้นผมนั่งสมาธิอยู่ดีๆ ก็เหมือนมีเสียงในหัวบอกให้ผมไปที่ตึก Tower Record พอไปถึง ผมรู้สึกว่าต้องขึ้นไปชั้น 7 ทั้งที่ตอนแรกเข้าใจว่ามันมีแค่สองชั้น แต่ก็ลองกดลิฟต์ขึ้นไปดู และมันก็มีชั้น 7 จริงๆ ลิฟต์เปิดออก ผมเจอกับชั้นหนังสือ เหมือนร้านคิโนะคุนิยะเลย ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งตั้งประจันหน้ากับผม ชื่อ The Power of Now โดย เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล (Eckhart Tolle) เปิดอ่านดูเล่นๆ ก็คิดว่าหนังสือเขาอ่านง่ายดีนะ สุดท้ายผมติดใจประโยคหนึ่งในหนังสือ เขาบอกว่าให้ ‘หยุดคิด’

      “ผมเป็นครีเอทีฟ ผมคิดทุกอย่าง คิดตลอดเวลา คิดเรื่องงาน เรื่องตัวเอง คิดนู่นคิดนี่ คิดว่าการฝึกคิด เหมือนคนเล่นกล้ามที่ต้องฝึกมากๆ แต่หนังสือเล่มนี้บอกให้ ‘หยุด’ ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน”

      กอล์ฟซื้อหนังสือเล่มที่ว่ากลับมาตั้งใจอ่านทีละหน้า และกลายเป็นหนังสือที่เปลี่ยนความคิดของเขา จากครีเอทีฟ นักคิดที่การงานทุกอย่างมีได้เพราะความคิด นี่คือครั้งแรกที่เขารู้จักกับคำว่า ‘หยุดคิด’

      เหตุการณ์นี้เกิดก่อนที่เขาจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ กอล์ฟใช้บทเรียนจากหนังสือเล่มนั้น ประกอบกับการภาวนาอย่างจริงจังด้วยการรู้ตัวหรือที่เรียกว่า ‘สติปัฏฐาน 4’  รู้ตัวเอง มีสติว่ากำลังทำอะไรอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน ที่กลายเป็นยาให้เขาหายจากภาวะ

      ซึ่งกอล์ฟยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าการภาวนา สติปัฏฐาน 4 นั้นแตกต่างจากสมาธิอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด และยังเป็นสิ่งอันตรายต่อภาวะที่เขาเป็นอย่างยิ่ง

      “นั่งสมาธิในแง่การนั่งนิ่งๆ แล้วหลับตา อันตรายมากครับ เพราะในขณะที่จิตยังดิ่ง แล้วเรานั่งเฉยๆ มันเหมือนเรายิ่งเพ่งไปที่ความทุกข์ ภาวนาของผมหมายความว่าการรู้ตัว คือกรรมฐาน หรือสติปัฏฐาน 4 เช่น ตอนนี้ผมนั่งคุยกับคุณ ผมรู้ว่าขาผมสัมผัสเก้าอี้ รู้ว่าแขนสัมผัสโต๊ะ รู้ว่าคุณกำลังถามอะไร เหมือนเราเอาแว่นขยายซูมไปที่การกระทำ ณ ขณะนั้น สำหรับผมมันช่วยให้จัดการกับความคิดได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าระบบรู้ตัวทำงาน คุณจะคิดเรื่องอื่นไม่ได้ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ

      “ซึ่งสำหรับผมแล้ว การฝึกภาวนาทำให้เข้าใจว่าความทุกข์ส่วนหนึ่งมาจากความคิด เมื่อออกจากโลกแห่งความคิด ทุกข์ก็หาย…”

      และเขาก็หายจากภาวะนั้นได้จริงๆ

      “มันเป็นการหายแบบฉับพลัน ผมมาทบทวนในภายหลังที่บอกว่า ‘หาย’ เกิดจากอะไร ตอนนั้นมีช่วงหนึ่งที่ผมมานั่งคิดว่า ที่เราเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะห่วงบริษัท เครียดเพราะการทำงาน แต่บริษัทไม่ใช่ของเรา เรายึดติดเอง พอผม ‘อ๋อ’ ปุ๊บ มันรู้สึกว่าเส้นความเครียดขาดผัวะ! นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมลาออกจากซาทชิ และมาเปิดบริษัทของตัวเองปัจจุบัน” โดยที่เขาก็ไม่อาจคาดคิดเช่นเคยว่า เขาจะกลับมาป่วยอีกครั้ง และรุนแรงกว่าเดิม… 

..

นั่งสมาธิในแง่การนั่งนิ่งๆ แล้วหลับตา อันตรายมากครับ เพราะในขณะที่ จิตยังดิ่ง แล้วเรานั่งเฉยๆ มันเหมือนเรายิ่งเพ่งไปที่ความทุกข์ ภาวนาของ ผม หมายความว่าการรู้ตัว คือกรรมฐาน หรือสติปัฏฐาน 4 เช่น ตอนนี้ ผมนั่งคุยกับคุณ ผมรู้ว่าขาผมสัมผัสเก้าอี้ รู้ว่าแขนสัมผัสโต๊ะ รู้ว่าคุณ กำลังถามอะไร เหมือนเราเอาแว่นขยายซูมไปที่การกระทำ ณ ขณะนั้น สำหรับผมมันช่วยให้จัดการกับความคิดได้ง่ายขึ้น

..

ความหวังใหม่ที่มาพร้อมกับโรคใหม่

      หลังจากที่กอล์ฟสามารถแยกแยะตัวตนของตัวเองกับตัวตนของบริษัทออกจากกันได้ เขาตัดสินใจเดินออกมาจากบริษัทซาทชิฯ และเปิดบริษัท NAWIN Consultant ที่รับปรึกษาด้านธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์แก่ลูกค้า คราวนี้ด้วยความเป็นเจ้าของบริษัท ตัวตนของเขาย่อมหมายถึงตัวตนของบริษัทอย่างแยกไม่ได้ อีกทั้งการเอาชื่อของลูกมาตั้งเป็นชื่อบริษัท ยิ่งทำให้เขาคาดหวังกับตัวเองค่อนข้างสูง จนกลายเป็นภาวะกดดันตัวเองอีกครั้ง และรุนแรงกว่าเดิม

      “ตอนนั้นผมเพิ่งเปิดบริษัทตัวเอง ใช้ชื่อลูกชายเป็นชื่อบริษัท ซึ่งนั่นคือ ความคาดหวังยิ่งกว่า ว่าเราจะทำให้ชื่อลูกเสียไม่ได้ และเป็นธุรกิจประเภทที่เราไม่เคยทำมาก่อน คือการรับปรึกษาธุรกิจที่ใช้งานสร้างสรรค์เป็นแกน ไม่ใช่แค่การเป็นครีเอทีฟอย่างที่เคย มันเลยอาจเป็นความกดดันเพิ่มขึ้น

      “ผมเข้าใจผิดว่าการเป็น Adjustment Disorder หายขาดได้ แต่พอเป็นครั้งที่สอง ผมมีความคิดฆ่าตัวตาย บางครั้งมองขึ้นไปที่ตึกสูงแล้วคิดว่าถ้ากระโดดลงมา เรื่องมันคงจบไปนะ เหงื่อออกตามมือหวาดผวา ตื่นขึ้นกลางดึกตีสองตีสาม ผมเคยนั่งมองกระดาษอยู่เป็นชั่วโมงก็คิดงานไม่ได้ เคยนั่งอยู่หน้าคอมฯ ซึ่งเพื่อนร่วมงานก็อยู่ตรงนั้นด้วย แล้วผมดิ่งมาก ทุกคนสังเกตเห็นว่าผมไม่พร้อมทำงานเลย”

      เมื่อไปพบหมออีกครั้ง กอล์ฟก็ได้ทราบว่าจาก ‘ภาวะ’ ที่เขาเคยเป็น มันได้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็น ‘โรค’ ซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) อย่างเต็มตัว ซึ่งไม่สามารถหายได้เองอีกต่อไป

      “ตอนกลับไปหาคุณหมอรอบสอง เขาตกใจมาก เพราะตอนที่ผมฟื้นฟูจากรอบแรกแล้ว ผมเขียนในเพจแนะนำวิธีการรักษาทั้งทางภาวนาและการกินยาควบคู่กันไป ถึงขนาดอัดคลิป ‘วิธีแก้โรคซึมเศร้า (ภาคพิสดาร)’ ตอนไปหาคุณหมอรอบสอง คุณหมอจะให้ชีทมา เป็นลิสต์รายการว่าเราควรทำอะไรบ้าง ในข้อสุดท้ายของใบนั้นเขียนว่าให้เรากลับไปดูคลิป ‘วิธีแก้โรคซึมเศร้า (ภาคพิสดาร)’ ตลกไหม? คือให้กลับไปดูคลิปที่เราเป็นคนอัดไว้เอง”

      และก็เป็นลิสต์นั้นเองที่เขาค่อยๆ ทยอยทำและแก้ไขมันไปทีละข้อ ไม่ว่าจะเป็น การประเมินตนเองและเลือกรับงานเท่าที่คิดว่าสามารถทำไหว โดยบอกเหตุผลตรงๆ กับลูกค้าถึงอาการที่เป็นอยู่ เริ่มต้นออกกำลังกาย ภาวนาสติปัฏฐาน 4 ควบคู่ไปกับการทานยาตามที่หมอบอกอย่างจริงจัง

      “คุณหมอบอกชัดว่า ‘ยา’ แค่ทำให้อาการไม่แย่ลง แต่การออกกำลังกาย การปรับความคิด ทำให้มันดีขึ้น ผมจึงไม่ต้องการพึ่งยาอย่างเดียว ผมปรับทัศนคติในการใช้ชีวิต ซึ่งมันฝืนนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ผมอยากหาย ผมฝืนออกกำลังกาย ฝืนปฏิบัติธรรม ฝืนฝึกจิตภาวนา แต่ก็ต้องทำเพราะอยากหาย”

      “ขณะเดียวกันก็หาข้อมูลด้านประสาทสมอง ผมอยากเข้าใจว่าที่ผมเศร้า ที่คิดอะไรไม่ออก ที่ไม่สร้างสรรค์ มันมาจากอะไร ซึ่งทำให้เข้าใจว่า เวลาที่เศร้า สมองส่วนกลัวมันทำงานเต็มที่ เวลาที่กลัว สมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน ซึ่งผมต้องขอบคุณคุณหมอมากๆ ทุกครั้งที่เข้าไปหา ท่านจะอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองเรา และบอกว่ากรอบคิดแบบไหนที่จะช่วยให้เราผ่านไปได้ กรอบคิดแบบไหนที่จะทำให้เราไม่หาย”

      ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่เขาต้องทำควบคู่ไปด้วยอีกอย่าง นั่นก็คือ การเปิดใจโอบรับทุกกำลังใจและความช่วยเหลือ ทั้งจากเพื่อนฝูงในแวดวงโฆษณา เพื่อนที่บริษัท และที่สำคัญคือ คนในครอบครัว

      “ผมต้องขอบคุณกัลยาณมิตร มีส่วนช่วยต่ออาการอย่างมาก และกับครอบครัว ผมกับภรรยาเป็นคนไม่หวาน ไม่สวีท ช่วงที่เป็น Adjustment Disorder ผมเข้าใจว่าภรรยาและแม่รับรู้ว่าผมเป็นโรคเครียด แต่พอเป็นรอบสองที่ผมเริ่มพูดถึงการตาย เขาก็เริ่มส่งข้อความให้กำลังใจในแง่ว่า ‘อย่าตายนะ’ มาให้” กอล์ฟหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

      “อีกพื้นที่ปลอดภัยของผมคือ ‘ลูก’ แปลกมาก ถ้าผมอยู่กับลูก เหมือนว่าผมจะไม่เป็นอะไรเลย เหมือนว่าทุกครั้งที่เปิดประตูบ้าน ความทุกข์จะหายไป”

‘โรคซึมเศร้า’ นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

..

แต่หลังจากที่เป็นซึมเศร้า ความสุขของผมคือ ปกติสุข แค่ไม่มีปัญหา ผมก็สุขแล้ว เรา appreciate ทุกโมเมนต์ ในแง่การทำงาน ผมไม่ได้ ทำงานเพื่อเป็นที่จดจำอย่างเดียวแล้ว แต่ทำเพราะเห็นโอกาสว่าความคิด สร้างสรรค์ มันจะช่วยให้สังคมดีขึ้นยังไง เราจะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดี อย่างไร

..

เมื่อครีเอทีฟพบปัจจุบัน

      ตั้งต้นจากรู้ตัวเองว่า ‘อยากหาย’ ทำตามคำแนะนำของหมอควบคู่กับการภาวนาอย่างจริงจัง แม้ว่าโรคที่เขาเป็นจะไม่มีคำว่า ‘หาย’ แต่กอล์ฟก็ค้นพบความสุข ณ ปัจจุบันของเขาแล้ว

      “คือ หาย ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการไม่กินยา ผมยังกินอยู่แต่โดสน้อยมาก ผมเชื่อว่ายาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองซึ่งจะควบคุมอาการเหล่านี้ไม่ให้เกิด โรคก็ยังมีอยู่ แต่ไม่มีอาการโหวง ใจแป้วกลัวอนาคต มือไม่สั่น ไม่มีเหงื่อออกตามมือ ไม่ตื่นมาด้วยความหวาดกลัวตอนตีสองตีสาม ไม่มีแล้ว”

      “ตอนเป็นโรคซึมเศร้ารอบที่สอง มันชัดเจนจริงๆ ว่าเราไม่อยากมีความสุขแล้ว และถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่อยากทุกข์ด้วยที่เราอยากให้เป็น คือ ขอให้มัน ‘ปกติสุข’ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดจะดีหรือร้าย เราไม่อยากทุกข์และสุขกับมัน แค่รู้ว่ามันมีและให้มันเป็นของมันแบบนั้น เราทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ดี ก็เพราะมีเหตุให้เกิด สิ่งที่ไม่ดี ก็เพราะมีเหตุให้เกิด แต่ทั้งสุขและทุกข์ เมื่อเกิดแล้วเราก็แค่ยอมรับโดยศิโรราบ ไม่ต้านทาน และทำให้มันเป็นเรื่องปกติ”

      “ก่อนเป็น เราจะสุขกับการที่ผลงานออกมาดี มีคนยอมรับ อะไรก็ตามที่สร้างชื่อให้กับเรา ผมอยากได้ชื่อเสียงมากกว่าเงินทอง อยากเด่นดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากเป็นที่อิจฉา อยากให้พ่อแม่ภูมิใจว่าเราเป็นครีเอทีฟที่เก่งที่สุด นั่นคือสุขที่สุดแล้ว อีกอย่างคือความสุขที่มาจากลูก ถ้าลูกสุข เราสุข

      “แต่หลังจากที่เป็นซึมเศร้า ความสุขของผมคือ ปกติสุข แค่ไม่มีปัญหาผมก็สุขแล้ว เรา appreciate ทุกโมเมนต์ ในแง่การทำงาน ผมไม่ได้ทำงานเพื่อเป็นที่จดจำอย่างเดียวแล้ว แต่ทำเพราะเห็นโอกาสว่าความคิดสร้างสรรค์มันจะช่วยให้สังคมดีขึ้นยังไง เราจะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างไร”

      และหนึ่งในบทเรียนสำคัญจากคนที่เคยคิดว่า พระเจ้ารักตัวเองเป็นพิเศษ

      “หลังจากเป็นซึมเศร้า ผมเตือนตัวเองตลอดว่า ทุกครั้งที่สุขหรือทุกข์ ก็อย่าเหลิงไปกับมัน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไม้เรียวจากพระเจ้ามาแน่” เขาหัวเราะแซวตัวเองอย่างอารมณ์ดี

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย