เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘ชีวิต คือ โอกาสของการเรียนรู้’ : นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

ชีวิต คือ โอกาสของการเรียนรู้

นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

ตลอดชีวิตการทำงานของคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ไม่ว่าจะในระหว่างการเป็นแพทย์ชนบทที่จังหวัดนครราชสีมา ไปศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา หรือเมื่อกลับมาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขจนกระทั่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในปัจจุบัน ประเด็นที่คุณหมอให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานในทุกบทบาท ก็คือความเข้าใจในเรื่องของความเป็นมนุษย์

คุณหมอโกมาตร บอกเราว่า หากเราใส่ใจกับเรื่องความเป็นมนุษย์ ก็จะทำให้เรามีมุมมองที่ละเอียดอ่อน รับรู้ถึงรายละเอียดในชีวิตและความสัมพันธ์ที่เราอาจเคยมองข้ามมาก่อน การรู้สึกที่ประณีตขึ้นนี้ เกิดได้จากการใช้ผัสสะที่ช่วยให้เราเข้าถึงสุนทรียภาพของชีวิต ทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของคนอื่นได้ดีขึ้น และมีมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สุดแล้ว เราอาจจะค้นพบด้วยตนเองว่า ชีวิตนี้ช่างเป็นโอกาสของการเรียนรู้

คุณหมอเคยกล่าวไว้ในหลายโอกาสว่า ‘สุนทรียภาพกับสุขภาพนั้นเป็นเรื่อง เดียวกัน’ ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง เราควรเริ่มต้นทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร

      พูดถึงเรื่องสุนทรียภาพ มันกลายเป็นเรื่องนามธรรมมาก เหมือนกับเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Aesthetic เเต่ในวงการเเพทย์มีคำอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า Anaesthetic ก็คือเติม an ไว้ข้างหน้า ซึ่งมีความหมายในทางตรงกันข้าม Anaesthetic ในทางการแพทย์ ก็คือ วิชาวิสัญญีวิทยา หรือหมอดมยานั่นเอง ซึ่งเป้าหมายของวิชาวิสัญญีวิทยา ก็คือ การทำให้คนไม่รู้สึกตัว ทำให้ไม่มีความรู้สึกรู้สมกับอะไร หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Lost of Sensation ผู้คนรอบข้างจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองจะทุกข์ร้อน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เราไม่ต้องไปรู้สึกอะไร เหมือนกับเราถูกดมยา คือ การสูญเสียความรู้สึกไปนี้ เราเรียกว่า Anaethetic ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องสุนทรียภาพ ถ้าเราแปลความให้ง่ายที่สุด ก็คือ การที่เรารู้สึกรู้สมกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา จะเป็นดอกไม้ข้างทางที่เราเดินผ่านมา ถ้าเราไม่รับรู้อะไรเลย เราก็ละเลยไปเสียง่ายๆ บางทีเราก็เหยียบมันเสียด้วยซ้ำไป เราไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้เลย เราเดินผ่านมัน เหมือนโดนดมยาให้ไม่รับรู้และไม่รู้สึกรู้สมกับอะไร

      ผมคิดว่า ทุกวันนี้ ทั้งระบบการศึกษา และระบบการทำงาน ล้วนแต่ฝึกให้เราเหมือนโดนดมยา คือไม่ต้องรู้สึกกับอะไร คนทำงานไม่ต้องรู้สึกอะไรกับงานที่ทำก็ได้ สักแต่ทำๆ ไปให้มันเสร็จ คนเป็นเเพทย์ก็ไม่ต้องรู้สึกว่า เราได้รักษาคนให้หายป่วย คนคนนี้เขาได้กลับบ้าน กลับไปอยู่กับครอบครัวที่รอเขาอยู่ ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแบบนี้เลย อะไรจะมาหล่อเลี้ยงเราให้มีชีวิตอยู่ อะไรจะมาเป็นเเรงบันดาลใจให้เราอยากทำงานของเราต่อไป ผมจึงรู้สึกว่า เรื่องสุนทรียภาพเป็นเรื่องที่ใกล้กับตัวเรามากกว่าที่เราคิด แต่พอเราไปเเปลคำว่า สุนทรียภาพ เป็นอะไรที่เป็นนามธรรม หรือเป็นเรื่องที่ศิลปินเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้ มันก็จะคล้ายๆ เรื่องสุขภาพ ที่ถูกทำให้เข้าใจว่า คนจะมีความเข้าใจเรื่องการมีสุขภาพดีต้องเป็นเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น สุขภาพกลายเป็นเรื่องของแพทย์ คล้ายๆ กับสุนทรียภาพกลายเป็นเรื่องของศิลปิน แต่มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น สุนทรียภาพและสุขภาพก็เหมือนกันในเเง่ที่ว่า มันอยู่ในชีวิตของเราทุกๆ วัน เราเองก็ควรจะได้มีความสามารถที่จะเข้าหา เข้าถึง หรือยกระดับสุขภาพและสุนทรียภาพในชีวิตของเราไปพร้อมๆ กัน

เมื่อสุนทรียภาพอยู่รอบตัว แต่เราอาจละเลยหรือมองข้ามไป จนทำให้เราพลาด โอกาสในการมองเห็นคุณค่าหรือความงามของชีวิต หากจะเริ่มต้นซึมซับความงดงามเหล่านี้ เราควรตระหนักถึงสิ่งใด

      สุนทรียภาพเป็นเรื่องของการรับรู้และความรู้สึก มันจึงสัมพันธ์กับเราผ่าน ‘ผัสสะ’ ประสบการณ์เชิงผัสสะที่เราไปรับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือหัวใจ ทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นในตัวเรา ถ้าเราหล่อเลี้ยงความรู้สึกนี้ไว้ได้ เราก็สามารถที่จะรู้สึกกับเรื่องเหล่านั้นได้ง่าย อันนี้ต้องบอกว่า ผัสสะต่างๆ ของเราก็อาจได้รับความสำคัญไม่เท่ากัน เช่น ในสังคมสมัยใหม่ที่เรามีชีวิตอยู่นั้น โลกของการรับรู้อาจถูกครอบงำโดย ‘การเห็น’ ซึ่งเป็นญาณวิทยาของการมองโลกแบบหนึ่ง ในบางสังคม โดยเฉพาะในวัฒนธรรม ดั้งเดิม ‘เสียง’ และ ‘การได้ยิน’ อาจมีความสำคัญ อาจพูดได้ว่า ปัจจุบันเราไม่ค่อยได้ใส่ใจกับเสียงรอบตัวสักเท่าไหร่ ถ้าเราไปนั่งอยู่ในสวนสักแห่ง เเล้วลองตั้งใจฟังดูว่ามีเสียงอะไรดังขึ้นมาบ้าง เราก็อาจจะได้ยินสุ้มเสียงต่างๆ ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จากเสียงที่ใกล้ตัวเราไปถึงเสียงที่เเว่วมาจากที่ที่ไกลที่สุด เเต่ทุกวันนี้ เราแทบไม่มีสุนทรียภาพกับเรื่องเสียงเลย เราสร้างมลพิษทางเสียงที่อึกทึก แล้วเราก็หันไปฟังเสียงจากหูฟังของเครื่องโทรศัพท์ มือถือ ‘สัมผัส’ ก็เป็นผัสสะที่สำคัญ ในทางมานุษยวิทยา สัมผัสเป็นผัสสะที่ช่วยจัดการความขัดเเย้งได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสจากการจับมือ การสวมกอด เเต่ทุกวันนี้ เราห่างเหินจากสุนทรียภาพเหล่านี้ เพราะเราไม่ได้ฝึกฝนทักษะและผัสสะเหล่านั้นเท่าไรเลย ในเเง่หนึ่ง ผัสสะต่างๆ เป็นวิธีการที่เราไปสัมพันธ์กับโลก ถ้าเราสัมพันธ์กับโลกได้ดี มีทักษะที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกได้อย่างมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น มีความละเมียดละไมมากขึ้น มันก็จะช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเก่า

มนุษย์มีประสบการณ์เชิงผัสสะที่เหมือนหรือต่างกัน และเราเข้าถึงผัสสะเหล่านี้ ได้เท่ากันหรือไม่

      ในทางชีววิทยา ถือว่าถ้าเราไม่ได้มีความผิดปกติหรือมีความพิการต่างๆ ประสบการณ์เชิงผัสสะของมนุษย์ก็คงไม่แตกต่างกัน เเต่เเน่นอนว่า ‘กระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม’ ที่เราเรียนรู้และเติบโตมาก็จะสอนให้เรามีความละเอียดในผัสสะเเต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน ในบางวัฒนธรรม ประสบการณ์เชิงผัสสะบางอย่างอาจมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมของชาวกวย กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานที่ผมไปศึกษา เสียงและการได้ยินเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเขามาก อาจเป็นเพราะว่า เสียงเป็นผัสสะที่สำคัญในเวลาที่อยู่ในป่าทึบที่มองอะไรไม่เห็น สิ่งเดียวที่เขาจะรู้ได้ว่ามีการเคลื่อนไหวก็คือเสียง เขาจะสื่อสารกันโดยใช้แตรที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณ เเต่ละสังคมจึงฝึกเราให้มีและใช้ผัสสะที่แตกต่างกัน เรื่องผัสสะนี้ จึงเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ด้วย อาจพูดได้ว่าการเมืองที่ละเอียดที่สุด คือการเมืองที่คุมประสบการณ์และความหมายของผัสสะ เป็นการเมืองที่กำหนดว่า สิ่งต่างๆ ที่เราจะได้รับรู้ผ่านผัสสะนั้นถูกใครกำหนด ใครมีอำนาจที่จะเลือกให้เราได้ยิน ได้เห็น หรือได้รับรู้อะไร ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้เห็น จะให้มันมีความหมายว่าอะไร จะให้เรารู้สึกอย่างไร อันนี้เรียกว่าเป็น Sensory Politics หรือการเมืองเรื่องผัสสะ ที่ถ้าหากเราสามารถควบคุมได้ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่คุณเห็น คุณได้ยิน หรือคุณสัมผัส เราก็จะมีอำนาจ สามารถควบคุมทุกคนได้

คุณหมอมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับวิธีการฝึกฝน หรือการเรียนรู้เรื่องสุนทรียภาพ เหมือนกับว่าระบบการศึกษาทุกวันนี้กลายเป็นข้อจำกัด ทำให้การเรียนรู้ไม่สมดุลกันในด้าน Hand Head กับ Heart

      ระบบการศึกษาคงเป็นกรอบจำกัดที่สำคัญ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ระบบการศึกษาจะมาครอบงำได้อย่างเบ็ดเสร็จ หลายเรื่องที่เราเรียนรู้เราก็ไม่ได้เรียนมาจากในชั้นเรียน และการเรียนรู้ของเราก็ไม่ได้จบลงตรงวันที่เรารับปริญญา เอาเข้าจริง ในชีวิตการงานจะมีเรื่องที่เราได้เรียนรู้มากกว่าเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป ส่วนเรื่องการเรียนรู้ที่ต้องได้สมดุลระหว่าง Hand Head กับ Heart หรือฐานกาย ฐานหัว และฐานใจนั้น ผมไม่คิดว่ามันจะแยกจากกันได้นะ คือ มันไปด้วยกันทั้งหมดระหว่าง Hand Head Heart การที่เราได้ลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยมือของเราเอง การที่เราได้หยิบจับสิ่งของขึ้นมา หรือเเม้เเต่การได้พิมพ์งานชิ้นหนึ่งจนเสร็จ มันก็จะมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นกับการลงมือทำของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถทำได้ บางทีมันอาจจะเหนื่อย เราก็ต้องต่อสู้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นการขัดเกลาตัวเองของเราด้วย แล้วในที่สุด เมื่อเราก็ทำมันออกมาได้ ความคิดและความรู้สึของเราต่อตัวเองและต่อโลกก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญมาก ในเเง่ที่เราได้เกิดรู้สึกถึงศักยภาพของเรา รู้สึกว่าเราเต็มขึ้น สมบูรณ์ขึ้น และเราสามารถที่จะเติบโตไปกับมันได้ เกิดการตระหนักในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ของเราว่าเราสามารถทำสิ่งนี้ได้ และเราก็จะสามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้อีก โดยความสำเร็จเล็กๆ เหล่านี้กลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเรา และเป็นสิ่งที่คอยอุ้มชูเราเอาไว้ในเวลาที่จิตของเรานั้นเหน็ดเหนื่อยหรือตกต่ำ

      ไม่ใช่เฉพาะงานการอาชีพต่างๆ นะ เเม้เเต่งานอดิเรกต่างๆ ก็สำคัญ ผมเคยไปเยี่ยมผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน เห็นได้ชัดเลยว่า ผู้สูงอายุที่มีงานอดิเรกทำกับผู้สูงอายุที่ไม่มีงานอดิเรกมีคุณภาพชีวิตที่ต่างกัน ผมเพิ่งไปที่สกลนครมา มีคุณตาคนหนึ่งอยู่บ้าน ผมเดินผ่านเลยเข้าไปทักทาย เขาก็ดูเหมือนไม่ค่อยอยากจะคุยกับเราเท่าไหร่ ง่วนอยู่กับการจักสาน ผมเข้าไปหาแกในบ้าน แกเห็นเราสนใจก็หยิบข้าวของที่เขาจักสานอย่างงดงามทั้งหลายเอามาเล่าให้ผมฟังทีละชิ้นว่า เเต่ละชิ้นทำอย่างไร เรียนมาจากไหน สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของคุณตา มันแสดงถึงการได้ใช้ทักษะความรู้ที่แกมีอยู่ มนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาก็เพื่อที่จะได้ทำในสิ่งเหล่านี้ การได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาด้วยมือของเรา ด้วยน้ำพักน้ำเรงของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราสมบูรณ์ขึ้น เราได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เราไม่ได้เสพอย่างเดียว แต่เราเกิดมาเพื่อที่จะสร้างด้วย การได้ลงมือสร้างสรรค์ทำให้เรามีคุณค่ากับโลกใบนี้

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

การได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาด้วยมือของเรา ด้วยน้ำพักน้ำเรงของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราสมบูรณ์ขึ้น เราได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เราไม่ได้เสพอย่างเดียว แต่เราเกิดมาเพื่อที่จะสร้างด้วย ถ้าเราเอาเเต่เป็นผู้บริโภคอย่างเดียว ไม่ผลิต ไม่สร้างอะไรขึ้นมาเลย มันการได้ลงมือสร้างสรรค์ทำให้เราจะไปมีคุณค่าอะไร กับโลกใบนี้

      ผมเคยอ่านเจอว่า ที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีการศึกษาเเบบหนึ่งเรียกว่า Sloyd หรือ Educational Sloyd ระบบนี้เขาสอนเด็กตั้งเเต่ชั้นประถมให้ฝึกทำงานช่างไม้ เด็กเล็กๆ ก็ฝึกเอาไม้มาประกอบกันเป็นอะไรง่ายๆ โตขึ้นมาหน่อยก็ทำกล่องดินสอ พอถึงชั้นประถมปลายก็ทำลังเก็บของ พอชั้นมัธยมก็ทำเก้าอี้หรืออะไรที่ซับซ้อนขึ้น อย่างนี้เป็นต้น การที่เด็กได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำงาน ใช้ทักษะฝึกฝนให้สร้างสรรค์สิ่งของขึ้นด้วยมือของตัวเองนี้ ทำให้เด็กๆ มีประสบการณ์ของการได้ลงมือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไม่ใช่เป็นแค่การฝึกทักษะ แต่เป็นการพัฒนาคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะเป็นผู้สร้างมากกว่าเป็นผู้เสพ และถึงเเม้คุณจะไม่ได้เรียนไปเป็นช่างไม้ แต่การเรียนในระบบนี้ก็ทำให้คุณไม่ดูถูกงานช่าง ไม่ดูถูกแรงงานที่ใช้มือ เเนวคิดเรื่อง Sloyd ขยายออกไปทั่วโลก กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในยุโรปและอเมริกาที่เขาเรียกว่าเป็น Arts and Crafts Movement ที่ได้สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ชั้นยอดของโลกขึ้นมาจำนวนมาก ถ้าเราไปดูงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เราจะเห็นว่า การออกแบบนั้นจะโดดเด่นเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาของเขาทำให้คนไม่ดูถูกงานช่างและงานฝีมือเหล่านี้

      ไม่ใช่เฉพาะงานศิลปะที่ใช้มือหรืองานช่างเท่านั้น แม้แต่ ‘การเขียน’ ก็สำคัญ การเขียนเป็นกระบวนการที่ Hand Head กับ Heart ทำงานไปด้วยกัน เพราะกระบวนการเขียน สอนเราให้มองโลกด้วยสายตาที่ละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถ้าเราจะเขียนเรื่องของคนคนหนึ่ง เราก็ต้องนึกถึงเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่เราต้องรู้จักเขาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต้องใส่ใจในรายละเอียด ตั้งเเต่ลักษณะภายนอก รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางต่างๆ เสื้อผ้า การแต่งกาย ไปจนถึงความรู้สึก สีหน้า แววตาและอารมณ์ เวลาที่เราเจอกับผู้คนในชีวิตปกติ เราอาจไม่ได้ใส่ใจสังเกตอะไรมากนัก เเต่พอเราเป็นนักเขียน เราจะต้องใส่ใจกับรายละเอียดว่าคนคนนี้เขามีชีวิตของเขาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เขารู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นๆ เป็นอย่างไร เขามีความฝันอะไร สิ่งเหล่านี้ทำให้การเขียนเรื่องราวต่างๆ กลายเป็นการฝึกให้เราใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่มีการเอามาใช้ในการเรียนการสอนแพทย์และบุคลากรสุขภาพด้วย เป็นสาขาวิชาที่เรียกว่า Narrative Medicine คือ การแพทย์ที่ใช้เรื่องเล่า ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ใช้เพื่อเยียวยาผู้ป่วยเท่านั้น เเต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความละเอียดในเรื่องความเป็นมนุษย์

ถ้าเรื่องสุนทรียภาพเป็นเรื่องสำคัญ เราเรียนรู้การมองโลกให้ละเอียดอ่อนมากขึ้น มองเห็นความงามในเพื่อนมนุษย์ เห็นความงามของสิ่งรอบตัวจะสามารถช่วยเยียวยาหรือเปลี่ยนความคิดเราอย่างไรได้บ้าง

      ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องทุกเรื่องในชีวิตจะต้องเป็นเรื่องสุนทรียภาพไปเสียทั้งหมด เวลาเราเดินข้ามถนน ถ้ามัวเเต่ชื่นชมความงามของสรรพสิ่ง เราก็คงถูกรถชนตายกันพอดี คือ มันไม่ใช่ว่าเวลาเราพูดถึงสุนทรียภาพ มันจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มันก็ไม่ได้สุดขั้วหรือสุดโต่งขนาดนั้น เราต้องรู้จักเลือกที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันให้เหมาะสม อันที่จริง การรู้ว่าอะไรขนาดไหนเหมาะสม มันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งนะ คือกระบวนการทั้งหลายเหล่านี้พอได้ฝึกมากเข้าๆ ก็อาจจะเกิดความชำนาญ มีทักษะมากขึ้นที่จะรู้ว่าจังหวะไหนในชีวิตของเราที่เราควรจะได้ชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวบ้าง ซึ่งผมคิดว่าทักษะพวกนี้เป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ผ่านการงานหรือความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ เหมือนกับว่าเราฝึกฝนและเรียนรู้ไปกับชีวิตและการทำงาน โดยมีเป้าหมายคือการเติบโตไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น คำว่า ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สำหรับผมนั้นอาจจะไม่มี หรืออาจจะไม่มีใครไปถึงก็ได้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าความสมบูรณ์นั้นมันเป็นอย่างไร หรือมันอยู่ตรงไหน บางคนอาจบอกว่ามี อย่างเช่น พระพุทธเจ้า หรือศาสดาอื่นของศาสนาต่างๆ ก็อาจบรรลุความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แท้จริงได้ เเต่สำหรับคนทั่วๆ ไปอย่างเรา ผมคิดว่าเราอาจจะคิดง่ายๆ ว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมันเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง คือมันเป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปได้ถึง เเต่สิ่งที่เราควรจะงอกงามเติบโตไปก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น’ ไม่ได้ ‘ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ สมบูรณ์ขึ้นก็คือสมบูรณ์ขึ้นจากเราเมื่อวานนี้ จากเราเมื่อปีที่เเล้ว ทีนี้เวลาเราทำงานทุกวันหรือเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่ทุกวัน เราก็สามารถใช้จินตนาการนั้นมาช่วยนำพาชีวิตเราให้เติบโตไปได้อยู่ตลอดเวลาได้เหมือนกัน เราก็จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นทุกวัน ส่วนจะบรรลุถึง‘ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ หรือไม่นั้นเราไม่ต้องไปเดือดร้อน

..

ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมันอาจจะเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง คือมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปได้ถึง เเต่สิ่งที่เราควรจะงอกงามเติบโตไปก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น’ ไม่ได้เป็น ‘ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ สมบูรณ์ขึ้น ก็คือสมบูรณ์ขึ้นจากเราเมื่อวานนี้ จากเราเมื่อปีที่เเล้ว

..

      ผมรู้จักน้องคนหนึ่ง เขาเล่าถึงการทำงานของเขาครั้งหนึ่งที่ต้องไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุมันเป็นเหตุการณ์ที่รุนเเรงมาก รถรับส่งเด็กนักเรียนชนประสานงากับรถบรรทุก เด็กๆ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุหลายคน เขาไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้ จึงได้เจอคุณเเม่คนหนึ่งที่มาตามหาลูกที่เป็นนักเรียนในรถคันนั้น ปรากฏว่าไม่เจอลูกของเธอในที่เกิดเหตุ แต่ทราบว่าไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล คุณแม่ขอทางโรงพยาบาลว่าอยากดูศพลูก ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ต้องดูหรอก คุณรับศพลูกคุณไปทำพิธีทางศาสนาก็เเล้วกัน แม่ก็บอกว่าอยากจะดูลูกเป็นครั้งสุดท้าย เจ้าหน้าที่ทนคำรบเร้าไม่ไหวจึงเลยพาไปดู พอเปิดที่เก็บศพออกมา เห็นเด็กอายุสัก 10 ขวบได้ โดนท่อเหล็กกระเเทกที่ใบหน้าเเล้วทะลุออกไปข้างหลัง ใบหน้าเป็นโพรงกลวงหายไปหมด เเม่ของเด็กเป็นลมต่อหน้าต่อตา น้องคนนั้นบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นกระทบตัวเขารุนเเรงมาก หลังจากนั้นเมื่อกลับมาทำงานเขาเเต่งชุดดำไปทำงานทุกวัน ผมถามเขาว่าทำไมถึงเเต่งชุดดำไปทำงาน เขาบอกว่ามันจะได้เตือนเราให้ตั้งใจทำงาน ถ้าเราทำงานได้ไม่ดี ในวันรุ่งขึ้นอาจจะมีพ่อเเม่ที่ต้องเเต่งชุดดำแบบนี้ไปรับศพลูกก็ได้ ผมคิดว่าการที่เราได้สะท้อนคิดเเบบนี้มันทำให้เราเห็นชัดว่าเราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เพราะเรารู้สึกตัว และเราสามารถทำให้มันดีขึ้นในทุกวัน เราอาจดีไม่ดีบ้าง แต่มันยังมีความหวังว่าเราจะดีขึ้นได้เสมอ เพราะบางทีเรามันก็เลว มันก็ร้าย มันก็ดาร์กขึ้นมาเป็นบางวัน ก็ไม่เป็นไร เราไม่ยอมเเพ้มันเท่านั้นเอง เมื่อไหร่ที่เรายังไม่ยอมเเพ้ ยังมีจินตนาการว่าเรายังดีขึ้นกว่านี้ได้ เราก็ยังเติบโตไปเรื่อยๆ บางช่วงอาจจะถอยลงมามากหน่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ความเป็นมนุษย์มีให้เรา ก็คือการเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ มนุษย์มีศักยภาพอย่างนี้ เราเริ่มต้นใหม่ได้ เราก็ยังมีจินตนาการอันหนึ่งซึ่งสำคัญกับการที่เราจะเติบโตไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น คอยนำทางเราอยู่เสมอ

ในวันนี้ ถ้าคุณหมอมีบทสรุปสักอย่างหนึ่งให้กับชีวิต คุณหมอคิดว่าสิ่งสำคัญ ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคืออะไร

ผมเปรียบเทียบชีวิตเหมือนกับโอกาสที่เราจะเข้าไปอยู่ในสวนสักแห่งหนึ่ง เราได้รับมอบตะกร้ามาใบหนึ่ง เเล้วเราก็มีสิทธิ์ที่จะเดินอยู่ในสวนเเห่งนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นเราก็จะต้องออกจากสวนนี้ไป บางคนก็อาจจะประมาทหรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจกับอะไรมากนัก จนเดินถึงประตูทางออก ซึ่งคุณไม่มีสิทธิ์เดินกลับไปได้อีกเเล้ว เมื่อก้มลงมองตะกร้าที่คุณถือมา มันอาจจะว่างเปล่า ไม่มีอะไรอยู่เลย อาจเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้ใช้เวลาให้ดีหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตให้มันมีคุณค่าอะไรมากมายนัก แต่ถ้าเราเข้าใจว่าเวลาในชีวิตนั้นมีอยู่จำกัด สิ่งต่างๆ ที่เราพบอยู่รอบตัวนั้นมีคุณค่า เราก็จะคอยหมั่นหยิบสิ่งดีๆ ใส่ไว้ในตะกร้าชีวิตของเรา ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น ได้อ่านหนังสือ ได้ดูภาพยนตร์ ได้รู้จักคน ได้เขียนงาน ได้ทำงานอดิเรก ได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆ ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นอยู่อย่างไร ได้เห็นความสุขความทุกข์ของผู้คนที่เขาต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ได้รู้ว่าเราอาจจะทำอะไรบางอย่างให้กับเขาได้บ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก็อยู่ในตะกร้าของเรา เมื่อเราเดินไปที่ประตูทางออก เราก้มลงมองที่ตะกร้าเเล้วรู้สึกโอเคกับชีวิต ชีวิตก็เป็นแบบนี้ เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย