2+4 บ้านเดียวกัน

บ้าน 4 + 2

CO-HOUSING สำหรับการอยู่อาศัยแบบครอบครัวขยายท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติในยุคสมัยปัจจุบัน

บ้าน 4+2 เป็นบ้านที่ออกแบบโดยมีแนวคิดของการอยู่ร่วมกันแบบ CO-HOUSING + CO-LIVING เพื่อพลิกฟื้นรูปแบบการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ระหว่างญาติพี่น้อง หลายๆครอบครัวดังเช่นในอดีต ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้น ลดความเป็นปัจเจก ทำให้หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัวมีความอบอุ่นและเข้มแข็ง อันจะนำไป สู่ความความยั่งยืนของสังคมต่อไป

ความเป็นมา

บ้าน 4+2 เกิดมาจากความประสงค์ของน้องชายและภรรยาที่ต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยร่วมกับพี่สาวอีก 4 คน เพื่อที่จะได้ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชีวิตหลังวัยเกษียณ ท่ามกลาง สภาพแวดล้อมที่สงบเย็น เป็นธรรมชาติ

การตั้งเป้าหมายเชิงคุณค่า

  1. บ้านสำหรับการอยู่อาศัยร่วมกับพี่น้องอย่างอบอุ่นเกื้อกูลกันแบบ CO-HOUSING ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่สนิทสนม แน่นแฟ้น นำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลซึ่งกัน และกันอย่างอบอุ่น
  2. บ้านเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมเนื่องจากบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่น้องชายเป็นผู้สร้างให้พี่สาวมาอยู่อาศัยร่วมกัน การออกแบบจึงต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกเสมอภาคระหว่างผู้อยู่อาศัย เพื่อสะท้อนถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่พึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างเท่าเทียม อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันอย่างยั่งยืน
  3. บ้านที่สงบ สบาย เพื่อการอยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติ ส่งเสริมให้ชีวิตในวัยเกษียณของผู้อยู่อาศัยเป็นไปด้วยความสงบ เย็น ผ่อนคลาย ให้เป็นการพักผ่อนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  4. บ้านที่นำเอาภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ ถอดรหัสภูมิปัญญาของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในอดีตมาใช้ในรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เพื่อสื่อถึงคุณค่าของการอยู่อาศัย ร่วมกันเป็นชุมชน เป็นครอบครัวขยายอย่างสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติดังเช่นในอดีต ที่ถูกรื้อฟื้นให้กลับมาในยุคสมัยปัจจุบันอีกครั้ง

แนวคิดและการตอบสนองต่อเป้าหมาย

  • นำรูปแบบของ หมู่เรือน รูปแบบการอยู่ร่วมกันในอดีตของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในอดีต มาใช้ในการสร้าง CO-HOUSING ซึ่งประกอบด้วย 2 เรือนที่มีขนาดและลักษณะเหมือนกันเพื่อสื่อ ถึงการให้ความสำคัญที่เท่าเทียมกันระหว่างเรือนของน้องชาย และเรือนของพี่สาว
  • เชื่อมต่อพื้นที่ชั้นล่างระหว่าง 2 เรือนด้วยพื้นที่ใจบ้าน คือ ห้องครัวและห้องรับประทานอาหารที่เชื่อมต่อทางสายตากับสระว่ายน้ำส่วนกลาง เพื่อให้ความสำคัญกับการพบปะพูดคุยระหว่าง ทานข้าวร่วมกันที่สื่อถึงความหมายของการเป็น “ครอบครัวเดียวกัน”
  • ออกแบบพื้นที่ห้องนั่งเล่นของทั้งสองเรือนให้มองเห็นกันและกันได้ผ่านมุมมองที่ดีที่สุดของบ้าน โดยห้องนั่งเล่นของน้องชายได้เห็นสวนในมุมที่กว้างที่สุดของบ้าน และของพี่สาวได้เห็นสวน ในมุมที่ลึกที่สุดของบ้าน
  • ออกแบบให้ทั้ง 2 เรือน มีพื้นที่การใช้งานในส่วนบริการร่วมกัน คือ ห้องพักแม่บ้าน ห้องเก็บของ ที่จอดรถ ฯลฯ
  • สร้างความรู้สึกในการเข้าถึง (SENSE OF ARRIVAL) ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เริ่มจากการเข้าถึงบ้าน ออกแบบรั้วภายนอกบ้านโดยใช้วัสดุดินอัด เพื่อทำให้นึกถึงธรรมชาติได้อย่าง ชัดเจน และออกแบบทางเดินเข้าสู่ตัวบ้านให้รู้สึกตัดออกจากโลกภายนอกที่วุ่นวายเพื่อเข้าสู่โลกแห่งการพักผ่อนอันสงบเย็น
  • เปิดโอกาสในการซึมซับพลังธรรมชาติอย่างเต็มที่ ทั้งจากการออกแบบทุกห้องให้เชื่อมต่อกับพื้นที่สวนทั้งทางสายตาและการเข้าถึง รวมถึงการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางเดินหิน ระเบียงพื้น ไม้ พื้นหินกรวด และตัวบ้านที่ทำจากไม้ คอนกรีตเปลือย กระจก เหล็ก และหลังคาดินเผา ให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสถึงพลังความเรียบง่าย อ่อนโยน ผ่อนคลายที่ปรากฏอยู่ในสัจจะของวัสดุ
  • ถอดรหัสสัดส่วนและอารมณ์ความรู้สึกแบบ INTIMATE SCALE ของบ้านพื้นถิ่นเชียงตุงมาใช้ เช่น ขนาดความสูงในแต่ละชั้นของบ้าน ทำให้บ้านดูใกล้ชิด อบอุ่น ไม่โอ่โถงเวิ้งว้าง และสอด คล้องกับสัดส่วนความสูงของสมาชิกในบ้าน
  • ถอดรหัสองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับวิถีชีวิตปัจจุบัน เช่น ชายคาคุ้มบ้าน ที่ทำให้บ้านดูอบอุ่นและคุ้มแดดคุ้มฝนได้ดี การทำระเบียงยื่นยาวรอบบ้านใน ชั้น 2 เพื่อกันแดดฝนให้ชั้น 1 และทำให้ชั้น2 มีระเบียงหินกรวดที่เชื่อมต่อกับห้องทำให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น และออกแบบให้บ้านชั้นหนึ่ง นั่งนอนสบายเสมือนอยู่ใต้ถุนให้มุมมองของ บ้านที่ชั้นล่างเปิดโล่ง เห็นวิวสวนได้มาก รวมถึงการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานแบบ PASSIVE APPROACH ที่เน้นการระบายอากาศตามธรรมชาติแต่เพิ่มความยืด หยุ่นด้วยบานเลื่อนกระจกที่สามารถปิดเพื่อใช้ระบบปรับอากาศในเวลาที่จำเป็นได้